ปศุสัตว์ เร่งเครื่องขับเคลื่อนการดำเนินงาน Food Feed Farm คุมเข้มมาตรฐาน ด้านอาหารคน อาหารสัตว์ และมาตรฐานฟาร์ม

กรมปศุสัตว์ เร่งขับเคลื่อนมาตรฐานอาหารคน อาหารสัตว์ และมาตรฐานฟาร์ม Food Feed Farm เน้นคุมเข้มตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ย้ำมาตรฐานการผลิตสินค้าสู่ผู้บริโภคต้องดูแลตั้งแต่ต้นทางจึงจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ด้วยภารกิจหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่มีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม การกำกับ การส่งเสริม การวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์ของประเทศ เพื่อให้มีปริมาณสัตว์ที่เพียงพอมีมาตรฐานถูกสุขอนามัยปราศจากโรค สารตกค้าง และสารปนเปื้อน จึงจำเป็นต้องดูแลบริหารจัดการเรื่องมาตรฐานตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทั้งนี้ก็เพื่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจสำคัญด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ที่เป็นอีกหนึ่งภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยที่ผ่านมานั้นได้มีการแปลงนโยบาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติโดยดำเนินงานตามกรอบของนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของกรมฯ ทั้งด้านอาหารคน อาหารสัตว์ และมาตรฐานฟาร์มที่เป็นไปตามสากล (Food Feed Farm)

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวที่ผ่านมา ได้เกิดผลสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรม ดังเช่น มาตรฐานการผลิตสินค้าสัตว์ปีกไทย ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ของไทย เกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินการของเครือบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีธุรกิจการผลิตสัตว์ปีกอย่างครบวงจร นับตั้งแต่โรงผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าและชำแหละเนื้อสัตว์ และโรงงานแปรรูป การผลิตเนื้อสัตว์ปีก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อการส่งออกต้องผ่านการตรวจสอบและการรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) จากกรมปศุสัตว์ มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์ เป็นผู้ควบคุมและจัดการ โดยอาหารสัตว์ที่ใช้ในฟาร์มก็ต้องมีกระบวนการผลิตอาหารสัตว์, มาตรฐาน GMP, HACCP ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองและในกระบวนการผลิตโรงฆ่าและชำแหละเนื้อสัตว์ปีก โรงงานผู้ผลิตจะต้องผ่านการตรวจประเมินและได้รับรองมาตรฐานการผลิตจากกรมปศุสัตว์ (GMP, HACCP) สัตว์ปีกมีชีวิตต้องผ่านการตรวจสอบสุขภาพในการตรวจสัตว์ก่อนเข้าฆ่า (Ante-mortem inspection) การตรวจสัตว์หลังเข้าฆ่า (Post-mortem inspection) การตรวจสอบสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) การสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจสอบสารตกค้าง ยาปฏิชีวนะ และการปนเปื้อนจุลชีพในเนื้อสัตว์ปีกตามโปรแกรมโดยสม่ำเสมอจากนายสัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของกรมปศุสัตว์ เช่นเดียวกันกับกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกจะต้องได้รับรองมาตรฐานการผลิต GMP, HACCP จากกรมปศุสัตว์ มีการสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจสอบการปนเปื้อนจุลชีพในเนื้อสัตว์ปีกแปรรูปตามโปรแกรมโดยสม่ำเสมอ โดยทุกกิจกรรมเหล่านี้อยู่ภายในการกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์

ในส่วนของการพัฒนาด้านอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์มุ่งเน้นในการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ ตลอดจนการกำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบและรับรองคุณภาพอาหารสัตว์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอาชีพการผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ และการผลิตอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรในประเทศไทย โดยปัจจุบันกรมปศุสัตว์จะมีเจ้าหน้าที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งประเทศเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ตั้งแต่การส่งเสริมและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจประกอบอาชีพการปลูกพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี รวมถึงการให้คำแนะนำในการนำวัตถุดิบอาหารสัตว์หรือวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด) มาผลิตเป็นอาหารสัตว์คุณภาพดีเพื่อจำหน่าย และสามารถยึดเป็นอาชีพหลักหรือเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารสัตว์ของเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสม่ำเสมอและเพียงพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการจัดตั้งศูนย์บริการอาหารสัตว์ (Feed center) และพัฒนาระบบการผลิตอาหารผสมครบส่วน (TMR) ภายในสหกรณ์โคนมต่างๆ ทั่วประเทศ โดยคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนม พัฒนาคุณภาพน้ำนมมีมาตรฐาน และลดต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ก่อนที่จะมีการดำเนินการเปิดเขตการค้าเสรีด้านผลิตภัณธ์จากโคนม (FTA) ในปี พ.ศ. 2568

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกตามรายประเภทชนิดสัตว์ ปี 2559  มีเนื้อสัตว์ปีก ส่งออกในปริมาณ 755 ตัน มูลค่า 98,142 ล้านบาท เนื้อสุกร ส่งออกในปริมาณ 13 ตัน มูลค่า 2,905 ล้านบาท เนื้อโค ส่งออกในปริมาณ  1.47 ตัน มูลค่า 161 ล้านบาท และเนื้อสัตว์ผสม ส่งออกในปริมาณ 5.52 ตัน มูลค่า 882 ล้านบาท มูลค่ารวมปี 2559 102,093 ล้านบาท ตัวเลขส่งออก ปี 2560  เนื้อสัตว์ปีก ส่งออกในปริมาณ 811 ตัน มูลค่า 104,543 ล้านบาท เนื้อสุกร ส่งออกในปริมาณ 12 ตัน มูลค่า 2,532 ล้านบาท เนื้อโค ส่งออกในปริมาณ  2.87 ตัน มูลค่า 315 ล้านบาท และเนื้อสัตว์ผสม ส่งออกในปริมาณ 4.41 ตัน มูลค่า 681 ล้านบาท มูลค่ารวมปี 2560 108,074 ล้านบาท ตัวเลขส่งออก ปี 2561 เนื้อสัตว์ปีก ส่งออกในปริมาณ 901 ตัน มูลค่า 100,723 ล้านบาท เนื้อสุกร ส่งออกในปริมาณ 12 ตัน มูลค่า 2,454 ล้านบาท เนื้อโค ส่งออกในปริมาณ  2.46 ตัน มูลค่า 266 ล้านบาท และเนื้อสัตว์ผสม ส่งออกในปริมาณ 3.60 ตัน มูลค่า 555 ล้านบาท มูลค่ารวมปี 2561 114,009 ล้านบาท ตัวเลขส่งออก ปี 2562 เนื้อสัตว์ปีก ส่งออกในปริมาณ 230 ตัน มูลค่า 27,232 ล้านบาท เนื้อสุกร ส่งออกในปริมาณ 2.81 ตัน มูลค่า 565 ล้านบาท เนื้อโค ส่งออกในปริมาณ  0.45 ตัน มูลค่า 51 ล้านบาท และเนื้อสัตว์ผสม ส่งออกในปริมาณ 0.89 ตัน มูลค่า 134 ล้านบาท มูลค่ารวมปี 2562 ณ ไตรมาสที่สอง 27,984 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการคุมเข้มผู้ประกอบการที่ส่งออกแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งขนาดกลางและรายย่อย กรมปศุสัตว์ก็ตระหนักและเร่งผลักดันส่งเสริมให้พัฒนาระบบการผลิตให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีการดำเนินการจัดฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเพื่อเสริมสร้างขีดความรู้ความสามารถแก่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มและพนักงานตรวจโรคสัตว์ผู้ดูและและตรวจสอบกระบวนการผลิต เพื่อการผลิตอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง