ขนส่งทุเรียนไทย-จีน ผ่านฉลุย หลังกระทรวงเกษตร จัดทำพิธีสารเปิดเส้นทางการขนส่งผลไม้ไทย-จีน ทางรถยนต์เพิ่มอีก 2 เส้นทาง

ทุเรียนหมอนทอง

ขนส่งทุเรียนไทยไปจีนผ่านฉลุย หลังกระทรวงเกษตร จัดทำพิธีสารเปิดเส้นทางการขนส่งผลไม้ไทย-จีน ทางรถยนต์เพิ่มอีก 2 เส้นทาง ด้านผู้ส่งออก แนะกระทรวงเกษตรเร่งเปิดเจรจากรมศุลกากรจีน เพื่ออำนวยความสะดวกส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในระยะยาว

สืบเนื่องจากปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีนในช่วงเดือนเมษายน 2562 โดยใช้เส้นทางขนส่งทางบกผ่านชายแดนไทย-ลาว-เวียดนาม เพื่อเข้าจีนนั้น เกิดความล่าช้า เพราะรถคอนเทนเนอร์ความเย็นที่บรรจุทุเรียนไทยต้องจอดรอคิวที่ชายแดนฝั่งเวียดนาม ณ ด่านโหย่วอี้กวนนานกว่าปกติ 3-4 วัน ส่งผลต่อคุณภาพสินค้า เพราะชายแดนเวียดนามมีปลั๊กไฟไม่เพียงพอสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ความเย็น ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ขาดแคลนรถหัวลากมารับสินค้าที่รอเปลี่ยนหัวลากที่ฝั่งลาว ทำให้สินค้าติดค้างที่ลาวอีก 3-4 วัน

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว กงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจวประสานผู้นำเข้าและศุลกากรจีนเพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ปัญหาความล่าช้าดังกล่าวมีสาเหตุจาก

1. จีนจัดระเบียบการค้าชายแดนใหม่ โดยจัดทำระบบ Single Window ซึ่งรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของรถขนส่งสินค้าและระบบการแจ้งสำแดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบล่วงหน้า (ชิปปิ้งเป็นผู้กรอกข้อมูล) และใช้ระบบถ่ายรูปตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ตรงกันในการตรวจปล่อยรถอัตโนมัติเมื่อรถถึงด่านโหย่วอี้กวน เพื่อให้ตรวจปล่อยรถได้รวดเร็ว โดยเริ่มทดสอบระบบในเดือนเมษายน 2562 และเริ่มใช้จริง ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 แต่ปรากฏว่าระบบการเชื่อมโยงข้อมูลยังไม่สมบูรณ์และระบบยังไม่เสถียร ทำให้เมื่อมีรถจำนวนมากมาถึงด่านไม่สามารถอ่านข้อมูลเพื่อตรวจปล่อยได้ ต้องวนไปเข้าคิวใหม่และตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง การตรวจปล่อยจึงล่าช้ามาก ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะด่านฝั่งเวียดนามเท่านั้น แต่เกิดที่ด่านฝั่งจีนเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหารถขาดช่วงจากจีนเพื่อมารับสินค้าไทยด้วย นอกจากนี้ การกรอกข้อมูลรถในระบบใหม่นี้มีการจำแนกรถหลายรูปแบบ ทำให้เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่จีนกับผู้กรอกข้อมูลและมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันกับข้อมูลที่ระบบตรวจปล่อยระบุไว้ส่งผลให้ไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจปล่อยรถอัตโนมัติได้

2. ปัญหาด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากถนนจากเวียดนามและจีนค่อนข้างเล็กแคบ มีแค่ 2 เลน แต่มีช่วงเดือนเมษายน มีผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนเข้าจีนเป็นจำนวนมากกว่าปีก่อนหน้าหลายเท่าตัว ทำให้ช่วงสินค้าเข้ามากจะเข้าจุดรอคิวนี้ใช้เวลา 2 วัน ก่อนเข้าด่านจีน และ

3. การจัดพื้นที่การเดินรถในด่านโหย่วอี้กวนเอง ซึ่งมีเส้นทางเดินรถขาเข้าและออกอยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้รถที่ถูกสุ่มตรวจจากศุลกากรจีนต้องใช้เวลารอคิวเช่นกัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น รัฐบาลท้องถิ่นเมืองผิงเสียงได้ใช้ระบบ manual แทน ในระหว่างที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ดีขึ้น รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้ร่วมกับศุลกากรจัดอบรมการใช้ระบบใหม่ให้กับชิปปิ้งเพื่อกรอกข้อมูลให้ถูกต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งพบว่าปัญหาคลี่คลายในระดับหนึ่ง

สถิติการนำเข้าผลไม้ไทยในนครกวางโจว

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สำหรับการสุ่มตรวจผลไม้ไทยนั้นไม่ได้ถูกสุ่มตรวจเข้มงวดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจและเป็นข่าวว่าเป็นสาเหตุของปัญหาการจราจรติดขัดที่ด่านโหย่วอี้กวน ในข้อเท็จจริงแล้วสินค้าจะถูกสุ่มตรวจมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับประวัติการตรวจพบปัญหาของบริษัทนั้นๆ ส่วนกรณีการตรวจพบแมลงศัตรูพืชในทุเรียนไทยราว 1,000 ครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์เก่าที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดย กรมวิชาการเกษตร ได้จัดระบบควบคุมคุณภาพเข้มงวด รวมทั้งเร่งให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรขึ้นทะเบียน GMP และ GAP ซึ่งจีนพอใจในระบบควบคุมที่ไทยดำเนินการ เนื่องจากผลการตรวจพบแมลงศัตรูพืชลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ล้ง ผู้ประกอบการส่งออกหรืออื่นๆ ให้ความสำคัญและเข้มงวดการควบคุมคุณภาพทุเรียนและผลไม้ต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดเป็นการรักษาและขยายตลาดส่งออกผลไม้ของไทย

“กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอกับจีนในการประชุมคณะกรรมการสุขอนามัยพืชไทย-จีน ครั้งล่าสุดและการประชุมอื่นๆ เพื่อเปิดเส้นทางผลไม้ส่งออกจากไทยไปจีน ผ่านเส้นทางบกเพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง R12 และเส้นทางเข้าด่านตงซิง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มด่านส่งออกฝั่งไทย คือ นครพนม และเพิ่มด่านนำฝั่งจีนเข้าคือด่านตงซิงซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการจัดทำและหารือรายละเอียดของพิธีสารก่อนลงนามต่อไป เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางตลาดส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในอนาคตอันใกล้นี้” นางสาวดุจเดือน กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจาก นายสกรรจ์ แสนโสภา กงสุลพาณิชย์ ประจำเมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี และ นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว กงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาความล่าช้าในการส่งออกอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ ทุเรียนไทยสามารถส่งเข้าจีนได้มากกว่า 2 พันตู้แล้ว โดยทั่วไป รถคอนเทนเนอร์สามารถบรรจุทุเรียนได้ 20 ตัน มูลค่าต่อตู้ประมาณ 1.8 ล้านบาท รวมค่าขนส่งตกประมาณคันละ 2 ล้านกว่าบาท แม้ปัญหาความล่าช้าในการขนส่งทำให้ทุเรียนไทยสุกเสียหายจำนวนมาก แต่ยังสามารถขายได้ในราคาถูก ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก แต่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขายทุเรียนไปหมดแล้ว

หลังจากเกิดปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทุเรียนไทยเข้าประเทศจีนในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้ส่งออกไทยก็ปรับตัวหันไปขนสินค้าเข้าจีน โดยใช้เส้นทาง R3A แทน (ด่านเชียงของ ไทย-ด่านห้วยทราย ของ สปป.ลาว – ด่านบ่อหาน ของจีน) รวมทั้งขนส่งสินค้าทางเรือแทน ทุกวันนี้ ไทยสามารถส่งออกทุเรียนหลากหลายชนิดส่งไปขายตลาดจีนได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2560 มียอดส่งออกทุเรียนไทยไปขายตลาดจีนประมาณ 4 แสนตัน ปี 2561 ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนตัน ส่วนปีนี้ ไทยส่งออกทุเรียนได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20-30 % เมื่อเทียบกับปีก่อน

“คนจีนชอบทุเรียนไทยมาก ขายได้ทุกสายพันธุ์ ปัจจุบันมีประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่จีนยอมให้ส่งออกทุเรียนไปขายจีนได้ แม้วันนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นเวียดนาม จะผลิตทุเรียนและส่งออกได้มากขึ้น แต่ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านศัตรูพืช ทำให้พ่อค้าเวียดนามหัวใสบางรายใช้ชื่อทุเรียนไทยสวมรอยส่งเข้าไปขายตลาดจีน นี่เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ทางการจีนจัดระเบียบการนำเข้าสินค้า ณ ด่านโหยวอี้กวน อย่างเข้มงวดในปีนี้ ” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร  ทำหน้าที่ประชุมเจรจาบันทึกข้อตกลงร่วมทางด้านสุขอนามัย กับกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) เป็นประจำทุกๆ 2 ปี ต่อมาหน่วยงาน AQSIQ ถูกยุบไปอยู่ภายใต้กรมศุลกากรของจีน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนจีนในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ของไทยควรเร่งติดต่อเจรจากับกรมศุลกากรของจีน แต่งตั้งผู้ประสานทำงานระหว่างด่านไทย-จีน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นในอนาคต