ฉลองราชย์เฉลิมรัฐบรมกษัตริย์ขัตติยา

ผู้ที่ดำรงสถานะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์จะต้องถึงพร้อมด้วยความเหมาะสมทั้งการเป็นเชื้อพระวงศ์ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล อีกทั้งยังจะต้องผ่านการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันถือเป็นพระราชพิธีที่ประกาศสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ให้ประจักษ์แก่เหล่าอาณาประชาราษฎร เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ไม่เพียงเหล่าพสกนิกรได้ทราบถึงธรรมเนียมการพระราชพิธีอันทรงคุณค่าที่ว่างเว้นไปกว่า ๗๐ ปี แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ชื่นชมพระบารมีของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑๐ พระมหากษัตริย์แห่งปวงชนชาวไทย

เมื่อแรกประสูติ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะโรง จัตวาศก อาธิกวาร จุลศักราช ๑๓๑๔ ตรงกับปีที่ ๗ แห่งรัชสมัยการขึ้นครองราชสมบัติ ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙
เมื่อแรกพระประสูติการเหล่าพสกนิกรได้ชื่นชมยินดีดังข้อความตอนหนึ่งที่ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บันทึกไว้ ดังนี้

“บริเวณเขาดินวนา ผู้คนหนาแน่นดูราวกะวันอาทิตย์เขามาทำไมกัน มาดูเพื่อให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะใกล้ได้ ในวังวิ่งวุ่นกันอีกพักหนึ่ง ตอนนี้คงใกล้ประสูติแน่ วิทยุกระจายเสียงป่าวข่าวอันน่าตื่นเต้นต่อไป และพอใกล้เวลาประสูติเข้าจริงๆ คนที่รออยู่ก็เตรียมตัวเกือบไม่ทัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงประชวรถี่ขึ้นๆ เป็นระยะๆ ทุกๆ ๕ นาทีที่ทุกดวงใจปรารถนา ในพระที่นั่งพวกข้าหลวงมหาดเล็กวิ่งกันอยู่สับสน ดูพอประทับยังพระที่ นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติก็เข้าประจำที่ สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา ๑๗ นาฬิกา กับ ๔๕ นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่
อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติซึ่งพร้อมที่จะกล่าวแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า ‘พระราชโอรส’ หรือ ‘พระราชธิดา’ กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ‘ผู้ชาย’ แทนที่จะว่า ‘พระราชโอรส’ ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงกันอย่างสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว เราอยากได้พระราชโอรส เราอยากได้สยามมกุฎราชกุมารเราก็ได้ดังใจนึก พระราชาในระบอบประชาธิปไตย พระราชาของประชาชน”

ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑ เดือน กับ ๑๘ วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ อันเป็นพระราชพิธีที่จะกระทำเมื่อพระราชโอรสหรือพระราชธิดามีพระประสูติการครบเดือน โดยในพระราชพิธีพราหมณ์จะยกพระราชโอรสหรือพระราชธิดาขึ้นพระอู่ และว่าคาถาสรรเสริญไกรลาส แล้วเห่กล่อมด้วยคาถาพราหมณ์ พร้อมทั้งมีเครื่องมโหรีประกอบด้วย ซอและบัณเฑาะว์ รวมถึงมีคนขับร้อง เรียก ขับไม้ เครื่องประกอบพระราชพิธีอันเป็นธรรมเนียมนี้ใช้เฉพาะแต่เจ้านายชั้นเจ้าฟ้า

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ประกอบการพระราชพิธีเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ภายในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีทั้งพิธีพราหมณ์ และพิธีสงฆ์ ในพระราชพิธีนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้ทรงมีพระลิขิตไปถวายพระพรไชยมงคลในนามแห่งคณะสงฆ์ไทยอีกด้วย การพระราชพิธีครั้งนี้นับเป็นการรื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ได้กระทำมาเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยปรับปรุงรูปแบบบางประการให้เหมาะแก่กาลสมัย
เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑ เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายดวงพระชะตา ปรากฏพระนามว่า
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ์ เทเวศธำรงสุบริบาล
อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
ทรงมีเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระอิสริยยศขณะนั้น) และพระขนิษฐา ๒ พระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ทรงรับการศึกษา
ขณะพระชนมายุ ๔ พรรษา ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ โรงเรียนจิตรลดา ขณะนั้นตั้งอยู่บริเวณพระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ก่อนย้ายที่ตั้งไปยังบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดาปัจจุบัน ทรงศึกษาถึงชั้นมัธยมปีที่ ๑ จึงเสด็จฯ ศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ณ โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ และเดือนกันยายนปีเดียวกันได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท
ตั้งแต่วัยพระเยาว์ ทรงมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย ไม่ทรงนิยมฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับต่างๆ ทรงมีลักษณะพิเศษด้วยสนพระราชหฤทัยกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอ ระหว่างประทับอยู่ในประเทศไทยได้เสด็จฯ เยี่ยมหน่วยทหารต่างๆ เอาพระราชหฤทัยใส่ความเป็นอยู่ของทหารและตำรวจที่ปฏิบัติราชการป้องกันประเทศอยู่เนืองนิตย์ และโดยเหตุที่สนพระราชหฤทัยในกิจการทหารอย่างมาก ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริว่า การศึกษาในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรกว้างขวาง และมีการอบรมเข้มงวด ดังนั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จฯ จากอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย

เบื้องแรกทรงเข้าศึกษาโรงเรียนเตรียมทหารคิงส์สกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างดีเด่นโดยเฉพาะการฝึกหัดและได้ทรงผ่านการทดสอบซึ่งใช้เวลาถึง ๕ สัปดาห์ ก่อนศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารขั้นสูงขึ้น และในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา ๒๕๑๕ ได้เสด็จเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ทรงผ่านการทดสอบอย่างหนักทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นเวลา ๕ สัปดาห์ ที่วิทยาลัยการทหารแห่งนี้ทรงศึกษาตามหลักสูตรซึ่งมีทั้งภาควิชาการทหารและภาคสามัญ ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และสนพระราชหฤทัยวิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่างมาก ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาอักษรศาสตร์ พร้อมทั้งทรงสำเร็จหลักสูตรการทหารจากวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้วเสด็จนิวัตประเทศไทย หลังจากนั้นทรงรับราชการทหารและทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ทรงศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ทรงรับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร ประเทศอังกฤษ

ทรงรับการสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์ ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย จึงกำหนดให้มีพระราชพิธีสถาปนา เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในช่วงวันที่ ๒๑ และ ๒๗-๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยการพระราชพิธีประกอบด้วย การจารึกพระนามาภิไธยในสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกรหรือตราประจำพระองค์ จากนั้นในวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงเป็นพระราชพิธีเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา บวงสรวงพระสยามเทวาธิราชและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิอดีตบูรพมหากษัตริย์ ส่วนการสถาปนาตำแหน่งเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เริ่มการพระราชพิธีในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีการอ่านประกาศการสถาปนาพร้อมทั้งพระราชทานพระสุพรรณบัฏ ตราพระราชลัญจกร และเครื่องอิสริยยศ ซึ่งพระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากว่างเว้นการสถาปนารัชทายาทในตำแหน่งนี้ถึง ๓ รัชกาล

ทรงผนวช
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถระ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ถวายพระสมณนามว่า วชิรลงกรโณ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนครบกำหนด ๑๕ วันจึงลาผนวช

พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการนับตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โดยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ทรงรับพระราชภาระพิเศษแทนองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นในฐานะทรงเป็นพระราชอาคันตุกะแห่งพระราชวงศ์ญี่ปุ่นทำให้สร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น

ครั้นเมื่อทรงรับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระกรณียกิจหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการทหารที่สนพระราชหฤทัยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อสำเร็จการศึกษาทรงรับราชการทหารโดยเสด็จฯ เยี่ยมให้กำลังใจบรรดาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบกับผู้ก่อความไม่สงบจากภัยคอมมิวนิสต์บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์กรณีบ้านหมากแข้ง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ เสด็จฯ เยี่ยมฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ขณะนั้นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้โจมตีฐานแห่งนี้ ทำให้พระองค์ทรงเฮลิคอปเตอร์เข้าร่วมรบ พร้อมทั้งทรงบัญชาการรบในแนวหน้า ซึ่งสร้างขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารอย่างมาก

พระปรีชาสามารถด้านอากาศยานของพระองค์เป็นที่ประจักษ์จากการที่พระองค์ทรงเริ่มฝึกการบินกับเครื่องบินแบบต่างๆ ทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ เบื้องต้นทรงศึกษาการบินที่โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยทรงเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H และเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1N เมื่อทรงสำเร็จการฝึกแล้ว พระองค์ทรงขึ้นรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในปีเดียวกันนั้น พระองค์ยังทรงสำเร็จหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบกรวม ๒ เดือน ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พระองค์ทรงติดตามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา และทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พระองค์ทรงฝึกศึกษาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ F5 E/F และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่อง F5 D/F จนสำเร็จตามหลักสูตร โดยพระองค์ทรงมีชั่วโมงบินทุกประเภทรวมทั้งสิ้นกว่า ๑,๐๐๐ ชั่วโมง

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงศึกษาการฝึกบินแบบใหม่เพิ่มเติมสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ โดยทรงเข้ารับการฝึกบินกับเครื่องบินใบพัดแบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย ณ โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และทรงฝึกบินกับเครื่องบินไอพ่นแบบ T37 และ T33 และจบหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบินขับไล่แบบ F5 E/F ของกองบิน ๑ ฝูงบิน ๑๐๒ รวมชั่วโมงบินกว่า ๒๐๐ ชั่วโมง

พระองค์ทรงฝึกบินเพิ่มเติมในประเทศไทยจนกระทั่งทรงพร้อมรบและครบ ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ อีกทั้งยังทรงเข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี โดยทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศ จึงทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ ๑ ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว

 

สำหรับเครื่องบินพาณิชย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการบินเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ในฐานะนักบินโบอิ้ง 737-400 จากการบินไทย และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก และในปีถัดมา พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน และทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งนักบินที่ ๑ จากการบินไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบินกว่า ๓,๐๐๐ ชั่วโมง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการดูแลช่วยเหลือราษฎรโดยมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาด้านเกษตรกรรมเกษตรกรวิชญา บ้านกองแหะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีรา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งราษฎรน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สำหรับพระราชภารกิจด้านการสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ และเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทุกแห่ง ซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพที่ดีแก่เหล่าราษฎรในพื้นที่ห่างไกล
พระราชภารกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ห่างไกลในชนบท และยังทรงอนุเคราะห์โรงเรียนมัธยมที่กระทรวงศึกษาธิการน้อมเกล้าฯ ถวายจำนวน ๖ โรงเรียน ให้เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่ ๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ นครพนม อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ กำแพงเพชร อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ สุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา ๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ ฉะเชิงเทรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ ๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ อุดรธานีอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังมีพระราชภารกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่เหล่าอาณาประชาราษฎรอีกมาก ซึ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในระยะแรกยังมิได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะประกอบพระราชพิธีอันสำคัญนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองรัฐโดยสมบูรณ์ผ่านทางพิธีกรรมอันเป็นคติเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ที่สะท้อนความเป็นองค์สมมุติเทพของผู้ปกครอง ในการพระราชพิธีประกอบด้วยพระราชพิธีหลักคือ การจารึกพระนามพระมหากษัตริย์ในพระสุพรรณบัฏ และแกะตราพระราชลัญจกร จากนั้นจึงถวายน้ำสรงพระมูรธาภิเษก ที่รวบรวมจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร ผสมผสานกับน้ำจากแม่น้ำในประเทศอินเดียที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ สาย ก่อนจะถึงขั้นตอนการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน รวมถึงการถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภคต่างๆ ที่สะท้อนถึงสัญลักษณ์ความเป็นพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเฉลิมพระราชมณเฑียรที่เปรียบดั่งการขึ้นบ้านใหม่ และการเสด็จเลียบพระนครซึ่งเป็นการประกาศพระบารมีพร้อมทั้งให้พสกนิกรชื่นชมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วยพร้อมกัน

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันเป็นวโรกาสสำคัญครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธี ตามที่ปรากฏในประกาศของสำนักพระราชวัง ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนี้

วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปี พุทธศักราช ๒๕๖๒
เมื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเริ่มต้นขึ้นพสกนิกรชาวไทยจะได้ชื่นชมกับขนบธรรมเนียมอันเป็นโบราณราชประเพณีที่ว่างเว้นไปหลายสิบปีพร้อมกับได้ประจักษ์ถึงพระบารมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้น

 

เชิงอรรถ

กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๑๕), หน้า ๑๔๓.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม”, ใน รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วยยศเจ้า. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี จำนง ผุสสราค์มาลัย. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖), หน้า ๘๒.
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๔๔-๑๔๗.
วารสารศิลปากร ปีที่ ๘ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๙๗ อ้างถึงใน กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร. หน้า ๑๕๑.
http://news thaipbs.or.th สืบค้นเมื่อ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๕๔-๑๖๐.
www.weddinglist.co.th/ สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๖๙-๑๗๐.
http://news thaipbs.or.th ค้นเมื่อ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๖๐-๑๖๑.
www.weddinglist.co.th/ สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
เรื่องเดียวกัน.
เรื่องเดียวกัน.
เรื่องเดียวกัน.
เรื่องเดียวกัน.
www.pptvhd36.com/news สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
www.wikipedia.org สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
www.thairath.co.th สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒