กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ชวนเกษตรกร รวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นา

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกชวนเกษตรกรรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าของเหลือใช้จากภาคการเกษตรให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งในทุกมิติ

นายสําราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้      ทางการเกษตรเป็นจำนวนมากถึง 43 ล้านตัน ต่อปี และมีการนำมาใช้ประโยชน์เป็นส่วนน้อย และได้      ถูกปล่อยทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกหรือถูกเผาทิ้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษหมอกควันในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 แห่ง ร่วมกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และเครือข่าย ซึ่งมีผู้นำเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ มาดำเนินการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร กว่า 26,460 ราย โดยมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นา เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุล ระบบนิเวศในชุมชนอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการดังกล่าวจะดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน 2562 – พฤษภาคม 2563 เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในไร่นาและชุมชน ลดการเผาวัสดุเหลือใช้ และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตและพลังงานชีวมวล เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดินเสื่อมโทรม ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน มลภาวะทางอากาศ ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมการอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรและการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อจำหน่ายเป็นพลังงานชีวมวลให้แก่ผู้รับซื้อผ่านการเชื่อมโยงตลาด โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ เป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินงาน เพื่อสร้างทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดมูลค่า ซึ่งเกษตรกรจะมี 8 ทางเลือก ในการดำเนินกิจกรรม ได้แก่

ทางเลือกที่ 1 คือ การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน ได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น

ทางเลือกที่ 2 คือ นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่นๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทางเลือกที่ 3 คือ นำเศษวัสดุการเกษตร มาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค

ทางเลือกที่ 4 คือ นำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน โดยนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรืออัดก้อน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือน

ทางเลือกที่ 5 คือ นำมาเพาะเห็ด นำมาผลิตกระดาษ หรือของประดับ

ทางเลือกที่ 6 คือ นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า ที่แห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำ อุ้มปุ๋ย”

ทางเลือกที่ 7 คือ นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูกทดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดการเผา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น ในปี 2561 ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึง 35,664 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 142 ล้านบาท (ราคาปุ๋ยอินทรีย์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4 บาท)

ทางเลือกที่ 8 จำหน่ายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมัน ซังข้าวโพด เศษไม้ขยะ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล (Biomass)

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร มั่นใจว่าเกษตรกรที่ได้รับการอบรมในโครงการจะมองเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ รวมไปถึงการลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดหมอกควัน อันเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและบุคคลอื่น

โดยมุ่งหวังว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการดีๆ อีกหนึ่งโครงการที่มีส่วนช่วยผลักดันให้คนไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป