ถุงเพาะชำต้นไม้ จากเปลือกกล้วย

ประเทศไทย มีการเพาะปลูกพืชจำนวนมาก ทำให้ประสบปัญหาปริมาณขยะพลาสติกจากภาคการเกษตร เนื่องจากเกษตรกรนำเอาพลาสติกมาใช้เป็นถุงเพาะต้นกล้าหรือถุงเพาะชำพืช เมื่อนำต้นกล้าไปปลูกลงดิน ถุงเพาะต้นกล้าที่ทำจากพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายในดินได้ จึงจำเป็นต้องฉีกถุงเพาะต้นกล้าออกเสียก่อนที่จะนำต้นกล้าลงปลูกในดิน 

ถุงเพาะชำต้นไม้จากเปลือกกล้วย

ซึ่งการกระทำดังกล่าว ส่งผลทำให้รากของต้นกล้าเกิดการฉีกขาด ต้นกล้าอาจมีการเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเศษถุงเพาะต้นกล้าพลาสติกยังกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกที่เหลือกลายเป็นขยะที่กำจัดยากและเกิดเป็นมลภาวะทางอากาศได้ หากนำไปกำจัดโดยการเผา

แผ่นห่อไบโอ จากเปลือกกล้วย

นายณัฐวุฒิ วงศ์บุรุษ นายธนกฤต ดิษฐบรรจง และ นายเอนก นารีจันทร์ ทีมนักศึกษาแผนกปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด อาชีวศึกษาจังหวัดระยอง เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว พวกเขาจึงเกิดแนวคิดในการนำเปลือกกล้วยน้ำว้ามาสกัดเซลลูโลส เพื่อใช้เป็นแผ่นห่อวัสดุทางการเกษตร ซึ่งเป็นทางหนึ่งของการจัดการเชิงรุกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ลดค่าใช้จ่ายของการกำจัดขยะและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ

เจ้าของผลงาน แผ่นห่อไบโอจากเปลือกกล้วย

วิธีการสกัดเซลลูโลส ของทีมนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ทำตามได้ไม่ยาก เริ่มจากหั่นเปลือกกล้วย จากนั้น นำเปลือกกล้วยไปอบก่อน แล้วจึงนำเปลือกกล้วยที่อบเสร็จไปผสมเอทานอล จากนั้นจึงค่อยนำไปต้ม และนำเซลลูโลสที่ได้ไปอบเพื่อขึ้นรูป

แผ่นห่อไบโอจากเปลือกกล้วย มีคุณสมบัติเด่นที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายช่องทาง เนื่องจาก แผ่นห่อไบโอจากเปลือกกล้วยมีความแข็งแรง สามารถนำไปใช้เพาะชำพืชได้ ขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและลดค่าใช้จ่ายของการกำจัดขยะ สามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้อีกมากมายในอนาคต

แผ่นห่อไบโอจากเปลือกกล้วย มีลักษณะเด่นตอบโจทย์ สินค้านวัตกรรมใหม่ ที่ตลาดต้องการหลายประการ ได้แก่

กล้วยน้ำว้า วัตถุดิบสำคัญในการผลิต
  1. เป็นวัสดุทดแทนที่สามารถย่อยสลายได้
  2. ช่วยเพิ่มมูลค่าเปลือกกล้วย ซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งในธรรมชาติ
  3. เป็นสินค้าปลอดภัยสำหรับสิ่งแวดล้อม
  4. สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ในรูปแบบถุงเพาะชำปลูกต้นไม้ กระถางปลูกต้นไม้ ถุงขยะ ฯลฯ
  5. แผ่นห่อย่อยสลายได้ทางชีวภาพนี้ ใช้เปลือกกล้วยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิต โดยปรับปรุงคุณสมบัติของเซลลูโลส และกระบวนการในขั้นตอนการผสม การผลิตถุงเพาะชำโดยการออกแบบให้ได้ถุงที่มีเนื้อเนียนเรียบและแข็งแรง

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า เปลือกกล้วยน้ำว้า ที่มีระยะสุกที่ 5 มีปริมาณเซลลูโลสมากที่สุด คือ 63.02 เปอร์เซ็นต์ และความพึงพอใจของผู้ทดลองใช้ถุงเพาะชำจากเปลือกกล้วยน้ำว้า มีความพึงพอใจถุงเพาะชำไบโอจากเปลือกกล้วยน้ำว้า อยู่ในระดับดี สินค้าตัวนี้จึงเป็นสินค้าทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการร้านขายต้นไม้ เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไป ในการนำไปใช้เพาะพันธุ์ ปลูกพืช เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ลดค่าใช้จ่ายของการกำจัดขยะในสิ่งแวดล้อม เพราะเกษตรกรสามารถนำถุงเพาะชำดังกล่าวไปปลูกพร้อมกับต้นกล้าในแปลงปลูกได้ทันที โดยไม่ต้องฉีกถุง จึงไม่กระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

สินค้าตัวอย่างถุงเพาะชำจากเปลือกกล้วย

ประการต่อมา เปลือกกล้วยน้ำว้า สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ดี ที่สำคัญเป็นวัตถุดิบที่หาง่าย เพราะคนไทยปลูกกล้วยน้ำว้าอยู่ทั่วไป เชื่อว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้เข้าตาคนไทยที่รักสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน หากชุมชนหรือหมู่บ้านไหนที่มีอาชีพปลูกกล้วยน้ำว้า หรือแปรรูปกล้วยน้ำว้าเป็นหลัก ก็สามารถนำไอเดียนี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลือกกล้วยที่เคยเป็นขยะเหลือทิ้งให้กลายเป็นสินค้าตัวใหม่ได้ไม่ยาก

ลักษณะถุงเพาะชำ จากเปลือกกล้วย
แผ่นเซลลูโลส ที่สกัดจากเปลือกกล้วย
แผ่นห่อไบโอ จากเปลือกกล้วย