นักวิจัยเผย เพิ่มคนอุตสาหกรรม-บริการ 8 หมื่นคน ไทยจึงหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

รศ.ดร.สมชาย สุขสิริเสรีกุล นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เผยข้อมูล ต้องเพิ่มทุนมนุษย์ภาคอุตสาหกรรม-บริการ 8 หมื่นคน หรือเพิ่มร้อยละ 2.8 ต่อปี ไทยจึงหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอีก 19 ปีข้างหน้า

นับจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยกลับไม่เคยเติบโตได้อย่างที่เคยเป็น ในช่วงระหว่างปี 2540-2551 อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ปีละ 5.1% สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ในช่วงระหว่างปี 2552-2559 เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียงแค่ 2.9% เท่านั้น ศักยภาพในการเติบโตที่ลดต่ำลงทำให้รายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นช้าตามไปด้วย ระหว่างปี 2540-2559 รายได้ต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2 เท่า ภาวะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับขึ้นไปประเทศรายได้สูง ติดอยู่ในหล่มที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” การนำพาประเทศไปสู่การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ยังคงเป็นโจทย์สำคัญให้กับรัฐบาลที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าไทยจะเป็นประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ. 2576 ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบายได้จัดเวที “การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยนวัตกรรมและการพัฒนาทุนมนุษย์” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ โดย รศ.ดร.สมชาย สุขสิริเสรีกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยข้อมูลจากงานวิจัย เรื่อง “อุปทานของมนุษย์ ปัจจัยในการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางของประเทศไทย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอุตสาหกรรม สกสว. ว่าการที่ไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้นั้นต้องผลิตทุนมนุษย์ทั้งในภาค 3.0 (ที่เน้นภาคการส่งออก) จำนวน 70% และ ภาค 4.0 (ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม) จำนวน 30% จะเป็น 4.0 ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศที่มีรายได้สูงว่าไม่ได้เพิ่มทุนมนุษย์ 3.0 หรือ 4.0 เพียงอย่างเดียว โดยไทยจะสามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ในอีก 19 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ. 2581 (ล่าช้ากว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ 4 ปี) เราต้องมีจีดีพี 28 ล้านล้านบาท ถ้าผลิตทุนมนุษย์ 3.0 เพิ่ม 66,064 คน (70%) ทุนมนุษย์ 4.0 เพิ่ม 16,303 คน (30%) รวม 82,367 คน ต่อปี หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 ต่อปีในช่วงปี 2560-2581 โดยคำว่า 4.0 ไม่ใช่คำใหม่ในบริบทโลก เพียงแต่ประเทศอื่นใช้คำว่านวัตกรรม

สถาบันการศึกษาควรเปิดสาขาวิชาที่รองรับการทำงานด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 ต่อปี ในปัจจุบันให้ได้เป็นร้อยละ 2.8 ต่อปี ใน 15 สาขาอุตสาหกรรมและบริการ โดยต้องมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาการขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 สาขาบริการโรงแรมและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาบริการอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างควรลดลงร้อยละ 69 สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 17 นอกจากนี้ การผลิตบุคลากรในสาขาการผลิตเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสาขาการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง สาขาบริการคอมพิวเตอร์ และสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มควรได้รับเงินทุนอุดหนนเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง

นอกจากนี้ ควรมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกด้านนวัตกรรม จำนวน 45 คน ต่อผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 100 คน ในสาขาทั้ง 1. สาขาการผลิตยานยนต์ สาขาการผลิตอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร 2. สาขาบริการโรงแรมและท่องเที่ยว ต้องเพิ่มจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในอัตราสูงกว่าปัจจุบันอย่างเร่งด่วน 3. สาขาบริการอสังหริมทรัพย์และก่อสร้างและสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มควรเพิ่มจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและเอก แต่ลดจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. และอนุปริญญาได้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรต่อเนื่องระดับปริญญาตรี เนื่องจากใช้เวลาเรียนเพียงครึ่งหนึ่งของผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปกติ

“การเพิ่มทุนมนุษย์ให้ตรงตามสาขาที่กล่าวเบื้องต้นจะทำให้ไทยหลุดการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และช่วยแก้ปัญหาคนทำงานต่ำกว่าวุฒิ ทำงานไม่ตรงสาขา และการที่คนไม่เข้าตลาดแรงงาน” รศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย