‘ยอด อิ่มพลับ’ ครูบัญชี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ต้นแบบการส่งเสริมบัญชีครัวเรือนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน นับเป็นหนึ่งในกระบวนการบริหารจัดการอาชีพทุกอาชีพให้ประสบความสำเร็จ เพราะการทำบัญชีจะทำให้รู้ถึงต้นทุนการผลิต กำไร ทำให้สามารถวางแผนการผลิตได้ตามงบประมาณที่ควรจะเป็น โดยมองเห็นความคุ้มค่าที่จะได้อย่างแท้จริง ‘ยอด อิ่มพลับ’ ครูบัญชี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี นับเป็นต้นแบบครูบัญชีอีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรมได้ด้วยจากการทำบัญชี

นายยอด อิ่มพลับ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีมีอาชีพหลักทำไร่อ้อย และเห็นว่าการทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาไม่รู้ต้นทุนกำไรที่แท้จริง ลงทุนไปเท่าไรไม่เคยทำบัญชีพอได้เงินมาก็ใช้จ่ายในครอบครัวและลงทุนต่อไป และเมื่อวันหนึ่งมาถึงทางตัน รายได้ไม่พอรายจ่ายจึงได้คิดหาว่าจะมีวิธีไหนที่จะช่วยให้ตนและครอบครัวดำเนินอาชีพเกษตรกรรมต่อไปได้ ประกอบกับขณะนั้นกรมตรวจบัญชี ได้เข้ามาให้ความรู้เกษตรกรให้มองเห็นถึงความสำคัญของการทำบัญชี ตนจึงได้มีโอกาสเข้ามาเป็นครูบัญชี โดยเริ่มจากนำบัญชีไปใช้ในการปลูกอ้อย มีการทำบัญชีต้นทุน กำไร และลดต้นทุนบางอย่างลงเพื่อให้มีรายได้ที่พออยู่ได้ การเริ่มต้นตรงนั้นส่งผลให้วันนี้ตนเป็นหนึ่งในครูบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมกับทำหน้าที่ส่งเสริมด้านบัญชีฟาร์ม โดยการจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นเพื่อไว้ใช้กันในกลุ่ม เป็นการลดต้นทุนการผลิต ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านวังสิงห์

นอกจากกลุ่มผลิตปุ๋ยแล้ว กลุ่มดังกล่าวยังทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างรายได้จากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ได้แก่ การทำพริกแกง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม ประมาณ 30 ครัวเรือน ซึ่งทั้ง 30 ครัวเรือน ทำบัญชีครัวเรือนทุกบ้าน อีกทั้งในพื้นที่ของตนยังมีโรงเรือนเพาะเห็ดแบบตะกร้า การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเลี้ยงกบ เลี้ยงหมู และเลี้ยงไก่ เพื่อสร้างรายได้นอกเหลือจากการปลูกอ้อย พร้อมกันนั้นก็ให้ชาวบ้านมาเรียนรู้เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นแนวทางการประกอบอาชีพสร้างรายได้อีกด้วย

นายยอด กล่าวย้ำว่า “จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่หันมาใส่ใจการประกอบอาชีพด้วยการทำบัญชีครัวเรือน บัญชีฟาร์ม ส่งผลให้ตนเองประสบความสำเร็จในอาชีพ และพร้อมจะเสียสละเวลาเพื่อถ่ายทอดความรู้ไปพร้อมกับการส่งเสริมแนะนำเพื่อนเกษตรกรให้เห็นถึงความสำคัญในการทำบัญชีให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อตัวเกษตรกรเองจะได้รู้ต้นทุน กำไร ที่แท้จริง และสามารถยืนอยู่ในอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง”