ชูผลฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะ 1 ช่วยเกษตรกรสร้างรายได้ เพิ่มโคพันธุ์ดีในระบบการผลิต

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินผลโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ โดยมีกรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อสร้างอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิตโคเนื้อและความมั่นคงทางอาหาร สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพระบบการผลิตโคเนื้อของประเทศ โดยการดำเนินโครงการ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2559-2565 และระยะที่ 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2561-2567

สศก. ได้ติดตามประเมินผลโครงการ ระยะที่ 1 พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วม จำนวน 397 ราย (ร้อยละ 99 ของเป้าหมาย 400 ราย) มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เข้าร่วม 23 แห่ง (ร้อยละ 115 ของเป้าหมาย 20 แห่ง) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อแม่พันธุ์โคเนื้อรายละ ไม่เกิน 5 ตัว ตัวละไม่เกิน 40,000 บาท และค่าก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงเรือน/แปลงหญ้า รายละไม่เกิน 50,000 บาท จัดหาแม่พันธุ์โคเนื้อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,975 ตัว

จากการสอบถามเกษตรกรตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 358 ราย พบว่า เกษตรกรร้อยละ 67 ของเกษตรกรที่ได้รับสินเชื่อ ได้นำไปสร้างโรงเรือนใหม่ ส่วนร้อยละ 33 นำสินเชื่อไปปรับปรุงหรือต่อเติมโรงเรือนที่มีอยู่เดิม และหลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรเกือบทุกรายมีการปลูกพืชอาหารสัตว์เฉลี่ย 1 ไร่ ต่อโคเนื้อ 1 ตัว ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการในการเลี้ยงโคเนื้อ นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 63 สามารถลดต้นทุนการผลิต จากการนำปุ๋ยคอกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง โดยสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยไร่ละ 47.89 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการลดการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยปีละ 934 บาท ต่อไร่

สำหรับการติดตามตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2561) พบว่า สามารถผลิตลูกโคเนื้อได้รวม 2,035 ตัว และมีลูกโคเดินตามตั้งแต่แรกซื้อจำนวน 550 ตัว โดยคาดว่าเกษตรกรร้อยละ 78 สามารถชำระคืนสินเชื่อได้ทันเวลาและครบตามจำนวนที่ต้องชำระคืน ส่วนร้อยละ 22 ชำระได้เพียงบางส่วน ทั้งนี้ มีเกษตรกรจำนวน 3 ราย ที่สามารถชำระคืนสินเชื่อได้ก่อนกำหนด

นอกจากนี้ เกษตรกร ร้อยละ 84 ต้องการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อต่อไป โดยมีการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรด้วยกันเฉลี่ยรายละ 4 เครือข่าย ส่วนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจำนวน 21 แห่ง มีการสร้างเครือข่ายเฉลี่ยแห่งละ 3 เครือข่าย โดยเกษตรกรมีแนวคิดที่จะขยายธุรกิจหรือเพิ่มมูลค่าให้กับโคเนื้อด้วยวิธีการรวมกลุ่มกันพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อให้ตรงตามความต้องการของตลาด ผลิตลูกโคเนื้อ และขุนลูกโคตัวผู้ที่เกิดจากแม่พันธุ์โคเนื้อในโครงการเพื่อจำหน่าย รวมทั้งทำการผลิตโคเนื้อแบบครบวงจร

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 1 ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์โครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ควรให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เกษตรกร เกี่ยวกับการคัดเลือกแม่พันธุ์โคเนื้อการผสมเทียมและการจับสัด อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตลูกโคเนื้อได้ตามเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้ นอกจากนี้ ควรร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการชำระคืนสินเชื่อของโครงการและวิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่ได้รับสินเชื่อล่าช้าและสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน