รมว. กระทรวงแรงงาน เปิดโครงการ “ครัวไทย สู่ครัวโลก” มุ่งพัฒนาทักษะพ่อครัว-แม่ครัวไทยโกอินเตอร์ ทำรายได้สูงถึงเดือนละ 4-9 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาหารไทย “ครัวไทย สู่ครัวโลก” ณ เวสต์เกตฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต จ.นนทบุรี การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาทักษะให้พ่อครัวและแม่ครัวไทย ให้ประกอบอาหารที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยและมีมาตรฐานเดียวกัน

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงานว่า นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกเป็นนโยบายที่ พล.ต.อ.อดุลย์ รมว. แรงงาน ให้ความสำคัญมาก ได้ปลุกปั้นมาตลอด วันนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว  อาหารไทยเป็นที่เชิดหน้าชูตาคนไทยมาตลอด สั่งสมกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนเป็นเอกลักษณ์ ที่ผ่านมา กิจการร้านอาหารไทยเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทั้งในสหภาพยุโรป อเมริกา ฯลฯ รัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้ร้านอาหารไทยรักษาความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติของอาหารไทย การจัดโต๊ะอาหาร ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน การจัดงานในวันนี้เพื่อประกาศศักดาให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า อาหารไทยที่สั่งสมจากบรรพบุรุษมาเป็นร้อยๆ ปีนั้น มีมาตรฐานและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์อย่างไร

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวเปิดงานว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องอาหารมายาวนาน และเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก อาหารไทยหลายเมนูมีชื่อเสียงติดระดับโลก เช่น แกงมัสมั่น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย แกงเขียวหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรต่างๆ ที่นำมาใช้ปรุงเพิ่มรสชาติอาหารและบำรุงสุขภาพด้วย

“ผมได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นำเรื่องครัวไทยสู่ครัวโลกไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของโครงการในวันนี้ กระทรวงแรงงานนำนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาทำให้เป็นจริง เพื่อผลักดันอาหารไทยสู่ครัวโลก ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพขึ้นมาได้” รมว. แรงงาน กล่าว

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากการสำรวจของกระทรวงแรงงาน พบว่า ในทวีปยุโรปเวลานี้มีร้านอาหารไทยกว่า 2,000 แห่ง ขณะที่ทั่วโลกมีร้านอาหารไทยกว่า 20,000 ร้าน และมีพ่อครัวคนไทยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 168 ประเทศ และเท่าที่ทราบ มีเรือสำราญอีก 55 ลำ ที่จ้างพ่อครัวแม่ครัวไทยไปประกอบอาหาร โดยมีรายได้เดือนละ 40,000-90,000 บาท สร้างรายได้เข้าประเทศไทยกว่าปีละ  2,000 ล้านบาท

“การจัดงานในวันนี้ นอกจากสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นการทบทวนว่า เราจะรักษามาตรฐานรสชาติอาหารไทยได้อย่างไร อย่าง แกงมัสมั่น ผัดไทย ต้องคงรสชาติอาหารไทยและเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการครัว ต้องจัดระบบอย่างไร ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานต้องการเพิ่มทักษะให้ความรู้ทางกฎหมายเพิ่มเติมแก่ผู้เข้ารับการอบรมในวันนี้ เพื่อรักษามาตรฐานอาหารไทยให้คงอยู่ตลอดไป และขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการประกวดแกงมัสมั่น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย” รมว. แรงงาน กล่าว

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานเครือข่าย อาทิ  กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการศึกษา สถาบันอาหาร มติชนอคาเดมี ฯลฯ ได้ร่วมกันตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบอาหารไทยกว่า 15,700 คน ประกอบด้วย การฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารไทย 13,000 คน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ประกอบอาหารไทย 2,500 คน และฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทยมืออาชีพ (Professional Thai Chef) จำนวน 200 คน

“สำหรับการเปิดงานครัวไทยสู่ครัวโลกในวันนี้เป็นงานสุดท้ายในฐานะ รมว. แรงงาน เพราะในวันนี้ตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง รมว. แรงงาน มีผลทางการกฎหมายในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) อย่างไรก็ดีกิจกรรมอย่างนี้เป็นการสร้างงานที่สำคัญ ตลาดแรงงานเปิดกว้างมาก และยังมีความต้องการอยู่ เป็นการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย ตนได้ขับเคลื่อนมาเดือนกว่าๆ วันนี้เป็นงานสุดท้ายที่ตนภูมิใจ” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาหารไทย “ครัวไทย สู่ครัวโลก” ในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดแสดงและสาธิตการปรุงอาหารไทยที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ 10 เมนู ได้แก่ มัสมั่น ผัดไทย แกงเขียวหวานไก่ ต้มยำกุ้ง ต้มยำไก่ พะแนงหมู หมูสะเต๊ะ ส้มตำ ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และปอเปี๊ยะทอด นอกจากนี้ ยังมีเมนูขนมไทยที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ คือ ข้าวเหนียวมะม่วง และทับทิมกรอบ

ส่วนกิจกรรมไฮไลท์ในงานครั้งนี้ คือ อบรม Professional Thai Chef จำนวน 1 รุ่น อบรมการประกอบอาหารไทย 15 เมนู มอบเงินรางวัลและเกียรติบัตรแก่ผู้ชนะการประกวดแข่งขัน แกงมัสมั่นไก่ (World Best Food Dish by CNN) มอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานระดับ 1 ที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 400 คน สาธิตการประกอบอาหารไทย โดยเยาวชนที่เข้าร่วม World Skill Kazan2019 และแกงมัสมั่นไก่ตำรับวังยะหริ่งอีกด้วย