“ทุเรียนตะนาวศรี” ดกสาหัส เนื้อเนียนละเอียดสีเหลืองจัด หอมจัด เป็นทุเรียนพื้นเมืองต้องรอให้สุกคาต้นแล้วถึงร่วงลงมาเหมือนกับทุเรียนพื้นเมืองภาคใต้

ได้ยินมาแต่เด็กว่า “ทุเรียน” เปรียบประดุจ “ราชาแห่งผลไม้” เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของเปลือกนอก ที่มีหนามแหลมคล้ายมงกุฎของพระราชา อีกทั้งเนื้อในเนียนละมุนหอมเย้ายวน กลิ่นรัญจวน เจือรสชาติแสนอร่อย ยากจะหาผลไม้หวานจัดอื่นใดมาเทียบได้ แต่ที่เคยรับรู้มานั้นทุเรียนเมืองนนท์มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ราคาลูกละอย่างต่ำ 5,000 บาท หรือเป็นหมื่นๆ บาทก็มี ขนาดราคาลูกละ 25,000 บาท ยังถูกจองคาต้นซะหมดเกลี้ยง

ครั้นเมื่อได้ข้ามด่านสิงขร ชายแดนไทย-พม่า ตระเวนตามสวนหมากในเมืองตะนาวศรี และล่องเรือทวนแม่น้ำตะนาวศรีขึ้นไปเรื่อยๆ สองฝั่งน้ำที่เห็นสวนหมากแน่นครึ่ดนั้น ที่เชิดก้าน ชูยอดใบสลอนอยู่ตลอดเขตสวนหมาก เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะทั้งหมดนั้นที่ชาวสวนตะนาวศรี ปลูกแทรกสวนหมากอยู่ คือ “ทุเรียน”

ทุเรียนตะนาวศรีที่เห็นกะๆ เอาด้วยสายตา เพียงไม่กี่กิโลเมตรทอดยาวขนาบไปตามสายน้ำทั้งสองฝั่ง คะเนดูแล้ว มีเป็นหมื่นๆ ต้น ทำไมจึง “ดกสาหัส”, “มากสาหัส” ขนาดนี้ แล้วเมื่อขึ้นฝั่งมา สองข้างถนนยังมีเพิงไม้ขายทุเรียนสุกลูกเล็ก ฉีกเปลือกออกเห็นเนื้อในเหลืองจัด กลิ่นอบอวลยิ่งๆ กองเบ้อเริ่มหลายลูก ชาวบ้านตะนาวศรีขายเหมาให้คณะเดินทางสำรวจชาวไทยในราคาเพียงกองละ 150-200 บาท ซึ่งถ้ามาซื้อหาตามราคาเมืองไทย อาจได้ไม่ถึงครึ่งลูกซะล่ะมั้ง

ดิฉันได้เดินทางเมืองตะนาวศรีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกับทีมนักวิชาการชาวไทย หนึ่งในผู้ร่วมเดินทาง คือ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ท่านเป็นครูของชาวนาไทยทั้งประเทศ มีความเชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในเรื่องข้าว และมีความรู้หลากหลายนานาในเรื่องพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ พืชพันธุ์พื้นบ้าน

อาจารย์เดชา ศิริภัทร กับ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ในวันเดินทางเข้าไปสำรวจเมืองตะนาวศรี ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ดิฉันรู้จักและเคยทำงานเป็นลูกมืออาจารย์เดชามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เดินตามอาจารย์เดชาบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า, ชายแดนไทย-ลาว เก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองจากหมู่บ้านชาวเขาหลากหลายชนเผ่าอยู่ร่วมปี และยังได้ติดต่อทำงานด้วยกันยาวนานมาจนบัดนี้

เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปเมืองตะนาวศรีกับอาจารย์เดชา และได้เห็นดงทุเรียนกลางสวนหมาก ได้ชิมทุเรียนตะนาวศรีอยู่หลายยก พร้อมๆ กันกับผู้ร่วมเดินทางอีกหลายท่าน ดิฉันจึงตามไปสัมภาษณ์ สืบค้น ขอความรู้เรื่องทุเรียนตะนาวศรีจากอาจารย์เดชา ซึ่งท่านก็ได้กรุณาให้ความรู้เรื่องทุเรียนตะนาวศรีมาดังนี้

 

ถิ่นกำเนิดของทุเรียน

“ทุเรียนเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดแรกเริ่มอยู่ที่เกาะบอร์เนียว ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนใต้ของประเทศไทย เกาะบอร์เนียวแบ่งออกเป็น 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียวจะเป็นเกาะใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดของทุเรียนส่วนใหญ่ แต่ทุเรียนก็ยังมีอยู่อีกบ้างที่เกาะสุมาตรา ทุเรียนป่ามีอยู่เป็น 10 สปีชีส์ แต่ที่มนุษย์เอามากินกันนี้เป็นทุเรียนบ้าน ซึ่งเป็นสปีชีส์หนึ่งของทุเรียนป่า เราเอาทุเรียนบ้านคัดพัฒนาพันธุ์เรื่อยมา จนเป็นทุเรียนปัจจุบัน แต่ลักษณะเด่นของทุเรียนก็ยังปรากฏชัดอยู่ คือเปลือกที่มีหนามแหลม คนพื้นเมืองในเกาะบอร์เนียว สุมาตราจึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า ทุเรียน หรือ ดุเรียน ซึ่งแปลว่า ผลไม้ที่มีหนาม ปัจจุบันก็ยังเรียกชื่อนี้กันอยู่

อันที่จริงทุเรียนเป็นพืชวงศ์เดียวกับต้นนุ่นและต้นงิ้ว แต่สภาพแวดล้อมต่างกัน ทำให้ลักษณะต่างกันไป งิ้วกับนุ่นชอบแล้ง เจอน้ำท่วมตายแน่ ส่วนทุเรียนชอบชื้น เจอแล้งตายแห้งเลย แต่ถึงจะชอบชื้นถ้าเจอน้ำท่วมก็ตาย พืช 3 ชนิดนี้แม้จะเป็นวงศ์เดียวกัน แต่เกิดคนละที่ ต้นงิ้วเกิดแถวเมืองไทยมีมาก ส่วนนุ่นมีถิ่นกำเนิดที่อเมริกาใต้ สำหรับทุเรียนถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปเอเชีย ในพื้นที่ร้อนชื้น ชื้นมากๆ ทุเรียนต้องการพื้นที่ชื้นแต่ไม่แฉะ ไม่แล้ง ซึ่งเป็นสภาพภูมิประเทศแถวบอร์เนียวและสุมาตราพอดี แถวเขตศูนย์สูตรซึ่งมีลักษณะชื้นมาก ร้อน และชื้นจัด เหมาะแก่สภาพการปลูกทุเรียน”

ทุเรียนตะนาวศรี เนื้อเนียนละเอียดสีเหลืองจัด หอมจัด เป็นทุเรียนพื้นเมืองต้องรอให้สุกคาต้นแล้วถึงร่วงลงมาเหมือนกับทุเรียนพื้นเมืองภาคใต้ของไทย

 

คนไทยกินทุเรียนมาตั้งแต่เมื่อใด

“แม้จะไม่มีบันทึกชัดเจนว่าคนไทยกินทุเรียนตั้งแต่เมื่อใด แต่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ช่วงที่ลาลูแบร์ล่องเรือขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อเข้าไปที่พระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา สองฝั่งน้ำที่เป็นสวนผลไม้ก็มีทุเรียนอยู่ด้วย ฝั่งธนบุรี บางกอก ปลูกทุเรียนมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่อยุธยาปลูกไม่ได้เพราะน้ำเหนือหลากลงมาท่วมทุกปี ฝั่งธนน้ำไม่ลึก เป็นพื้นที่น้ำเค็มขึ้นถึง เขาเรียกว่าดินลักจืดลักเค็มทำให้คุณภาพของทุเรียนดี คือผลไม้ถ้าขึ้นในดินที่น้ำเค็มขึ้นถึงหรือน้ำกร่อยขึ้นถึง รสชาติจะดีเพราะแร่ธาตุครบ สวนโบราณจึงอยู่ในเขตนี้ทั้งหมด ลึกสุดก็คือนครชัยศรี

คนสมัยก่อนไม่รู้จักใส่ปุ๋ย เขาใช้กันแต่ดินธรรมชาติ ดังนั้น ผืนดินในเขตที่น้ำทะเลขึ้นถึง น้ำกร่อยขึ้นถึง จึงมีแร่ธาตุมาก ทำให้ผลไม้มีรสชาติดี นั่นทำให้สวนโบราณตั้งแต่เขตนครชัยศรี ลงไปจนถึงอัมพวาเป็นสวนที่มีคุณภาพ ทางฝั่งน้ำเจ้าพระยาก็ขึ้นไปถึงนนทบุรี ปทุมธานี จะปลูกผลไม้ได้รสชาติดี นี้แหละทำให้สวนสมัยก่อนต้องเป็นเขตที่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยขึ้นถึง เมื่อดินดี แร่ธาตุจากน้ำกร่อยสมบูรณ์ สวนผลไม้จะสมบูรณ์ไปด้วย สวนทุเรียนที่อยู่ย่านบางกอก บางพลัด นนทบุรี อุดมสมบูรณ์มาก ก็เพราะ 1. ชื้นพอเหมาะถึงแม้น้ำท่วมก็ท่วมไม่ลึก 2. น้ำกร่อยขึ้นถึงได้แร่ธาตุสมบูรณ์

ทุเรียนจึงเอาไปปลูกอยุธยาไม่ได้ ปลูกได้ก็บางที่แต่รสดีสู้ปลูกทางบางกอกไม่ได้ เพราะอยุธยาเป็นที่ดอน น้ำกร่อยขึ้นไม่ถึง ผลไม้จะมีรสชาติดีสู้ทางฝั่งธนไม่ได้ ทุเรียนฝั่งธน บางกอก บางพลัด นนทบุรีจึงปลูกกันมาหลายร้อยปี ได้รับการคัดพันธุ์ พัฒนาพันธุ์มายาวนานมาก”

 

สวนหมากริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรี มียอดทุเรียนพื้นเมืองโผล่ให้เห็นตลอดสองฝั่งน้ำ กะประมาณด้วยสายตาอาจารย์เดชากล่าวว่ามีทุเรียนอยู่เป็นหมื่นๆ ต้น

สุกคาต้นจึงจะได้รสชาติ

จากที่ดิฉันเคยลงทำงานภาคสนามในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ดิฉันพบว่าทุเรียนภาคใต้และทุเรียนตะนาวศรีที่ได้เห็น ได้กินมา จะเป็นทุเรียนพื้นเมืองชนิดต้องสุกคาต้น รอให้ร่วงมาถึงจะเก็บไปกินได้ แตกต่างจากทุเรียนในแถวเขตภาคกลางแถวบางกอก บางพลัด ย่านฝั่งธน นนทบุรี แล้วสาเหตุใดเล่าที่ทำให้เกิดพัฒนาการแตกต่างกัน ในประเด็นนี้ อาจารย์เดชา กล่าวว่า

“นั่นแล้วแต่ทักษะของชาวสวน ต้นรากถิ่นกำเนิดจริงๆ ของทุเรียนภาคกลางก็คือทุเรียนป่าเช่นเดียวกับทุเรียนภาคใต้ กับทุเรียนตะนาวศรี ดังนั้น แต่เดิมก็คือทุเรียนป่าที่คนเก็บมากิน มาปลูกอยู่แถวๆ บ้าน พอได้เมล็ด ต้นไหนอร่อยก็ปลูกต่อๆ กันไป ครั้นปลูกไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งหลากหลายคุณภาพ เพราะแต่เดิมปลูกด้วยเมล็ดไม่ใช่กิ่งตอน คุณภาพของแต่ละต้นจึงไม่เหมือนกัน หลากหลายรสชาติ เมื่อเอาทุเรียนมาปลูกที่ภาคกลางของไทย พบว่าต้นไหนอร่อย ชาวสวนก็จะขยายพันธุ์ด้วยการตอน วิธีนี้ทำให้ผลไม้ไม่กลายพันธุ์ แล้วยิ่งปลูกต่อไปอีกก็จะยิ่งดีขึ้น ชาวสวนก็จะเอาต้นนั้นเป็นแม่พันธุ์ต่อไปอีก พัฒนาการของทุเรียนก็จะขยายไปจากต้นที่ดี แล้วก็ถูกคัดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ พอได้พันธุ์ที่คัดมาอร่อยคงที่แล้ว เขาก็เอาเป็นต้นแม่พันธุ์ไป ใช้กิ่งตอนไปก็จะไม่เปลี่ยนรสชาติ ไม่กลายพันธุ์ ที่ชาวสวนภาคกลางมีพัฒนาการในการปลูกผลไม้มากกว่าคนภาคอื่น เพราะ

  1. เขามีความชำนาญมากกว่าคนภาคอื่น สั่งสมความรู้ความชำนาญมาหลายร้อยปี ตอนกิ่งผลไม้ได้คล่องมากๆ
  2. เขาคัดคุณภาพรสชาติได้เก่งมาก เพราะสามารถขายได้ในราคาแพง ภาคกลางเป็นเขตเมืองหลวง คนรวย ฐานะดี ชนชั้นเจ้า ขุนนางมีเงินที่จะซื้อของดีของอร่อยกินได้ ราคาแพงเท่าไรก็ซื้อได้ ยิ่งขายได้แพงขึ้นก็ยิ่งขยายพันธุ์ต้นเฉพาะต้นที่ดีๆ ต้นไม่ดีก็ไม่เอา โค่นทิ้งไปได้เลย ส่วนทางบ้านนอก ทางต่างจังหวัดปลูกกินเองยังไงก็ได้ ต้นดีต้นไม่ดีมันก็อยู่ปนๆ กันไป

การคัดพันธุ์ผลไม้ให้ไม่กลายพันธุ์คนสวนภาคกลางชำนาญมาก เขาใช้วิธีการตอนกิ่ง มันจะแน่นอน ส่วนการคัดโดยการเพาะเมล็ดมันจะออกมาหลากหลาย ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้นไหนดีที่สุดชาวสวนก็จะเอาต้นนั้นมาขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง พอกิ่งตอนออกลูกมา ก็เอาเมล็ดไปคัดพันธุ์ต่อ ไปปลูกต่อแล้วตอนกิ่ง เก็บเมล็ดมาปลูกคัดพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ต้นลูกหลานที่ได้รสชาติดีกว่าต้นพ่อต้นแม่ เขาก็จะขยายต่อไปอีก วิธีการเช่นนี้ทำให้มีการยกระดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพสูง ทุเรียนพื้นบ้านในภาคกลางจึงไม่มีปลูก เพราะรสชาติสู้ทุเรียนคัดพันธุ์มาแล้วไม่ได้ ปกติทุเรียนพื้นบ้านมีเนื้อน้อย บางทีเนื้อยังหุ้มเมล็ดไม่มิดก็มี แกะเปลือกมาเห็นเมล็ดลอยเนื้อนิดเดียว หุ้มเมล็ดยังไม่มิด แต่พอคัดพันธุ์พัฒนาไป ลูกก็ใหญ่เนื้อก็เต็มไปหมด จนกระทั่งเมล็ดลีบเพาะไม่ขึ้น นี่คือวิธีการคัดเลือกและขยายพันธุ์ที่ดี ชาวสวนภาคกลางจะมีความชำนาญในการคัดพันธุ์มากกว่าคนภาคอื่น เขาสั่งสมความรู้ในสายตระกูลมาหลายร้อยปี และได้ปรับวิธีการคัดพันธุ์จนได้ทุเรียนที่ดีกว่าต้นกำเนิด

ทุเรียนตะนาวศรี เนื้อเนียนละเอียดสีเหลืองจัด หอมจัด เป็นทุเรียนพื้นเมืองต้องรอให้สุกคาต้นแล้วถึงร่วงลงมาเหมือนกับทุเรียนพื้นเมืองภาคใต้ของไทย

ดังนั้น แม้ทุเรียนจะมีถิ่นกำเนิดที่บอร์เนียวแล้วขึ้นมาทางภาคใต้ของไทย แต่อินโดนีเซียทั้งประเทศและภาคใต้ไทย ทุเรียนพื้นเมืองก็รสชาติสู้ทุเรียนภาคกลางไม่ได้ เพราะทักษะของชาวสวนภาคกลางสูงกว่าคนมาเลย์ คนอินโดนีเซีย และคนภาคใต้มาก ชาวสวนภาคกลางอยู่กับเมืองหลวง เขามีการศึกษา เขามีตลาดที่ดี มีทักษะที่ดี และพื้นที่เขาน้อย จะไปปลูกผลไม้สะเปะสะปะไม่ได้ เขาก็ปลูกให้ทุเรียนคุณภาพสูงๆ เข้าไว้ จะได้ขายราคาแพงๆ ชาวสวนภาคกลางไม่ได้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง แต่ใช้คุณภาพเป็นตัวตั้ง แต่ที่อื่นพื้นที่มาก มีเรี่ยวแรงก็ปลูกเข้าไปมากๆ เก็บหามามากๆ ได้ต้นดีไม่ดีปนกันไปบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะว่าพื้นที่เยอะ แล้วก็ไม่ได้ขาย เก็บกินกันเอง อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างก็กินๆ ไป ถ้ารสชาติไม่ดีต้องเก็บขาย ก็ขายราคาถูกๆ ไป”

ฟังคำตอบจากอาจารย์เดชาแล้ว ดิฉันจึงตั้งข้อสงสัยถามต่อไปว่า ทุเรียนต้นหนึ่งออกผลมาจะมีคุณภาพทัดเทียมกับต้นพ่อต้นแม่ได้สักกี่เปอร์เซ็นต์

“โดยปกติตามทฤษฎีถ้าเป็นพันธุ์ดีแล้ว โอกาสจะดีเท่าเดิมมันน้อย เพราะว่ามันดีอยู่แล้ว” อาจารย์เดชาตอบคำถาม ก่อนจะอธิบายรายละเอียดมากยิ่งขึ้นว่า

“สมมุติว่าเราเข้าไปในป่า หยิบผลไม้มาสักลูกหนึ่ง เอาเมล็ดไปปลูกต่อ โอกาสจะได้ผลรสชาติดีไม่ดี จะอยู่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง เพราะเป็นพันธุ์ที่ไม่ได้คัด แต่ถ้าเอาต้นที่ดีมาปลูกต่อโอกาสจะได้พันธุ์ดีจะน้อยลงไปมาก แค่ไม่เกิน 5% ที่แย่กว่าเดิมจะ 95% ดังนั้น ถึงแม่พันธุ์จะดี เอาไปปลูกด้วยเมล็ดต่อ 20 ต้น ก็จะได้แค่ 1 ต้นที่ดี เพราะแค่ 5% มันจะได้อยู่แค่นี้ ทักษะในการตอน การใช้กิ่ง จึงสำคัญในการขยายพันธุ์พืช ถ้าอยากได้พันธุ์เดิมเขาก็ไม่เอาเมล็ดมาปลูกหรอก เพราะ 1. การปลูกด้วยเมล็ด มีโอกาสกลายพันธุ์ถึง 95% และ 2. การปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาในการปลูกนานมาก กว่าจะรู้ผล ดังนั้น ชาวสวนจึงเอาต้นที่ดีมาขยายพันธุ์ด้วยการตอน ใช้กิ่งจากต้นแม่พันธุ์จะสะดวกกว่า

การตอนกิ่งใช้เวลาปลูกแค่ไม่เกิน 5-6 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่ปลูกเมล็ดต้องใช้เวลาถึง 10 ปี มันต่างกันครึ่งต่อครึ่งไปเลย การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอน จึงเป็นทักษะที่ช่วยให้ชาวสวนพัฒนาขยายพันธุ์ผลไม้ได้มาก ถ้าปลูกแต่เมล็ดอย่างเดียวมันพัฒนาได้ยาก”

 

ชาวสวนไทยสั่งสมความรู้มาหลายร้อยปี

การที่ชาวสวนภาคกลางของไทยเก่งมาก พัฒนาทักษะการขยายพันธุ์พืชได้เชี่ยวชาญมาก น่าใคร่ครวญยิ่งว่าเกิดเพราะสาเหตุใด จะเนื่องจากชาวสวนภาคกลางของไทยมีเชื้อจีนด้วยหรือไม่?

สำหรับประเด็นนี้ อาจารย์เดชา ให้คำตอบทันทีว่า

“ไม่ใช่เพราะชาวสวนไทยมีเชื้อสายจีนหรอกครับ แต่เดิมก่อนที่คนจีนจะเข้ามาในเขตภาคกลางของไทย ชาวสวนภาคกลางก็มีพัฒนาการสูงมากๆ อยู่แล้ว

เกษตรกรไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่พัฒนาต่ำสุดคือชาวไร่ ชาวไร่จะปลูกพืชไร่หลากหลายชนิดอยู่ไกลๆ ตามป่าตามดง คนกลุ่มนี้ความเป็นอยู่ก็แย่ ความรู้ก็ต่ำ มีชีวิตลำบาก กลุ่มที่มีพัฒนาการกลางๆ คือชาวนา ปลูกข้าว จะอยู่กันตามชนบทไกลจากตัวเมือง ชาวนาจะเป็นประชากรส่วนใหญ่เพราะข้าวเป็นอาหารหลัก ชาวนามักอยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนใหญ่ของประเทศไทยมาแต่โบราณ สร้างสรรค์วัฒนธรรมชาวนา วัฒนธรรมชาวบ้านไทยโบราณจึงเป็นวัฒนธรรมบนฐานของชาวนา ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่พัฒนาสูงขึ้นมา ก็จะไปอยู่ใกล้เมือง พื้นที่น้อย เขาจะปลูกผลไม้ เรียกว่าชาวสวนผลไม้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกสมุนไพร ปลูกหมาก ปลูกพลู ผลิตผลเหล่านี้ราคาดีกว่าพืชไร่ ราคาดีกว่าข้าวเมื่อชาวสวนไปอยู่ในเขตตัวเมือง มีพื้นที่น้อย เขาก็ต้องพัฒนาพื้นที่เขาให้ผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาดีมากๆ เพราะเอาคุณภาพเป็นตัวตั้ง ชาวสวนจึงชำนาญเรื่องพันธุ์พืช จะคัดเลือกพันธุ์จะขยายพันธุ์เก่ง แต่คนสวนเขาอยู่ใกล้เมือง เพราะฉะนั้น เขาก็ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือสูงๆ เพื่อไปเป็นข้าราชการ คนกลุ่มชาวสวนจะมีพัฒนาการสูงกว่าชาวนาชาวไร่มาก คือเขาจะเปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรไปเป็นข้าราชการหรือเป็นพ่อค้าง่ายมาก เพราะอยู่ใกล้เมือง การศึกษาก็ดี ชาวสวนถือเป็นเกษตรกรระดับสูง พื้นที่น้อยความชำนาญสูง ขายได้แพง และมีรายได้ดี ผลิตผลขายได้แน่นอน และเขายังอยู่ใกล้ความเจริญ เขาจะปรับฐานะตัวเองได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น

ทุเรียนตะนาวศรี

ก่อนที่อาจารย์เดชาจะเข้าไปถึงเมืองตะนาวศรี อาจารย์เดชากล่าวว่า ท่านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตะนาวศรีมีทุเรียนมาก คนไทยแทบไม่มีใครรู้เรื่องนี้ เนื่องด้วย

“เมืองไทยกับตะนาวศรีไม่เคยติดต่อกันมานานแล้วนะครับ ในเอกสารโบราณก็บอกเพียงว่าตะนาวศรีเป็นเมืองท่า ในฐานะเมืองท่าเราก็รู้แค่ว่ามีแต่เรื่องการค้าขาย ไม่มีพูดถึงการเกษตร และที่จริงเมืองตะนาวศรีก็ไม่ใช่เมืองทางการเกษตรเพราะมีที่ราบน้อยมาก ทำได้หลักๆ ก็คือเป็นเมืองท่าค้าขาย พอผมได้ล่องเรือไปตามลำน้ำตะนาวศรี ได้เห็นพื้นที่ราบข้างแม่น้ำก่อนจะถึงเชิงเขา มองไปเห็นสวนหมากตลอดสองฝั่งน้ำ คนตะนาวศรีปลูกหมากเยอะมาก ยุคก่อน-หมากจะเป็นสินค้าสำคัญมาก เพราะนอกจากใช้กินแล้ว หมากยังขายได้ราคาดี หมากคือสินค้าหลักที่คนไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กินกันทั่ว ประเทศไทยปลูกเองไม่พอกิน คนไทยต้องนำเข้าหมากจากเกาะหมาก (ปีนัง) จริงๆ แถวเขตตะนาวศรี มะริด แต่ก่อนก็เป็นเมืองหมากแบบปีนังนี้แหละ

พื้นที่เหมาะสำหรับปลูกหมาก ปลูกแบบโบราณคือปลูกแบบปล่อยให้ร่วงแล้วขึ้นเองเป็นดงหมาก ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ ลักษณะแบบนี้สมัยใหม่เขาไม่ทำกัน ปัจจุบันต้องตั้งใจปลูก แต่ยุคก่อนเขาจะปลูกให้ลูกมันร่วงกระจายไปเรื่อย หล่นก็งอก หล่นก็งอก ต่อไปเรื่อยๆ ตามเชิงเขาริมฝั่งน้ำตะนาวศรีถึงมีสวนหมากขึ้นเป็นดง เป็นป่าหมากไปเลย ชาวสวนหมากก็ใช้กินด้วย ขายด้วย ถึงตอนนี้คนตะนาวศรีก็ยังขายหมากกันอยู่ สภาพแวดล้อมแบบนี้พืชที่ปลูกแซมในสวนหมากได้จะมีไม่กี่ชนิด หลักๆ คือจำปาดะกับทุเรียน พืช 2 ชนิดนี้เหมาะมาก เพราะจะเข้ากับสภาพที่เป็นสวนหมากได้ดี เนื่องจากรากลึกคนละระดับ รากไม่รบกวนกัน มันอยู่ด้วยกันได้ หมากมีรากตื้นรากฝอย แต่ทุเรียนรากลึกก็ไม่รบกวนกัน อีกอย่างคือหมากต้นเรียว หมากไม่มีกิ่งก้านสาขาไปรบกวนบังทุเรียน ใบหมากก็ไม่ได้บังแสงมากมาย เพราะฉะนั้น แสงก็ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ถ้าโล่งมากเกินไปก็ไม่ดีกับทุเรียน พายุพัดมาทุเรียนต้นหักได้ ทุเรียนต้องมีอะไรมาช่วยบังลม บังแดดบ้างในช่วงแรกๆ ดังนั้น หมากกับทุเรียนจึงไปด้วยกันได้ดี

จำปาดะก็เหมือนกัน มันไม่ต้องการแสงมาก ไม่ต้องการลมแรง ดังนั้น ทุเรียนกับจำปาดะจึงอยู่กับสวนหมากได้ดี ชาวสวนตะนาวศรีเองก็คงคัดชนิดพันธุ์พืชที่จะปลูกกับสวนหมากได้มาแล้วนั้นแหละ เขาถึงปลูกหมากเป็นหลัก หารายได้หลักจากหมาก ส่วนทุเรียนก็ปลูกไว้กิน เหลือแล้วค่อยขาย ที่มองๆ ดูในสวนหมากพืชที่ปลูกแซมอยู่มีทุเรียนเป็นส่วนใหญ่ จำปาดะเห็นบ้าง แต่ต้นมันเล็กไม่ค่อยมีมาก ที่โผล่ๆ พ้นยอดหมากมา เห็นมีแต่ทุเรียนทั้งนั้น ดูสองฝั่งแม่น้ำ ผมเห็นทุเรียนเป็นหมื่นๆ ต้น มองเห็นสุดสายตา จำนวนเยอะมาก บางต้นสูงมากใหญ่มากน่าจะมีอายุอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาล่ะกระมัง และต้นพันธุ์คงจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย

จำปาดะ เนื้อแน่นหอมอร่อย ที่คนตะนาวศรีปลูกไว้ในสวนหมาก พบเห็นทั่วไปทั่วทุกสวนหมาก ริมฝั่งน้ำตะนาวศรี

เพราะฉะนั้น ทุเรียนตะนาวศรีชนิดพันธุ์ก็พันธุ์โบราณ ความหลากหลายก็ยิ่งมีมาก เพราะปลูกกันมาแต่เมล็ด ไม่มีการตอนกิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แล้วแต่ละพื้นที่ยังต่างกันไปอีก ขนาดเวลาลูกสุกก็ยังสุกไม่พร้อมกันเลย ผมได้กลับเข้าไปสำรวจทุเรียนตะนาวศรีอีกครั้งเมื่อกลางปี พ.ศ. 2561 เราเข้าไปดู แต่ละพื้นที่ต้นพันธุ์ยังต่างกันเลย ถึงจะเป็นทุเรียนพื้นเมืองก็เถอะ เพราะมันต้องปรับให้เข้ากับสถานที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ทุเรียนตะนาวศรีจึงยังคงความหลากหลายไว้มากอยู่ ยิ่งพอเข้าไปดูที่มะริด คุณภาพทุเรียนดูจะดีกว่าตะนาวศรีซะอีกด้วย เพราะมะริดเป็นเมืองใหญ่กว่า ปลูกทุเรียนมาก่อน มีการคัดเลือกพันธุ์มากกว่า ตะนาวศรีเมืองมันเล็กทุเรียนแบบไหนก็กินกันได้ ผลผลิตออกมายังไงก็ได้ คุณภาพเลยสู้มะริดไม่ได้ คุณภาพทุเรียนมะริดจึงดีกว่าตะนาวศรี จำปาดะมะริดก็ดีกว่าตะนาวศรี”

อาจารย์เดชา ศิริภัทร ได้ข้ามด่านสิงขรเข้าไปถึงเมืองตะนาวศรีและมะริดอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ได้เดินสำรวจสวนหมาก จำปาดะ ทุเรียน ในหลายพื้นที่ และได้เห็นทุเรียนพันธุ์ดีจากตะนาวศรี ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง น่าที่ชาวสวนเมืองไทย จะได้เข้าไปสืบค้นและเปลี่ยนความรู้จากคนไทยในตะนาวศรี คนปลูกทุเรียนพื้นเมืองที่ได้สั่งสมแม่พันธุ์ผลไม้อีกหลายชนิด อันน่าจะเป็นโอกาสดียิ่งสำหรับเกษตรกรในสองแผ่นดินชายแดนไทย-พม่า สองฟากแม่น้ำและขุนเขาตะนาวศรี