“ ชมพู่เพชรสายรุ้ง “ ของดีเมืองเพชร

“ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ผลไม้เด่น ของดีเมืองเพชรบุรี ปลูกและเติบโตได้ดีบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ผลชมพู่มีสีสวย รสชาติอร่อย หวานจัดจ้าน ถูกอกถูกใจของคนชอบกินผลไม้ยิ่งนัก ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า “เพชรสายรุ้ง” เป็นชมพู่ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก เพราะมีราคาขายหน้าสวนสูงถึง ก.ก. ละ 300 บาท กว่าจะไปถึงมือผู้บริโภค ราคาก็ขยับสูง 400-500 บาท กันทีเดียว แม้จะมีราคาแพงสักหน่อย แต่ผู้บริโภคจำนวนมากก็นิยมซื้อชมพู่เพชรสายรุ้ง เพื่อเป็นของขวัญของฝากผู้ใหญ่ที่นับถือ และเป็นสินค้าส่งออกที่มีลู่ทางเติบโตสดใส

จุดเริ่มต้นความอร่อย

เรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับความเป็นมาของชมพู่เพชรสายรุ้งโดยทั่วไป มี 2 ตำนานแรก เรื่องแรก เล่ากันว่า พระครูญาณวิมล (หลวงพ่อพ่วง) เจ้าอาวาส องค์ที่ 2 ของวัดศาลาเขื่อนเป็นคนแรกที่นำชมพู่เพชรสายรุ้ง มาปลูกหน้าวัดศาลาเขื่อน ต.ตำหรุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ในปี 2378 โดยได้รับพระราชทานต้นชมพู่ จำนวน 1 ต้น จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชมพู่ที่ปลูกให้ผลผลิตที่มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ทำให้ผู้คนที่ได้ชิมรู้สึกติดใจ และมาขอตอนกิ่งต้นชมพู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาชมพู่ต้นนี้ได้ตายลง เมื่อปี 2530 รวมอายุได้ 152 ปี

 

เรื่องที่สอง เล่าว่า นายหรั่ง แซ่โค้ว เป็นคนแรกที่นำกิ่งตอนต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง จำนวน 3 กิ่ง มาปลูกในพื้นที่ตำบลหนองโสน เมื่อปี 2438 ต้นชมพู่ปลูกในบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ต้นชมพู่ได้รับดินดีน้ำดี มีอินทรียวัตถุอุดมสมบูรณ์ จึงเติบโตให้ผลผลิตที่ดี สีสวย และมีรสชาติอร่อย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตอนกิ่งชมพู่เพชรออกจำหน่ายในราคาสูง 200-250 บาท ก็มีผู้สนใจหาซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกเป็นจำนวนมาก จนปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีจนถึงทุกวันนี้

คุณยุทธนา เมืองเล็ก ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลหนองโสน และสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี (โทร. 085-191-5588) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 162 หมู่ที่ 1 ถนนเพชรบุรี-บ้านแหลม ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบัน คุณยุทธนาได้รับการยกย่องให้เป็นสัมมนาชีพต้นแบบการปลูก “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ของจังหวัดเพชรบุรี

คุณยุทธนา เมืองเล็ก

คุณยุทธนาเชื่อว่า ต้นพันธุ์ดั้งเดิมมาจากแม่กลอง เพราะในสมัยก่อนมีการล่องเรือค้าขายจากลำน้ำเพชรบุรีกับแม่น้ำแม่กลอง  ชาวบ้านในสมัยนั้นก็นำกิ่งชมพู่แม่กลองมาปลูกที่เพชรบุรี สภาพดินแม่กลองส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว เมื่อนำมาปลูกที่เพชรบุรี ที่มีสภาพดิน ฟ้าอากาศแตกต่างกัน ประกอบกับเพชรบุรีมีสภาพดินร่วนปนทราย ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ เป็น “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” มาจนถึงทุกวันนี้

คุณยุทธนา เล่าว่า พื้นที่ตำบลหนองโสน ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง ปัจจุบัน แหล่งปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีที่สุดคือ ตำบลหนองโสน ตำบลบ้านกุ่ม ทุกวันนี้ ชมพู่เพชรสายรุ้งปลูกกระจายทั่วจังหวัดเพชรบุรี เช่น อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ถือเป็นสุดยอดผลไม้อร่อยแล้ว ยังได้รับการจดสิทธิบัตรขึ้นทะเบียนเป็นผลไม้ที่ถือกำเนิดจากจังหวัดเพชรบุรี สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองเพชร และเกษตรกรที่ทำสวนชมพู่เพชรสายรุ้งเป็นอย่างยิ่ง

คุณยุทธนากับอาชีพชาวสวน

คุณยุทธนา เกิดในครอบครัวที่ทำสวนชมพู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม วัยเด็กจึงเรียนรู้ประสบการณ์ที่ต้องช่วยครอบครัวทำการเกษตรร่วมกับพี่น้อง ตามวิธีการที่ได้รับถ่ายทอดและมีการพัฒนากันมาตั้งแต่ครั้งในอดีตซึ่งบางส่วนได้ตกทอดเป็นองค์ความรู้ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วงหลังมีการชมพู่สายพันธุ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชมพู่เพชรสายรุ้งมาปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และสวมชื่อเป็นชมพู่เพชรสายรุ้ง และขายในราคาเดียวกัน แต่คุณลักษณะที่ต่ำกว่าทั้งรูปลักษณ์ รสชาติ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต่างกัน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งประสบปัญหาขาดทุน ในช่วงปี 2549-2550  ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งจำนวนมากตัดสินใจโค่นต้นชมพู่ทิ้ง เพราะขายผลผลิตไม่ได้ราคา

คุณยุทธนา จึงเริ่มต้นทำวิจัย ในหัวข้อ “การทดลองสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการผลิตชมพู่เพชร โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรธรรมชาติคิวเซ ร่วมกับกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (อีเอ็ม)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จนได้ผลวิจัยที่น่าพอใจ และสามารถนำมาใช้ได้จริงในสวนของเกษตรกร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชุมชน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยุทธศาสตร์จังหวัด 3 ปี ติดต่อกันจนได้รับเกียรติจากสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เชิญไปออกรายการถึง 2 ครั้ง

จากผลงานวิจัยดังกล่าว ได้นำเทคนิคเกษตรธรรมชาติคิวเซมาปรับใช้ในสวนชมพู่และนำเทคนิคสกัดพืชหมัก ฮอร์โมนผลไม้และสารขับไล่แมลงประยุกต์ใช้ในชุมชน จึงนำไปสู่การทำเกษตรปลอดสาร เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ทำให้ชมพู่เพชรสายรุ้งถูกผลักดันจนได้รับ ใบรับรองแหล่งผลิตพืช (จีเอพี) สัญลักษณ์การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร จากกรมวิชาการเกษตร และได้รับความเชื่อมั่นจากเกษตรกรนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อบจ. เพชรบุรี)

ชมพู่เพชรสายรุ้ง ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลหนองโสน ได้รับใบรับรองคุณภาพแหล่งผลิตพืช (จีเอพี) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลไม้รับรองผู้นำอาเซียน ในการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดประชุมที่อำเภอชะอำ และได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกลุ่มผู้ค้า 3 รายได้แก่ 1. บริษัทเซนิท ฟรุ๊ต (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัทเดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และ 3. บริษัทเซ็นทรัลฟู๊ดซ์เทล จำกัด จำหน่ายในประเทศและส่งออก เช่น ห้างแฟร์ไฟร์ ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

การปลูกดูแล    

ต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง ปลูกดูแลง่าย เริ่มจากเตรียมหลุมขนาด 50 ลูกบาศ์กเซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้แห้งรองก้นหลุม ปลูกในลักษณะตะแคง 45 องศา เพื่อให้ได้ทรงพุ่มที่สวยงาม ระยะห่างไม่น้อยกว่า 10 เมตร พรางแสงให้เหมาะสม ให้น้ำวันเว้นวัน หรือทุกวันในสภาพพื้นที่โล่งแจ้ง ต้นชมพู่เพชรสายรุ้งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 3 รุ่น โดยเริ่มออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน เมื่อออกดอกได้ประมาณ 60-70 วัน ดอกจะบานและทิ้งเกสร ทรงจะคล้ายจานและเริ่มหุ้มเป็นผล ต้องรีบห่อผลในช่วงนั้น โดยใช้ถุงสีน้ำตาล (ถุงปูน) ขนาด 8X12 นิ้ว ห่อถุงละ 2-4 ผล โดยใช้ตอกบิดพันให้แน่น ควรทิ้งช่วงห่างประมาณ 1 ฟุต เมื่อห่อเสร็จใช้ปุ๋ยสูตร 9-25-24 ใส่ต้นละประมาณ 2 ก.ก. หลังจากห่อผล 25-30 วัน ชมพู่จะเริ่มแก่และเก็บผลผลิตออกขายได้

โดยทั่วไป ต้นชมพู่เพชรชมพู่จะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุได้ 2 ปี เกษตรกรนิยมทำร้านเล็กๆ  เพื่อพยุงต้นไม่ให้ล้มเมื่อลมพัดแรง อายุ 3-5 ปี จึงทำนั่งร้านมาตรฐาน จนเต็มทรงพุ่ม เพื่อช่วยให้ห่อผลและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสะดวก

ต้นทุนและผลตอบแทน

ทุกวันนี้ ต้นทุนการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง ส่วนใหญ่เป็นค่าทำนั่งร้าน ปัจจุบันใช้ไม้ไผ่นวลยาว 8 เมตร ในการทำนั่งร้าน 1 ต้น ใช้ไม้ไผ่ประมาณ 100 ลำ (ต้นขนาดใหญ่) ค่าไม้ไผ่ ลำละ 35 บาท ค่าแรงตัดไม้เหมาลำละ 15 บาท รวมเป็นเงิน ลำละ 50 บาท เฉพาะค่าทำนั่งร้านต่อ 1 ต้น ตกประมาณ 5,000 บาท มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี

ต้นทุนค่าห่อ การเก็บผลผลิตชมพู่ต่อ 1 ต้น จะห่อได้ประมาณ 3 รุ่น รวมค่าห่อทั้ง 3 รุ่น ประมาณ 1,000 ถุง ค่าถุงปูนสำหรับห่อ ร้อยละ 60 บาท ตอกสำหรับมัดถุงชมพู่ ก.ก.ละ 70 บาท ค่าแรงห่อ 2 วัน ค่าแรงเก็บ 1 วัน รวม 3 วัน เป็นเงิน 350 บาท ต่อคน ค่าปุ๋ย ค่ายา อีกประมาณ 500 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 1 ต้น ต่อปี ประมาณ 3,750 บาท

ด้านผลตอบแทน ชมพู่ 1 ต้น ห่อได้ประมาณ 700 ถุง จะได้ชมพู่ประมาณ 140 ก.ก. (รวมทั้ง 3 รุ่น)  ราคาเฉลี่ย ก.ก.ละ  80 บาท คิดเป็นเงิน 140 X 80 ตกประมาณ 11,200 บาท  หากผลผลิตไม่เสียหาย จะได้กำไรเฉลี่ยต้นละ 7,450 บาท ต่อปี          

คำแนะนำมือใหม่หัดปลูก

ต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง ปลูกดูแลง่าย ใช้เวลาดูแลแค่ 3 ปี ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ เนื่องจากชมพู่เพชรสายรุ้งมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ สนใจนำต้นชมพู่เพชรสายรุ้งไปปลูกในท้องถิ่นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการปลูกสักเท่าไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะต้นชมพู่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ประการต่อมา เกษตรกรนำต้นพันธุ์ชมพู่เพชรสายรุ้งไปปลูกก็จริง แต่ไม่ได้นำองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาในการปลูกดูแลเช่นเดียวกับที่เกษตรกรชาวเพชรบุรีปลูกดูแลต้นชมพู่เพชรสายรุ้งไปด้วย จึงทำให้เกษตรกรมือใหม่ส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวในที่สุด

มีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ ชมพู่เพชรสายรุ้ง สายพันธุ์แท้จากแหล่งต้นกำเนิดในจังหวัดเพชรบุรีเสียก่อน เลือกซื้อกิ่งพันธุ์ที่เป็น กิ่งปานกลาง ไม่อ่อน ไม่แก่ จนเกินไป ควรปลูกต้นชมพู่ในแหล่งดินร่วนปนทราย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในระยะห่าง 6×6 เมตร กลบดินที่โคนต้นให้แน่น นำไม้หลักมาปักยึดป้องกันต้นชมพู่โค่นหักเอน รดน้ำให้ชุ่ม  ส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้ง ต้นชมพู่จะให้ผลผลิตรุ่นแรกเมื่ออายุ 18-24 เดือน จะได้ผลผลิตประมาณ 50 ถุง เมื่อต้นชมพู่อายุ 4-5 ปี ขึ้นไปจะให้ผลผลิตสูงขึ้น เมื่อต้นชมพูมีอ่ายุมากขึ้น ก็ยิ่งให้ผลผลิตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว