“เพาะพันธุ์ปัญญา” งานวิจัยสร้างห้องเรียนเป็นมิตร เด็กมีทักษะคิดวิเคราะห์ ครูมีความสุข

ห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา “Active Learning” เพาะพันธุ์ปัญญา

สกว. กสิกรไทย เผยความสำเร็จโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา กว่า 6 ปี ในพื้นที่ 135 โรงเรียน สร้างห้องเรียนเป็นมิตร ครูเปลี่ยนวิธีสอน เด็กเปลี่ยนวิธีเรียน เสริมทักษะสอดรับทักษะศตวรรษที่ 21 พร้อมเดินหน้าขยายผลสู่พื้นที่จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย จัดกิจกรรมเยี่ยมชมปฏิบัติการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่โรงเรียนบ้านไร่ ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน 1 ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้วเด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีกิจกรรมสาธิตห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา “Active Learning” ห้องเรียนที่ถูกออกแบบให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุขและสนุก เป็นเจ้าของการสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูผู้สอนที่เข้าใจจริตการเรียนรู้ของนักเรียนที่หลากหลาย ออกแบบการสอนที่ให้นักเรียนทั้งหมดร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน และ กิจกรรม “ฝึกทักษะชีวิตบนการสอนโครงงานฐานวิจัย” ที่มีครูพี่เลี้ยงโค้ชคุณครูสอนวิชา “ทักษะชีวิตผ่านการสอนโครงงานฐานวิจัย”

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เปิดเผยข้อมูลว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาดำเนินการขึ้นมาตั้งปีแต่ปี 2556 และกำลังสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 135 โรงเรียน 842 ห้องเรียน ครูเข้าร่วมโครงการ 4,579 โครงการ และนักเรียนร่วมโครงการ 2,4612 คน  แม้ว่าโครงการจะกำลังสิ้นสุดลง แต่ในพื้นที่น่านได้รับความสนใจให้มีการขยายผล ภายใต้โครงการ “น่าน แซนด์บอกซ์” Nan Sandbox เนื่องจากภาคนโยบายเล็งเห็นว่าโครงการวิจัยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากร จังหวัดน่าน

ทั้งนี้ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดหลักสำคัญว่า การศึกษาที่แท้จริงควรพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้ดำรงชีวิตได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานความสนใจของแต่ละบุคคล มีการตั้งคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบที่ถูกต้อง ผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ที่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ โดยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามีรูปแบบการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัยจากเรื่องราวใกล้ตัว โดยครูเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือสำคัญ 3 ประการ คือ การตั้งคำถามกับผู้เรียน (ถามคือสอน) การชวนผู้เรียนสะท้อนความคิด (สะท้อนคิดคือเรียน) และการให้ผู้เรียนเขียนงานวิชาการและความคิดความรู้สึกขณะทำงาน (เขียนคือคิด) โดยผู้เรียนจะทำงานกลุ่มตั้งแต่กำหนดเรื่องราวที่สนใจ แล้วออกแบบวิธีการหาคำตอบด้วยการทำวิจัย จึงเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า RBL (Research-Based Learning)

ตลอด 6 ปีของการทำงาน เพาะพันธุ์ปัญญาเกี่ยวข้องกับครูประมาณปีละ 700 คน นักเรียน 4,000 คน มีโรงเรียนที่ผ่านโครงการทั้งสิ้น 135 โรง มีโรงเรียนต้นแบบ 16 โรง เพื่อทำหน้าที่หว่านขยายกล้าพันธุ์แห่งปัญญาที่เป็นผลพวงจาก 6 ปีของเพาะพันธุ์ปัญญา  ความสำเร็จสิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กคือ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะดังนี้ 1. ความกล้า (คิด พูด ทำ ทดลอง เสี่ยง) 2. ความอดทนมุ่งมั่น (รับมือกับการเริ่มใหม่เมื่อผิด การแก้ไข และทำซ้ำได้ดีขึ้น) 3. ทำงานเป็นระบบ (มีผังกระบวนการ ทำตามขั้นตอน มอบหมายความรับผิดชอบ ตรวจประเมิน และปรับแก้) 4. มีเหตุผลและวุฒิภาวะ (คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ควบคุมอารมณ์ได้เมื่อคิดต่าง) 5. สนใจปรากฏการณ์ในชุมชน (กล้าเผชิญโลกที่แปลใหม่จากความเคยชิน สนใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดในชุมชน) 6. เปลี่ยนวิธีเรียน (สืบค้นมากกว่าฟัง ทดลองก่อนตัดสินใจเชื่อ เรียนรู้ด้วยความสนุก มีจิตอาสาในสิ่งที่ตนเองถนัด กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้)

นายรัตน์ จันทโคตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไร่

ด้าน นายรัตน์ จันทโคตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไร่ ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนบ้านไร่เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเมื่อปี 2561 โดยดำเนินโครงการกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 19 คน โดย คุณครูปิ่นรัก วิยา และ คุณครูทัศนีย์ จันทโคตร ครูแกนนำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือได้นำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนเพาะพันธุ์ปัญญามาใช้ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ดำเนินโครงงานฐานวิจัยภายใต้หัวข้อหลักเรื่องข้าวหลาม ซึ่งแบ่งเป็นโครงงานในสาระวิชาวิทยาศาสตร์ 3 เรื่อง สาระวิชาสังคมศาสตร์ 1 เรื่อง สาระวิชามนุษยศาสตร์ 1 เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงส่งผลเห็นได้ชัดในตัวเด็ก อย่างกรณีของ เด็กหญิงปิยอร นันศิริ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนบ้านไร่ ที่ได้ถูกถ่ายทอดกระบวนการคิด และการเรียนรู้ของกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาผ่านครูแกนนำ เมื่อนำเสนอผลงานโครงงานวิจัยของตัวเองผ่านการประชุมวิชาการของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา พบว่ามีความกล้าแสดงออก มีปฏิภาณและไหวพริบที่ดีในการตอบคำถาม ซึ่งเป็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้แบบองค์รวมของปิยอร นอกจากนี้ สัมฤทธิผลที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญายังทำให้โรงเรียนบ้านไร่ ได้รับรางวัล ทรงคุณค่า สพฐ. ด้านการบริหารจัดการยอดเยี่ยมโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการยังมีคะแนนสอบ ONET เพิ่มขึ้นอีกด้วย