ผู้เขียน | อำพน ศิริคำ |
---|---|
เผยแพร่ |
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม 2555 รัฐบาลได้จัดทำโครงการ “ประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินี” เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ เพื่อที่จะรักษาป่าไม้ให้เป็นแหล่งอุ้มน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ดินถล่ม ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น กำหนดดำเนินการ 3 ด้าน คือ 1. ด้านส่งเสริมการปลูกป่า 2. ด้านการป้องกัน 3. ด้านการปราบปรามการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ ดำเนินการ ปี 2555-2559
โดยมีเป้าหมายปลูกป่า จำนวน 800 ล้านกล้า ดังนี้ ปี 2555 จำนวน 20 ล้านกล้า, ปี 2556 จำนวน 180 ล้านกล้า, ปี 2557 จำนวน 200 ล้านกล้า, ปี 2558 จำนวน 200 ล้านกล้า, ปี 2559 จำนวน 200 ล้านกล้า
ปี 2556 ว่าที่ ร.ต. จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอหาพื้นที่ที่ว่างบริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอปลูกป่าตามโครงการดังกล่าว
คุณอำพน ศิริคำ เกษตรอำเภอกันทรวิชัย กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย จึงได้สนองนโยบายดังกล่าว โดยได้ปลูกป่าพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ภายในสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยขอรับกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้มหาสารคาม และศูนย์เพาะชำกล้าไม้จังหวัดกาฬสินธุ์ รวม 320 ต้น (ยางนา มะค่า ตะแบก) ปลูกวันที่ 30 สิงหาคม 2556 โดย ว่าที่ ร.ต. จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม คุณแสงประทีป บุญน้อม นายอำเภอกันทรวิชัย และเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ร่วมปลูก
เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ต้นไม้ที่ปลูกเริ่มมีอาการเหี่ยวเฉา ใบร่วงหล่น กว่าจะถึงฤดูฝนใช้เวลานานหลายเดือน เชื่อว่าต้นไม้ดังกล่าวจะตายอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงหารือกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกคนและร่วมกันจัดทำระบบน้ำโดยต่อท่อประปาไปยังแปลงปลูกป่า พร้อมทำถังพักน้ำจำนวน 4 ถัง จากนั้นมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอทุกคนตั้งแต่เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล เจ้าพนักงานธุรการ พนักงานธุรการ คนงาน รวม 13 คน ดูแลให้น้ำ ให้ปุ๋ยเป็นระยะๆ คนละ 20-30 ต้น ทำให้ต้นไม้ดังกล่าวรอดตายทุกต้น ขณะเดียวกัน ก็ให้คนงานตัดหญ้าภายในสวนป่าเป็นระยะๆ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
คุณอำพน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายไปมาก หากทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกกันอย่างจริงจัง โดยไม่จำเป็นต้องปลูกเป็นแปลงใหญ่เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ แต่สามารถปลูกเป็นแปลงย่อย อาจอยู่ในเมือง ริมถนนหนทาง วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ และที่สำคัญสามารถดูแลรักษาทั้งให้น้ำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ที่เรียกว่า “ป่ากลางเมือง” ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศชาติได้มาก