กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ข้าวดีเด่น เมืองชากังราว

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2536

สมาชิกแรกตั้ง 12 ราย สมาชิกปัจจุบัน 75 ราย

ประธานกลุ่ม นายเดช พะโยน

ที่ทำการกลุ่ม ตั้งอยู่บ้านทุ่งรวงทอง หมู่ที่ 14 ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เบอร์โทรศัพท์ 089-567-5533

 

ความคิดริเริ่ม

การจัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ซึ่งในทุกปีจะประสบปัญหาในด้านต่างๆ จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม และนับวันยิ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สมาชิกในกลุ่มก็สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีเยี่ยม จนทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ตามเป้าหมายที่ศูนย์กำหนดอย่างมีคุณภาพ ทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ  เป็นต้นแบบของการทำนาที่ดี และส่งผลให้สมาชิกกลุ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เก็บตัวอย่างดิน

1. การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสภาพแวดล้อม

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง มีการพัฒนาโดยการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านประสิทธิภาพของกลุ่มในการลดต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนและมีราคาแพง ทำให้แผนการปลูกข้าวเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่

– การใช้รถไถเดินตาม เพื่อปรับระดับพื้นที่ในแปลงนาให้มีความสม่ำเสมอ เหมาะสมแก่การให้น้ำและการระบายน้ำออกได้สะดวก

– การใช้เครื่องปักดำขนาดเล็กและขนาดใหญ่แบบเดินตามและขับเคลื่อน มาใช้ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ทำให้การปฏิบัติด้านการกำจัดพันธุ์ปนและการป้องกันโรค/แมลงศัตรูข้าว สะดวกขึ้น

– การใช้รถเกี่ยวนวดข้าวในการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ ทำให้เป็นการลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลาและแรงงานในการเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อนการเก็บเกี่ยวจะทำความสะอาดรถเกี่ยวนวด เพื่อป้องกันพันธุ์ปนข้าววัชพืช และสิ่งอื่นที่ติดมากับรถเกี่ยวนวด

– เครื่องกระจายฟาง และเครื่องอัดฟางก้อน

– การปลูกโดยวิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว

2. การแก้ปัญหาของกลุ่มในด้านพื้นที่ ด้านวิชาการ เศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ได้นำแนวทาง มาตรการการลดต้นทุนการผลิตข้าวของกรมการข้าวมาปรับใช้ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ ทั้ง 6 มาตรการ คือ 3 ต้องทำ ได้แก่ 1.  ปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้ง ต่อปี 2. การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี 3. จัดทำบัญชีฟาร์ม และมาตรการ 3 ต้องลด ได้แก่ 1. ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 2. การใช้ปุ๋ยเคมีที่ไม่ถูกต้อง และ 3. ลดการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น ได้แก่

– เก็บตัวอย่างดินในแปลงนา นำส่งสถานีพัฒนาที่ดิน เพื่อวิเคราะห์คุณภาพดิน ก่อนการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

– พัฒนาปรับโครงสร้างดิน โดยใช้ฮอร์โมนและสาร พด.2 มาช่วยย่อยสลายฟางข้าว เพื่อเพิ่มปุ๋ยในนาและทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีการปลูกปอเทืองเพื่อบำรุงดิน มีการปรับพื้นที่นาให้ได้ระดับ เพื่อให้เหมาะสมแก่การให้น้ำและการระบายน้ำออกได้สะดวก

– บูรณาการกลุ่มเครือข่ายในการผลิตสารไล่แมลง และฮอร์โมน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ได้แก่ ผลิตน้ำหมักไล่แมลง ศัตรูข้าว ผลิตน้ำหมักหน่อกล้วย ใช้สลายฟางข้าวและเร่งการเจริญเติบโตของข้าว ผลิตน้ำหมักรกหมู เป็นฮอร์โมนฉีดพ่นข้าวทางใบเพิ่มผลผลิตข้าว ผลิตเชื้อราไตรโครเดอร์มา ป้องกันโรคเมล็ดด่าง และเมล็ดลีบจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิดตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์และน้ำหนักเมล็ดและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ผลิตปุ๋ยอัดเม็ดจากมูลสุกร สำรวจโรคแมลงในแปลงนาก่อนใช้สารเคมี ร่วมโครงการรณรงค์การกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเสริมสร้างความสามัคคีของสมาชิกภายในกลุ่มในการร่วมแรงร่วมใจกันตรวจตัดพันธุ์ปนในแปลงขยายพันธุ์เพื่อให้ได้มาตรฐานคุณภาพ

อัดฟางก้อน

3. การเชื่อมโยงองค์การท้องถิ่น การประสานงานเครือข่ายด้านการผลิต การตลาด และการเพิ่มมูลค่าผลผลิต

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทองจัดทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ กข49 กข29 กข41 กข61 และกข57 พื้นที่ 700 ไร่ โดยรับซื้อคืนตามมาตรฐานคุณภาพที่บริษัทเอกชนกำหนด ได้ราคาที่เป็นธรรม เกษตรกรยอมรับได้

  1. แนวคิดในการทำงานแบบบูรณาการ

– กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง มีการบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบของแปลงใหญ่ โดยมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกันและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับแน่นอน ทำให้เกษตรกรภายในกลุ่มสามารถลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการผลผลิตและการตลาดได้ มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร กำหนดมาตรฐานการผลิต และสามารถกำหนดเป้าหมาย แผนธุรกิจของตนเองอย่างชัดเจน ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทองมีเป้าหมายในการพัฒนากลุ่มที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ นาแปลงใหญ่ 5 ด้าน คือ

  1. กลุ่มสามารถลดต้นทุนการผลิต
  2. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  3. พัฒนาคุณภาพสินค้าและคุณภาพชีวิตของสมาชิก
  4. พัฒนาด้านการตลาด
  5. มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

– มุ่งมั่นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยให้สมาชิกภายในกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ พัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนำไปสู่วิสาหกิจชุมชน เพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

– พัฒนาระบบการปลูกข้าวโดยนำหลักการ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละราย เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไม่เผาตอซัง ใช้น้ำหมัก)

– มุ่งเน้นคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยให้สมาชิกกลุ่มปลูกข้าวโดยวิธีปักดำ เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาป้องกันกำจัดวัชพืช โรค แมลง และการตรวจตัดพันธุ์ปนในแปลงนา

– พัฒนากลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เป็นศูนย์กลางด้านการผลิต ด้านเทคโนโลยี ด้านวิชาการ ด้านบรรจุภัณฑ์และเป็นแหล่งกระจายเมล็ดพันธุ์ดีในท้องถิ่น ในนาม “กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง” ตลอดจนมีการเฝ้าระวังการเตือนภัยจากโรคและแมลงศัตรูข้าวระบาดในพื้นที่

เปียกสลับแห้ง

ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มีการนำหลักเกณฑ์ของ GAP มาประยุกต์ใช้ โดยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว มุ่งให้เกิดกระบวนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย คุณภาพเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ประกอบด้วยข้อกำหนดเรื่อง แหล่งน้ำสะอาด พื้นที่ปลูกเหมาะสม ลดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร มีการจดบันทึกข้อมูล การจัดกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ และมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้เกษตรกรภายในกลุ่มเห็นความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานผลผลิตข้าว ตามมาตรฐานการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำแพงเพชร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP grain 23 ราย พื้นที่ 230 ไร่ และ ปี 2562 ได้เริ่มนำระบบควบคุมภายในมาใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม

– มีระเบียบบริหารและการประชุมคณะกรรมการ โดยมีการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม

– กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ได้กำหนดและควบคุมแผนการผลิตของกลุ่ม โดยในแต่ละฤดู

– การดำเนินกิจกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ได้มีแนวทางการพัฒนาโดยเน้นให้สมาชิกภายในกลุ่มมีส่วนร่วมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีการสร้างระบบในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ทุกด้าน ตั้งแต่การวางแผนการปลูก การดูแลการรักษา การตัดพันธุ์ปน การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว จนถึงการขนส่งเมล็ดพันธุ์ไปจำหน่ายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งมีผลการดำเนินงานการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ย้อนหลัง 3 ฤดูการผลิต

ปี พื้นที่ (ไร่) เกษตรกร

(ราย)

เป้าหมายซื้อคืน

(ตัน)

ซื้อคืนได้

(ตัน)

คิดเป็นร้อยละ
2559 4734 206 2244.550 2155.018 96.01
2560 4042 245 2134.220 2135.733 100.07
2561 3674 156 2042.250 1898.667 92.97
รวม 12450 607 6421.020 6189.418 96.39

หมายเหตุ : การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฤดูฝน ปี 2560 เกิดอุทกภัยทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเกิดความเสียหายในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต

– มีความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ภาคเอกชน ตามข้อตกลงได้ปีละไม่ต่ำกว่า 700 ตัน

– มีระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพแปลงขยายพันธุ์ จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแปลงขยายพันธุ์ข้าว จำนวน 5 คน โดยใช้หลักเกณฑ์วิธีการตรวจแปลงตามระเบียบที่ได้รับการอบรมจากกลุ่มควบคุมคุณภาพและกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำแพงเพชร โดยใช้แบบฟอร์มที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำหนด

– การบริหารผลผลิตส่วนที่เกินจากการผลิตให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ทางกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีการประชุมหารือ ประมาณการผลผลิตของสมาชิก โดยประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์เอกชนเพื่อเสนอขายผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ได้แก่ บริษัทเอกชนในเขตจังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสุพรรณบุรี

– กลุ่มมีการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกทุกคน เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่ม และให้สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพร้อมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาปรับใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลิตปุ๋ยใช้เอง

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

1. การมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อกลุ่มสมาชิกเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบการจัดสรรพื้นที่จัดทำแปลงฯ ร่วมแสดงความคิดเห็น และกำหนดแผนการปฏิบัติในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ และเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ เพื่อนำความรู้มาพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของกลุ่ม ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือกับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตได้

2. การมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อองค์กรท้องถิ่น

– ร่วมกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 66 พรรษา

– เป็นตัวแทนอำเภอพรานกระต่าย แสดงรำเคียวเกี่ยวข้าว ในงานนพพระเล่นเพลง จังหวัดกำแพงเพชร

3. การถ่ายทอดความรู้ การดูงานแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และการนำไปปฏิบัติของสมาชิก

– กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ได้มีการจัดคณะกรรมการและสมาชิกเข้าร่วมรับการฝึกบรมศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ต่างๆ นำมาถ่ายทอด ปฏิบัติและพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่อง

– ศึกษาดูงานเพื่อสร้างองค์ความรู้ ให้แก่ผู้นำเกษตรกรชาวนา โครงการสร้างเสริมและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภาคการเกษตร ณ สาธารณรัฐไต้หวัน

มีส่วนร่วม

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

1. การจัดตั้งกองทุนในปี 2549 ได้มีการรวมสมาชิกผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวจัดตั้งเป็นกลุ่มและได้รับการจดทะเบียนจากกรมการข้าว เป็น “กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทุ่งรวงทอง” โดยมีสมาชิกร่วมในการเริ่มจัดตั้ง จำนวน 12 ราย ปัจจุบัน กลุ่มมีสมาชิกทั้งสิ้น จำนวน 75 ราย พื้นที่ 2,800 ไร่ มีเงินกองทุนรวม จำนวน 2,140,000 บาท

– มีคณะกรรมการบริหารกลุ่มเป็นผู้บริหารกองทุนกลุ่ม 1 ชุด จำนวน 5 คน และที่ปรึกษา 1 คน

– มีการจัดตั้งกองทุน และมีระเบียบ ข้อบังคับในการบริหารจัดการเงินทุน แบ่งออกเป็น 3 บัญชี ดังนี้ บัญชีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านทุ่งรวงทอง บัญชีรับ-จ่าย กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง และบัญชีเครื่องจักรกล (เป็นบัญชีรับ-จ่ายเกี่ยวกับค่าบริการเครื่องจักรกล)

2. ระเบียบข้อบังคับกลุ่มกองทุน

– สมาชิกทุกคนต้องชำระเงินบำรุงกลุ่มแรกเข้า คนละ 1,000 บาท

– สมาชิกทุกคนต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท

สมาชิก

การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– ร่วมกิจกรรมการจัดทำแปลงเรียนรู้โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ บ้านป่าคา

– การลดใช้ปุ๋ยและสารเคมี โดยการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยของกรมวิชาการเกษตร เพื่อลดการสูญเสียธาตุอาหาร

– การป้องกันและรักษาดิน โดยการสุ่มตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ที่สถานีพัฒนาที่ดิน หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวในแต่ละปี

– ย่อยสลายฟางข้าว โดยใช้สาร พด.2 และงดการเผาฟาง

– ปรับพื้นที่นาให้เรียบสม่ำเสมอ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการดิน น้ำและปุ๋ย

– พักหน้าดิน ช่วงเดือนกันยายน เนื่องจากถ้าปลูกไปแล้ว ผลผลิตที่ออกมาจะมีผลกระทบต่ออากาศหนาวในช่วงปลายปี

– การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มีภาพเปรียบเทียบโรคข้าวและใช้สารเคมีให้ถูกต้องกับโรค เพื่อรักษาศัตรูธรรมชาติ และชะลออาการสร้างภูมิต้านทานของศัตรูพืช เช่น เลือกใช้สารเคมีที่เฉพาะเจาะจง ใช้สารเคมีเฉพาะบริเวณที่พบศัตรูพืช

– ใช้สารชีวภาพในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าว เช่น น้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น

– การเพาะเชื้อบิวเวอเรียและนำมาใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

– สำรวจแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างสม่ำเสมอ โดยอาศัยข้อมูลสถานการณ์จริงในแปลง เช่นการสำรวจดิน น้ำ ต้นข้าว ศัตรูข้าว และพิจารณาตัดสินโดยใช้ข้อมูลจากสถานการณ์ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ได้รับคัดเลือกให้เป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น ปี 2562

 ขอบคุณ ข้อมูลกรมการข้าว