ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยก่อน “กระจับเขาควาย” เป็นวัชพืชเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้ไม่น้อย ใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 4 เดือนก็ได้ผลผลิตจำหน่าย สามารถเก็บขายได้ 2-3 รอบเลยทีเดียว
กระจับเป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู มีอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นกอลอยน้ำ ชอบน้ำนิ่ง มีรากหยั่งยึดดินและมีไหล ใบเดี่ยวมี 2 แบบ ใบที่ลอยน้ำมีก้านยาว อวบน้ำและพองเป็นกระเปาะตรงกลาง ทำให้ลอยน้ำได้ดี แผ่นใบมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือรูปพัด ใบจะเรียงรอบลำต้นเวียนเป็นเกลียวถี่ๆ ทำให้ดูเหมือนใบแผ่เป็นวงรอบต้น ใบอีกแบบหนึ่งอยู่ในน้ำ เป็นเส้นฝอยๆ คล้ายราก
ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีขาว ออกที่โคนก้านใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ บานอยู่เหนือน้ำ เมื่อติดผลแล้วก้านดอกจะงอกลับลงน้ำและผลจะเจริญอยู่ใต้น้ำ ผลอ่อนสีม่วงอมแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ส่วนที่เป็นเขาโค้ง 2 ข้าง เจริญมาจากกลีบเลี้ยง ผลหรือฝักกระจับมีสีดำขนาดใหญ่ เปลือกหนาแข็งงอโค้งคล้ายเขาควาย เมื่อกะเทาะเปลือกนอกที่แข็งออก จะได้เนื้อในสีขาว มีแป้งมาก
สำหรับประโยชน์ของกระจับมีมากมาย ซึ่งส่วนมากและการใช้ประโยชน์จากกระจับจะนิยมนำฝักกระจับ มากิน เนื้อของฝักกระจับสามารถนำเอามาทำอาหารหวานและอาหารคาวได้มากมาย ส่วนต้นกระจับหลายคนนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เหมือนบัว ต้นกระจับนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ นำมาทำยาแก้ปวดท้อง นอกจากนั้น ต้นกระจับที่เหลือจากการนำมาใช้ประโยชน์นั้นนิยมนำมาทำปุ๋ยหมัก เหมาะแก่การปลูกพืช
นิยมนำมาต้มกิน
คุณสุนัน พละเจริญ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรกรผู้ปลูกกระจับ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า กระจับเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ที่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ปัจจุบัน มีปลูกมากในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะที่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี
กระจับปลูกไม่ยาก แต่ต้องเอาใจใส่ ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมหรือแล้ง เนื่องจากอยู่ในน้ำอยู่แล้ว มีน้ำแค่เพียง 60 เซนติเมตรก็อยู่ได้แล้ว ที่สำคัญยังปลูกขายฝักหรือขายต้นทำเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย
“กระจับให้ผลผลิตดี แต่ไม่แนะนำให้ปลูกกระจับอย่างเดียวตลอดไป เพราะพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอด ไม่นานจะเกิดสาหร่าย ซึ่งเป็นปัญหาในการปลูกกระจับ จริงๆ ควรปลูกในพื้นที่นาสลับ หรือควบคู่กับการทำนา โดยการทำนากระจับมักจะเริ่มดำในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และเก็บผลผลิตในเดือนตุลาคมของทุกปี” คุณสุนันเล่าให้ฟัง และได้เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดต่างๆ อีกดังนี้
ขั้นตอนการปลูก
วิธีการ เหมือนกับการดำนา เอายอดพันธุ์มาดำ โดยนำยอด 1-2 ยอด ฝังลงไปในพื้นดิน ระยะห่างระหว่างต้นและแถว (1.1×1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ = 1,000 กอ)
และหลังจากปลูก 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตร 24-8-8
ต้นกล้าเริ่มตั้งตัวและทอดยอด
จากนั้นให้เริ่มเติมน้ำเข้าแปลงเป็นระยะๆ (น้ำคลอง ค่า pH 6.5-7.0) จนระดับความสูงขั้นต่ำ 60 เซนติเมตร
พอต้นแข็งแรงเริ่มแตกกอและตั้งยอด บำรุงด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 24-8-8 อีกครั้ง
ร่วมกับปุ๋ยน้ำหรือสารสกัดสมุนไพร ฉีดพ่นทางใบ ทุกๆ 15-20 วัน
การลงทุน
สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เงินลงทุน 4,000-6,000 บาท (ค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าแรง)
เมื่ออายุต้นครบ 4 เดือน จะเริ่มเก็บผลผลิตชุดแรก โดยต้นกระจับ 1 กอ จะให้ผลผลิต 2-3 ฝัก
เฉลี่ย 1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่
ส่วนการขาย ขายให้กับแม่ค้าในพื้นที่ที่ไปต้มขาย หากจะเข้าโรงงานต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งโรงงานที่ว่าอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ใช้เปลือกสกัดเป็นยา นอกจากนี้ มีบางส่วนส่งร้านขนมหวาน
พื้นที่ปลูกในปัจจุบัน
ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกที่ตำบลศรีประจันต์ มีปลูกประมาณ 100-200 ไร่ ก็ขยับสลับไปเรื่อย ในอดีตทำกันบ้านละ 1-2 ไร่ พอใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ แต่ปัจจุบัน ปลูกในเชิงการค้ากันมากขึ้น
“นี่เราไปดีลกับสำนักงานอุตสาหกรรมภาค 8 ในการผลิตแป้งกระจับ หรือจะนำไปทำเป็นแป้งอะไรได้บ้าง ซึ่งหากมีการแปรรูปได้ ก็จะสามารถมีช่องทางการขายได้มากขึ้น”
การปลูกกระจับสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
การปลูกด้วยเมล็ด
จะใช้เมล็ดแก่เท่านั้น เป็นเมล็ดที่ได้จากต้นที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยการเพาะจะเริ่มจากการนำดินผสมกับแกลบดำ อัตราส่วน 1 : 1 บรรจุใส่กระถาง แล้วฝังลงในกระถางตรงกลางให้ลึกพอดินกลบพอดี หลังจากนั้นเทน้ำใส่กระถางให้ท่วมและปล่อยทิ้งไว้ หลังจากนั้น 1 เดือน ก็สามารถย้ายปลูกในแปลง ขณะเพาะเมล็ดต้องคอยให้น้ำท่วมหน้าดินในกระถางตลอด
การปลูกด้วยเถา
จะใช้เถาอ่อน ด้วยการนำเถามัดรวมกัน 2-3 เถา แล้วกดเถาส่วนต้นที่มัดรวมกันลงหน้าดินใต้น้ำให้ลึกประมาณที่เถาไม่ลอย ระยะห่างระหว่าง 2.5-3 เมตร
กระจับเป็นพืชที่เติบโตได้เฉพาะในแหล่งน้ำขัง ซึ่งมีระดับความลึกแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ บางแห่งอาจพบกระจับเติบโตได้ในแหล่งน้ำที่ลึกได้มากกว่า 3 เมตร โดยพื้นที่ปลูกกระจับมักจะเลือกแหล่งที่มีระดับน้ำไม่ลึก ประมาณ 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าเก็บฝัก และควรเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้เกิดร่มเงา
การเก็บฝัก
กระจับจะเริ่มออกดอกหลังการปลูกประมาณ 3-4 เดือน และจะเริ่มติดเป็นฝักประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ฝักจะเริ่มแก่เต็มที่ในเดือนที่ 5 ช่วงที่เริ่มเก็บฝักกระจับจะอยู่ในช่วงที่ใบกระจับเริ่มเหลือง โดยจะทยอยเก็บเป็นระยะ ทุกๆ 8-10 วันต่อครั้ง โดยกระจับ 1 กอ จะเก็บฝักได้ประมาณ 5-6 ครั้ง
รายได้
ผลผลิตต่อฤดู หากมีการผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะเสี่ยงโดนฝน แต่จะได้ราคาดี กิโลกรัมละ 18-20 บาท ถ้าปลูกช้าไปกว่านั้น ราคาจะตกมาที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม
เช่น ใน 1 ไร่ ได้ 1,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 18 บาท ก็จะได้ 18,000 บาทต่อไร่
ตอนนี้มีเรื่องการขายยอดสวยงามเข้ามาอีก 1 ยอด 1-1.20 บาท สามารถทำยอดขายได้อีก ฉะนั้น 1 ไร่ ผลผลิตเกือบๆ 20,000 บาทต่อรอบการผลิต
การเก็บผลผลิต
กระจับอ่อน มีสีน้ำตาลอ่อน กระจับแก่ มีสีน้ำตาลเข้ม คนเก็บมือใหม่ใช้วิธีกดเขา ถ้าเขาแก่ แข็ง ไม่หัก หากนำไปต้มกิน ต้องใช้กระจับแก่ แข็งๆ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก โดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562