เฮียอ๊อด ชัยชนะ คนเก่งบึงกาฬ ต่อสู้ชีวิตจนขึ้นแท่น เจ้าของโรงงานแปรรูปยางพารา

คุณธนวณิช ชัยชนะ หรือ คุณอ๊อด วัย 52 ปี ต่อสู้และฝ่าฟันมรสุมชีวิตมาเสมือนแมวเก้าชีวิต กว่าจะขึ้นมาสู่เส้นทางเถ้าแก่ หรือเจ้าของธุรกิจยางพาราติดอันดับ 1 ใน 5 ของจังหวัดบึงกาฬ แต่กว่าคุณอ๊อดจะมาอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมยางพาราเมืองไทยนั้น คุณอ๊อดเริ่มชีวิตจากการ “รับจ้าง” กรีดยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งแน่นอนว่า ในการกรีดยางนั้นเป็นอาชีพที่ทำในช่วงที่คนอื่นกำลังนอนอย่างมีความสุข แต่ผู้รับจ้างกรีดยางจะต้องใช้เวลา 21.00 น. ถึงตี 4 ของวันรุ่งขึ้น กรีดยางแต่ละต้น เรียกว่า ถ้าไม่สู้จริง ไม่อาจยืนด้วยลำแข้งกับอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา โดยคุณอ๊อดอยู่ในวิถีรับจ้างกรีดยางพารา 2 ปีครึ่ง

“ผมกรีดยางตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึงตี 4 ทำอยู่ 2 ปีครึ่ง ด้วยความสุข ซึ่งปีนั้นคือ ปี 2554 ราคายางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 170 บาท ทำให้มีรายได้เดือนละ 200,000-300,000 บาท” คุณอ๊อดเล่าให้ฟังถึงเส้นทางชีวิตก่อนเป็นเถ้าแก่เจ้าของโรงงานผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพารากว่า 20 รายการ

คุณธนวณิช ชัยชนะ หรือคุณอ๊อด กับฟาร์มเมล่อน (เสื้อแจ๊กเก็ตดำ ขวามือ)

เส้นทางการต่อสู้ของคุณอ๊อดยังมีเรื่องสนุกและท้าทายอีก เมื่อคุณอ๊อดไปโลดแล่นและเผชิญชีวิตอยู่ในต่างแดน อย่างประเทศนิวซีแลนด์ โดยใช้วุฒิเพียงมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ม.6 พร้อมกับได้แรงบันดาลใจจากการได้อ่านประวัติชีวิตการต่อสู้ของ เสี่ยบุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล ผู้สร้างตำนานคาเฟ่ในเมืองไทย และ เสี่ยชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งสร้างตัวเองด้วยความยากลำบาก

ทำให้คุณอ๊อดพยายามหาโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ และเลือกประเทศนิวซีแลนด์เพราะในช่วงเวลาที่คุณอ๊อดเดินทางไปนิวซีแลนด์นั้น ไม่ต้องใช้วีซ่า และหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาชีพแรกที่คุณอ๊อดต้องต่อสู้ในต่างแดนคือ “รับจ้างเก็บผลไม้” ต่อมาจึงเปิดกิจการรับเหมาเก็บผลไม้ และส่งแรงงานจากประเทศต่างๆ รับจ้างเก็บผลไม้ให้กับเจ้าของฟาร์มผลไม้ในประเทศนิวซีแลนด์

ภาพครอบครัว สมัยที่อยู่นิวซีแลนด์

“สมัยก่อนผมทำมาหลายอาชีพ เคยอยู่ต่างประเทศ รับจ้างเก็บผลไม้ ต่อมาทำรับเหมาเก็บผลไม้ อย่างรับเหมาเก็บแอปเปิ้ล อยู่ที่นิวซีแลนด์ เพราะเมื่อ 20 ปีแล้ว นิวซีแลนด์ให้วีซ่าฟรี เข้าออกง่าย และอุณหภูมิอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ผมทำมา 3 ปี สู้ชีวิต จบวุฒิการศึกษาแค่ ม.6 เดินทางไปกับนายหน้า เห็นเขารวย อย่างคุณบุญเลี้ยง เจ้าพ่อคาเฟ่ และคุณชูวิทย์ ก็มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นอย่างนั้น และได้อ่านชีวิตของท่านว่าเคยใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ จึงต้องการไปเก็บประสบการณ์ที่ต่างประเทศบ้าง โดยช่วงที่ไปต่างประเทศตอนนั้น มีหนี้สินกว่า 20,000 บาท ก็เยอะสำหรับสมัยนั้น พอมาถึงตอนนี้มีธุรกิจ มูลค่าธุรกิจก็เพิ่มตามมูลค่าหนี้ เป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจครับ” คุณอ๊อดเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีในการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตที่ต้องต่อสู้มาตลอด

ประสบการณ์อันมีค่าที่คุณอ๊อดได้จากการไปใช้ชีวิตในประเทศนิวซีแลนด์ นอกจากจะได้สร้างครอบครัวที่นั่น จนมีลูกสาวซึ่งได้สัญชาติเป็นนิวซีแลนด์แล้ว ในเรื่องการทำเกษตรกรรมของนิวซีแลนด์ นับเป็นโมเดลที่คุณอ๊อดนำมาใช้กับการสร้างฐานโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา และการทำบริษัท “ชัยชนะฟาร์ม” จำกัด ที่จังหวัดบึงกาฬ

“ผมได้อะไรหลายอย่างจากนิวซีแลนด์ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ดีมากสำหรับผมในการไปใช้ชีวิตที่นิวซีแลนด์ เพราะการทำเกษตรของเขาเข้าใจว่าทุกอย่างมีการแปรรูป แอปเปิ้ล กีวี่ แปรรูปหมด ซึ่งข้อดีของเกษตรกรรมที่นิวซีแลนด์ คือทำยังไงให้มันสดและมีคุณภาพ ขณะที่เกษตรกรไทยยังสุกเอาเผากิน แต่ที่นิวซีแลนด์อย่างสวนแอปเปิ้ลมีแอปเปิ้ลเป็นหมื่นลูก เจ้าของสวนยอมเด็ดตกแต่ง เหลือแอปเปิ้ล 200-300 ลูก เพื่อให้ได้แอปเปิ้ลที่มีคุณภาพแต่ละลูก และยอมทิ้งผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ โดยไม่มีการคัดเกรดต่ำออกขาย ซึ่งการทำเกษตรที่นิวซีแลนด์ จะให้อะไรที่เป็นหลักวิชาการ หรือจากผลวิจัยก็ต้องเป๊ะ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคุณภาพดิน เช่น ถ้าฝนตกในวันที่ต้องครบรอบใส่ปุ๋ย ก็ต้องใส่ปุ๋ย จะมีหิมะหรือมีฝนก็ต้องใส่ปุ๋ย แต่เมืองไทย ถ้าครบรอบใส่ปุ๋ย แล้วเกิดฝนตก ก็ไม่ใส่ เพราะกลัวเปลือง ผมเคยคุยกับชาวนิวซีแลนด์ที่เป็นนายเรา เขาบอกว่า ที่นิวซีแลนด์จะจัดเป็นโซน และจัดโซนปล่อยให้แกะกินหญ้า ขณะที่บ้านเราทำเกษตรจากความเชื่อโบราณ ที่ใช้วิธีสืบทอดกันมา” คุณอ๊อดเล่าประสบการณ์ด้านเกษตรกรรมที่ได้จากการไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์

ผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราของคุณอ๊อด

ปัจจุบันคุณอ๊อดก้าวขึ้นเป็นเจ้าของสวนยางพาราเต็มตัว โดยมีทั้งหมด 78 ไร่ และมีโรงงานผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพารา โดยนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีแก้ว รับเบอร์เทค จำกัด รวมทั้งยังเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง และประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งวันนี้กลุ่มชาวบ้านในจังหวัดบึงกาฬและเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในภาคอีสาน ยังไม่มีวิธีแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น และต้องนำน้ำยางสดเข้าไปผ่านกระบวนการในโรงงานเพื่อผลิตเป็นน้ำยางข้น

“ตอนนี้ปัญหาคือชาวบ้านยังไม่มีวิธีการแปรรูปจากน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น ต้องส่งเข้าโรงงาน และรับจากโรงงานเท่านั้น จริงๆ ผมทำตั้งแต่ต้นน้ำคือ ปลูก แต่นำน้ำยางสดไปเข้าโรงงาน ก็ต้องจัดการ ก็พยายามสร้างโรงงานแต่ไม่สำเร็จ เรารวมกลุ่มกันลำบาก ถ้าเทียบกับภาคใต้ น้ำยางข้นทางใต้มีคุณสมบัติพิเศษ และมีโรงงานทำน้ำยางข้นมานานกว่าทางอีสาน ทำได้ทั้งแบบไฮแอมโมเนีย และโลว์แอมโมเนีย ซึ่งตอนนี้ผมใช้วิธีขายน้ำยางสดกลับไปทางระยอง รวมทั้งขี้ยาง และรับน้ำยางข้นมาแปรรูปในโรงงานที่บึงกาฬ โดยผลิตภัณฑ์ของผมเริ่มจากหมอน ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2558 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ที่นอน และรองเท้านักเรียน โดยโรงงานของผมมีนโยบายให้ขยะที่มาจากยางเป็นศูนย์ หรือ ซีโร่ เวสต์ (Zero Waste) เศษเล็กๆ ไม่ทิ้ง กากย่อยที่เหลือจากแปรรูป นำไปใส่ในหมอนพิง หรืออาสนะ คุณอ๊อดเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองถึงความคืบหน้าในแวดวงอุตสาหกรรมยางพาราทางภาคอีสาน

ยางพาราจากสวนคุณอ๊อด

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดการเริ่มต้นการเป็นผู้ผลิตยางตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และไปจนถึงปลายน้ำ ขอคำแนะนำจากคุณอ๊อดได้ รวมทั้งให้กำลังใจแก่เกษตรกรว่า ชีวิตนั้นไม่ได้มาง่ายๆ ต้องทำจนกว่าจะเจอในสิ่งที่ใช่ เมื่อเจอสิ่งที่ใช่ ทุกอย่างก็เดินไปตามเส้นทางที่ง่ายขึ้น สำหรับผู้สนใจพูดคุยกับคุณอ๊อด หรือเยี่ยมชมสวนยางพารา และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราของคุณอ๊อดที่จังหวัดบึงกาฬ ติดต่อเบอร์โทร. (080) 793-9799 และ (063) 718-9888

อีกบางแง่มุมจากคนเก่งบึงกาฬ

คุณธนวณิช ชัยชนะ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า คุณภาพยางที่เหมาะกับกับทำยางรถยนต์ หรือยางรองเท้า คือยางเครป (Crepe Rubber) ซึ่งผลิตออกมาเป็นแผ่นๆ ใช้ทำรองเท้า หรือยางรถยนต์ ซึ่งมีเครื่องหมาย STR คือ Standard Thailand Rubber รับรอง โดยเอสทีอาร์ 20 คือ ยางที่มีคุณภาพดีที่สุด ส่วนคุณภาพต่ำสุด คือ 5แอล (5L)

น้ำยางสดจากวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง

“ล่าสุดโรงงานผมได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 4 (ร.ง.4) โดยก่อนหน้านี้ใช้นวัตกรรมชาร์โคลใส่ลงไปในหมอนเพื่อเพิ่มมูลค่า ให้เป็นหมอนเพื่อสุขภาพ เมื่อได้ใบอนุญาตฯ ดังกล่าว จะขยายกิจการผลิตที่นอนชาร์โคล ที่มีส่วนผสมร่วมกับไม้ฮิโนกิ ซึ่งมีกลิ่นหอมเหมือนไม้กฤษณา ก็จะได้ที่นอนเพื่อสุขภาพออกมาจำหน่ายในท้องตลาด”

ปัจจุบันคุณอ๊อดมีลูกน้องกว่า 40 คน มีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน 300,000-400,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีฟาร์มผักออร์แกนิกให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี โดยใช้สูตรจากประเทศนิวซีแลนด์ ให้คนที่มาเที่ยวเก็บผักออร์แกนิกชนิดใดก็ได้ในฟาร์ม ให้ได้ 1 กิโลกรัม คิดราคาเพียง 80 บาท

ผลิตภัณฑ์เมล่อน ฝีมือคุณอ๊อด

“ไปที่นิวซีแลนด์ ผมได้เรื่องความซื่อสัตย์ และใช้วิธีนำผักผลไม้ หรือลูกพลับมาวางหน้าฟาร์ม วางกล่องไว้ให้บริจาค แต่จะมีช่วงเวลาปิดฟาร์มเมล่อน เพราะเป็นช่วงผสมเกสร และไม่ใช้สารเคมี จึงต้องให้อยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ส่วนที่นิวซีแลนด์ จะไม่ปิดฟาร์ม แต่จะจัดโซนปลอดสารเคมี ส่วนเหตุผลที่ปิดฟาร์มบางช่วง เพราะไม่ฉีดยาฆ่าแมลง และเป็นช่วงผสมเกสร ซึ่งต้องปิดโรงเรือนทั้งหมด เพื่อกันแมลงและกันเพลี้ย และใช้น้ำฉีดอย่างเดียว โดยโมเดลนี้ต้องทำเพื่อชุมชน มีวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชนมาร่วมทำด้วย ซึ่งผมทำโมเดลนี้มา 5-6 ปี” คุณอ๊อดเล่าให้ฟังถึงวิธีการทำเกษตรกรรมซึ่งใช้วิธีการจากประเทศนิวซีแลนด์มาผสมผสานให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมีบางอย่างนำมาประยุกต์ใช้ และเป็นวิธีการที่แตกต่างจากนิวซีแลนด์ อย่างการปิดโรงเรือนฟาร์มเมล่อน