บ้านโนนเขวา ขอนแก่น ปลูกพืชน้ำน้อย สู้ภัยแล้ง โกยรายได้หลักพันต่อวัน

ในปี 2562 ประเทศไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 89 แห่ง จากจำนวนทั้งประเทศ 412 แห่ง มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับต่ำมาก นอกจากนี้ เขื่อนขนาดกลาง 13 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่เหลือน้ำสำหรับใช้งาน ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้อุณหภูมิปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1-2 องศาเซลเซียส ทำให้เมืองไทยเสี่ยงเผชิญภาวะร้อนแล้งยาวนานกว่าทุกปี

เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เจอวิกฤตภัยแล้ง

ศรแดง แนะปลูก 7 พืชน้ำน้อย สู้ภัยแล้ง

เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ตรา “ศรแดง” จึงเปิดตัว โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” ได้แก่ แตงกวา ฟักทอง แตงโม ข้าวโพด แฟง ถั่วฝักยาว และผักใบ ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวไว สร้างรายได้เร็ว พืชน้ำน้อยกลุ่มนี้จะใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าการทำนาถึง 2 เท่า แต่ให้รายได้มากกว่าการทำนานถึง 5 เท่าตัว

คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด กล่าวว่า บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด เล็งเห็นถึงปัญหาใหญ่ของเกษตรกร จึงได้มี โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเคยมีโครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย” มาแล้ว ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง

“บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด เห็นว่าพืชน้ำน้อยจะมีประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้น้อยกว่าการทำนาถึง 2 เท่า เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว ภายใน 2 เดือน ก็สามารถสร้างรายได้ได้แล้ว เทียบกับการทำนาที่ต้องใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน และเกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงกับการทำนาที่เราก็รู้อยู่แล้วว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้น้อยขนาดไหน” คุณวิชัย กล่าว

พืชน้ำน้อย 7 ชนิด ที่ศรแดงแนะนำให้เกษตรกรปลูกสู้ภัยแล้ง

 

สำหรับ โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” นั้น ทางบริษัทแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชน้ำน้อยจำนวน 7 ชนิด ได้แก่

1. ข้าวโพด เช่น ข้าวโพดหวานลูกผสม พันธุ์จัมโบ้สวีท ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 70 วัน สร้างรายได้ 16,000 บาท ต่อไร่

2. แฟง เช่น แฟงไส้ตันลูกผสม พันธุ์ปิ่นแก้ว ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 60-65 วัน สร้างรายได้ 40,000 บาท ต่อไร่

3. แตงโม เช่น แตงโมลูกผสม พันธุ์จอมขวัญ ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 วัน สร้างรายได้ 35,000 บาท ต่อไร่

4. ฟักทอง เช่น ฟักทองลูกผสม พันธุ์ข้าวตอก 573 ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 75 วัน สร้างรายได้ 24,000 บาท ต่อไร่

5. แตงกวา แตงร้าน เช่น แตงกวาลูกผสม พันธุ์ธันเดอร์กรีน ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 30-32 วัน สร้างรายได้ 39,000 บาท ต่อไร่

6. ถั่วฝักยาว เช่น ถั่วฝักยาว พันธุ์ลำน้ำพอง ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 วัน สร้างรายได้ 60,000 บาท ต่อไร่

7. กลุ่มผักใบ เช่น ผักบุ้ง พันธุ์ยอดไผ่ 9 ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 20-21 วัน สร้างรายได้ 43,200 บาท ต่อไร่

เกษตรกรบ้านโนนเขวาที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชน้ำน้อย

“สำหรับ โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” ในปีนี้ทางศรแดงได้จัดเตรียมทีมงานถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Transfer) ซึ่งเป็นทีมงานที่พร้อมจะมอบองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชน้ำน้อย ตั้งแต่การหยอดเมล็ด การใส่ปุ๋ย การดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวที่ให้เกษตรกรสามารถไปปฏิบัติได้จริง และในปัจจุบันทางทีมถ่ายทอดความรู้ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การสื่อสาร และให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” คุณวิชัย กล่าวในที่สุด

หากเกษตรกรสนใจ โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง” สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของศรแดง ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เช่น Facebook เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง Line (@sorndaengseed) และ Website https://growhow.eastwestseed.com/th/th

เปิดตัว โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง

บ้านโนนเขวา พลิกผืนนาปลูกพืชน้ำน้อย

พื้นที่บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชน้ำน้อย สู้ภัยแล้ง ที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด พาสื่อมวลชนเข้าไปเยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการดังกล่าว

เดิมทีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นี้เคยทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ปัญหาใหญ่ที่พบเป็นประจำทุกปีคือ เรื่องน้ำที่มีไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุน ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพืชน้ำน้อยแทน โดยรวมกลุ่มกัน ในนาม “กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา” กลุ่มนี้เน้นปลูกผักกลุ่มผักใบ เพราะใช้น้ำน้อยกว่า เก็บเกี่ยวได้ไวกว่า ปลูกได้ทั้งปี มีตลาดรองรับ

คุณคำปั่น โยแก้ว เกษตรกรตัวอย่างจากกลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านโนนเขวา ไม่มีชาวบ้านทำนาเลย เพราะว่าทำนาต้องใช้น้ำมาก ถ้าทำนาบ้านเดียว อีกสิบบ้านก็ไม่มีน้ำทำการเกษตรกัน ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพืชน้ำน้อยเป็นทางเลือก”

เมื่อปี 2561 คุณคำปั่น ทำนาบนเนื้อที่ 5 ไร่ ลงทุนไปประมาณ 12,000 บาท แต่เนื่องจากนาข้าวต้องใช้น้ำเยอะ และการดูแลอย่างทั่วถึง ประกอบกับภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่ดี เมล็ดข้าวลีบ ไม่ได้น้ำหนัก ก็ขาดทุนไป นอกจากนี้ คุณคำปั่น ยังแบ่งที่ดินอีกแปลง เนื้อที่ 4 ไร่ ปลูกพืชน้ำน้อย ประเภทผักใบ เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม ผักชี กวางตุ้ง สลับกันไป

ผักคะน้ายอด เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งปี

“ผมปลูกผักบนพื้นที่ 4 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ 80% จะรวบรวมส่งขายห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ และอีก 20% ขายในตลาดสด มีรายได้ตกวันละพันกว่าบาท พืชน้ำน้อยสามารถสร้างรายได้ให้ผมได้เกือบเดือนละ 30,000 บาท และผมสามารถปลูกได้ทั้งปี สร้างรายได้ให้ผมทั้งปี ผิดกับการทำนาที่ปีหนึ่งผมได้เงินรอบเดียว แถมยังต้องเสี่ยงกับภาวะน้ำน้อยอีก” คุณคำปั่น กล่าว

เจ้าหน้าที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ให้ความรู้เกษตรกร
ผักบุ้ง สินค้าขายดี ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 12 บาท