“มะม่วงมันเดือนเก้า” ไม้ผลทำเงิน ขายดีติดตลาด รองจาก “แก้วขมิ้น”

จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ทางการเกษตรรวมทั้งจังหวัด 343,601 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 36 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าว ไม้ผล และพืชผัก โดยอำเภอที่มีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุดคือ อำเภอหนองเสือ ลาดหลุมแก้ว ลำลูกกา ตามลำดับ ปัจจุบันแม้กระแสความเจริญของสังคมเมืองโดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรที่รุกเข้าสู่พื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง แต่ “อำเภอลาดหลุมแก้ว” เป็นหนึ่งในทำเลทองทางการเกษตรของจังหวัดปทุมธานี ยังมีพื้นที่การเกษตรมากถึง 121,500 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวกว่าแสนไร่ รองลงมาเป็นสวนมะม่วง 793 ไร่ พืชผัก 453 ไร่ และสวนมะพร้าว 334 ไร่          

คุณมาโนช ระรวยรส นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี โทร. 081-633-6189 กล่าวว่า ปัจจุบัน อำเภอลาดหลุมแก้ว ยังคงรักษาความเป็นเกษตรธรรมชาติได้อย่างดี ที่นี่ทำการเกษตรหลากหลายชนิด ทั้งนาข้าว ไม้ผล ไร่นาสวนผสม มีสวนกล้วยไม้แปลงใหญ่ เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะอยู่ใกล้ กทม. เส้นทางคมนาคมสะดวกสบาย ปัจจุบัน กรมพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนให้มีโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอท็อป (OTOP) นวัตวิถี ตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” หลายแห่งในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว

คุณมาโนช ระรวยรส ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี

อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้เปรียบในเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพราะมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน โครงการเจ้าพระยาใหญ่ และอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน (โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาพระยาบันลือ) จึงมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เพราะอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำชลประทาน

บรรยากาศภายในสวนมะม่วงของคุณลุงฉลอง

ปลูก “มะม่วงทะวาย” สร้างอาชีพ

คุณมาโนช ระรวยรส นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี พาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปเยี่ยมชมสวนมะม่วงของ คุณลุงฉลอง สกุลนี เลขที่ 12/1 หมู่ที่ 5 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบด้านสวนมะม่วงของอำเภอลาดหลุมแก้ว

เดิมที คุณลุงฉลอง ทำนาปลูกข้าวกว่า 100 ไร่ เป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว ช่วงปี 2537 คุณลุงฉลอง เริ่มหารายได้เสริมโดยเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อมะม่วงพื้นบ้าน เช่น มะม่วงทองดำ ไปขายที่ตลาดบางบัวทอง ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท

คุณลุงฉลอง สกุลนี กับมะม่วงโชคอนันต์

คุณลุงฉลอง เข้าไปรับซื้อมะม่วงปีจากสวนเกษตรกรในช่วงเดือนเมษายน ส่งขายตลาดในท้องถิ่น ตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท เพราะช่วงนั้นยังไม่มีการราดสาร เพื่อผลิตมะม่วงนอกฤดูเหมือนในสมัยนี้ อาชีพพ่อค้าขายมะม่วง สร้างรายได้ที่ดี คุณลุงฉลองจึงตัดสินใจแบ่งที่ดินมาทำสวนมะม่วง ประมาณ 4-5 ไร่ ต่อมาคุณลุงเจอเกษตรกรรายหนึ่งในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง ปรับพื้นที่นามาปลูกมะม่วงนอกฤดู สร้างรายได้งาม ปี 2547 คุณลุงฉลองตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้นเป็น 10 ไร่ โดยปลูกมะม่วงโชคอนันต์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์มะม่วงทะวาย ที่ปลูกดูแลง่าย ให้ผลผลิตทั้งปี โดยเน้นปลูกในลักษณะมะม่วงนอกฤดู เก็บผลผลิตส่งขายตลาดไทเป็นหลัก

“ผมเป็นเกษตรกรรายแรกในท้องถิ่นที่ปลูกมะม่วงโชคอนันต์ ตอนแรกใครๆ ก็หาว่าผมบ้า เพราะเกษตรกรแถวนั้นทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ผมตัดสินใจไม่ผิด เพราะสามารถขายมะม่วงโชคอนันต์นอกฤดู ป้อนตลาดในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ได้ในราคาสูง 17-20 บาท ได้วันละ 2 ตัน ช่วงนั้นมะม่วงโชคอนันต์ขายดีมาก จนผลิตไม่พอขาย  พื้นที่ปลูก 10 ไร่ สร้างรายได้สูงปีละกว่าล้านบาท” คุณลุงฉลอง กล่าว

สวนมะม่วงคุณลุงฉลองอยู่ติดกับแปลงนาข้าว

เมื่อถามถึงเทคนิคการดูแลจัดการสวนมะม่วง คุณลุงฉลอง บอกว่า ทำได้ไม่ยาก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มะม่วงโชคอนันต์ เป็นสายพันธุ์มะม่วงทะวายที่ดูแลง่าย ให้ผลดกอยู่แล้ว ให้ผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดูได้ง่าย ช่วงฤดูมะม่วงปี เก็บมะม่วงดิบออกขายโรงงานมะม่วงดอง ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท เฉลี่ยวันละ 300-400 กิโลกรัม หลังหมดฤดูมะม่วงปี ในช่วงเดือนเมษายน คุณลุงฉลองจะรีบตัดแต่งกิ่งต้นมะม่วง ให้ปุ๋ย บำรุงต้นให้พร้อมสำหรับให้ผลผลิตรุ่นต่อไป

ผลผลิตมะม่วงในรุ่นต่อไป

หลังตัดแต่งกิ่งแล้ว ต้นมะม่วงจะแตกใบอ่อนทันที ต้องให้ปุ๋ย ให้น้ำ บำรุงต้น รอไม่นานต้นมะม่วงก็จะแตกใบอ่อน เรียกว่า ใบเพสลาด หลังจากนั้นคุณลุงฉลองจะราดสารแพคโคลบิวทราโซล ต้นมะม่วงจะดูดสารขึ้นลำต้น หลังจากนั้นช่วงเดือนกรกฎาคมต้นมะม่วงจะเริ่มติดผลดก โดยจะให้ผลผลิตประมาณต้นละ 50 กิโลกรัมทีเดียว คุณลุงฉลองจะเริ่มเก็บผลดิบออกขายตลาดไท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ปลายเดือนตุลาคม ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท หากช่วงไหน ผลผลิตขาดตลาด คุณลุงฉลองก็สามารถเรียกราคาขายมะม่วงให้สูงขึ้นได้อีก เพราะจังหวะนั้นขอให้มีสินค้าเข้าตลาด ราคาสูงแค่ไหน พ่อค้าก็รับซื้อหมด เพราะลูกค้าต้องการใช้มะม่วงโชคอนันต์ไปทำเมนูมะม่วงยำ

มะม่วงโชคอนันต์

คุณลุงฉลอง กล่าวว่า ช่วงปี 2545-2552 ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของมะม่วงโชคอนันต์เลยทีเดียว เพราะปลูกง่าย ขายคล่อง ทำกำไรได้อีกมาก เคยขายมะม่วงได้ปีละ 50 ตัน โกยรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 500,000 บาท บางปีรายได้ทะลุล้านกว่าบาทก็เคยทำได้มาแล้ว ต่อมาปี 2554 เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางนานนับเดือน ทำให้ต้นมะม่วงเนื้อที่ 10 ไร่ ล้มตายลงทั้งหมด ต้องลงทุนทำสวนมะม่วงใหม่ในปีต่อมา โดยหันมาปลูกต้นมะม่วงโชคอนันต์สลับกับมะม่วงมันเดือนเก้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์มะม่วงทะวาย รวมทั้งสิ้น 1,000 ต้น ในระยะห่างประมาณ 2 วา ซึ่งมะม่วงทั้งสองชนิดปลูกดูแลง่าย ติดผลดก เป็นสายพันธุ์มะม่วงดิบที่ขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปี

 

มะม่วงดิบที่รอการเก็บขายส่งตลาด

“แก้วขมิ้น” ชิงตลาดมะม่วงไทย

โดยทั่วไป ฤดูเก็บเกี่ยวมะม่วงพันธุ์ไทยส่วนใหญ่อยู่ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนมะม่วงล่าฤดู (มิถุนายน-กรกฎาคม) ตามธรรมชาติ ได้แก่ มะม่วงมหาชนก นวลคำ อาร์ทูอีทู เขียวมรกต ส่วนมะม่วงล่าฤดู โดยการจัดการ ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง ส่วนมะม่วงนอกฤดู (ทะวาย) มีทั้งก่อนฤดู (มกราคม-มีนาคม) และหลังฤดู (สิงหาคม-ธันวาคม) มะม่วงนอกฤดูที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ โชคอนันต์ แก้วทะวาย สามฤดู ศาลายา มันเดือนเก้า ฯลฯ ส่วนมะม่วงทะวายที่เกิดจากการใช้สารเคมีบังคับคือ น้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด หนองแซง เขียวเสวย

เดิมทีโรงงานผลิตผลไม้ดองนิยมใช้มะม่วงแก้วมาแปรรูปเป็นมะม่วงดอง ส่วนพันธุ์มหาชนก แก้ว โชคอนันต์ เขียวมรกต นิยมแปรรูปเป็นน้ำมะม่วง และมะม่วงอบแห้ง ปี 2558 หลังจากรัฐบาลไทยเปิดตลาดเสรีตามนโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะม่วงไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีมะม่วงแก้วละเมียดของกัมพูชา หรือที่หลายคนเรียกว่า “มะม่วงแก้วขมิ้น หรือ แก้วเขมร” เข้ามาตีตลาดมะม่วงในประเทศไทย

“แก้วขมิ้น” มะม่วงขายดีสุดในยุคนี้

มะม่วงแก้วขมิ้น มีลักษณะคล้ายมะม่วงแก้วของไทย แต่ลูกใหญ่กว่า เนื้อในมีสีเหลืองขมิ้นเหมือนมะม่วงขายตึก มีลักษณะเด่นคือ รับประทานได้อร่อยทั้งผลดิบและสุก เนื้อแน่นละเอียด มีสีเหลืองคล้ายขมิ้น เนื้อกรอบมัน รสหวานปนเปรี้ยว ผลดิบนิยมรับประทานกับน้ำปลาหวาน หรือปรุงเป็นเมนูยำมะม่วง ส้มตำมะม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ มะม่วงแก้วขมิ้นผลแก่สามารถบ่มให้สุกจะได้รสชาติหวานอร่อย ทำให้มะม่วงพันธุ์นี้เป็นที่ยอมรับของคนไทยอย่างกว้างขวาง

กรณีมะม่วงจากประเทศเพื่อนบ้านเปิดศึกรุกตลาดเมืองไทยในครั้งนี้ ได้ฉุดราคามะม่วงไทยลดลงพอสมควร มะม่วงไทยสายพันธุ์ทะวายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ และมันเดือนเก้า เกษตรกรหลายรายพยายามปรับตัวตั้งรับปัญหา โดยหันไปปลูกมะม่วงพันธุ์อื่นที่ขายได้ราคาดีกว่า เช่น พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงเขียวเสวย รวมทั้งปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น ฯลฯ

มะม่วงมันเดือนเก้า

 มะม่วงมันเดือนเก้า ยังขายดี

คุณลุงฉลอง กล่าวว่า หลังจากมะม่วงแก้วขมิ้นที่นำเข้าจากเขมรเข้ามาขายในไทย ฉุดราคามะม่วงไทยให้ลดลง โดยมะม่วงโชคอนันต์ในขณะนี้เหลือแค่ กิโลกรัมละ 2-5 บาทเท่านั้น ส่วนมะม่วงมันเดือนเก้ายังขายได้ราคาดี อยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท เพราะตลาดนิยมใช้มะม่วงมันเดือนเก้าทำเมนูมะม่วงยำ เนื่องจากสวนแห่งนี้ปลูกมะม่วงสายพันธุ์ทะวาย ไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตมะม่วงนอกฤดูสูงมากนัก สามารถราดสารปีเว้นปีได้ ต้นมะม่วงทั้งสองชนิด ยังให้ผลดกตามปกติ

คุณลุงฉลอง สกุลนี กับต้นมะม่วงแก้วขมิ้น พืชเศรษฐกิจตัวใหม่

นอกจากนี้ คุณลุงฉลอง สกุลนี ก็หันมาลงทุนปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นปลูกแซมในสวนมะม่วงเดิม เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคต โดยสวนแห่งนี้จะเริ่มมีผลมะม่วงแก้วขมิ้น ส่งขายตลาดในปี 2565 ขณะนี้ ต้นมะม่วงแก้วขมิ้นที่ปลูกเจริญเติบโตดี ปลูกดูแลง่าย เชื่อว่าเป็นสินค้าที่จะช่วยสร้างรายได้ที่ดีเข้าสวนแห่งนี้ในระยะยาว เพราะมะม่วงแก้วขมิ้นเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและสามารถส่งขายประเทศในภูมิภาคเอเชียในอนาคต   

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562