นางแล สับปะรดดั้งเดิมของเชียงราย ยังอนุรักษ์พันธุ์ไว้ แปรรูปจำหน่าย ราคาดี

เดี๋ยวนี้ สับปะรดที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย กลายเป็นสับปะรดภูแลไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะไปในฤดูไหน ก็หาซื้อสับปะรดภูแลรับประทานได้ง่าย มีวางขายให้เห็นตลอดสองข้างทางในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หรือแม้แต่ตลาดในพื้นที่อื่น ก็ยังหาซื้อได้ง่ายและพบได้ง่ายกว่าสับปะรดนางแล ซึ่งเป็นสับปะรดพันธุ์ดั้งเดิมของตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย แท้ๆ

คุณดวงดาว แสนโกษา

ที่ตำบลนางแล ถิ่นกำเนิดเดิมของสับปะรดนางแล ถูกเปลี่ยนพื้นที่ปลูกไปปลูกสับปะรดภูแลกันเกือบหมด เหลือเกษตรกรไม่กี่รายที่ยังคงปลูกสับปะรดนางแลไว้

คุณดวงดาว แสนโกษา เกษตรกรปลูกสับปะรดนางแล บ้านแม่ปูคา ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในเกษตรกรอีกหลายราย ที่ยังคงปลูกสับปะรดพันธุ์นางแลไว้ เพื่อเก็บรักษาสายพันธุ์ แม้ว่าสับปะรดพันธุ์นางแลไม่ได้รับความนิยมแล้วก็ตาม

คุณดวงดาว เล่าว่า ก่อนหน้าที่สับปะรดภูแลจะเข้ามายึดพื้นที่ปลูกและตลาดค้าสับปะรดของจังหวัดเชียงรายไปเกือบหมด สับปะรดนางแล เป็นที่เลื่องชื่อของจังหวัดเชียงรายมาก หากจะรับประทานสับปะรดนางแล ต้องมาที่จังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ปัจจุบัน แม้จะมาถึงจังหวัดเชียงราย ก็ใช่ว่าจะได้รับประทานสับปะรดนางแล เพราะหากมาไม่ตรงฤดูการผลิต ก็ไม่มีให้รับประทาน และอาจได้สับปะรดนางแลที่ไม่สุกพอดี รสชาติไม่ได้ตามสายพันธุ์ที่เหมาะสม

สับปะรดนางแลผลสด แต่สียังไม่สวย

ในยุคที่สับปะรดนางแลยังเป็นพืชที่เกษตรกรตำบลนางแลปลูกจำนวนมาก เอกลักษณ์เฉพาะตัวของสับปะรดนางแล คือ สีน้ำผึ้ง หวานฉ่ำ กลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง ถูกนำเข้ามาปลูกจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2480 ความหวานฉ่ำ สีน้ำผึ้ง และมีกลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง ทำให้สับปะรดนางแลเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค แต่ข้อเสียของสับปะรดนางแล คือ มีรอบการผลิตเพียงครั้งเดียวต่อปี โดยจะให้ผลผลิตในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมเท่านั้น หากเก็บผลผลิตก่อนหน้าจะไม่ได้ความฉ่ำเนื้อของสับปะรด และกลิ่นไม่หอม สีจะออกขาวไม่เป็นสีน้ำผึ้ง และไม่สามารถผลิตได้มากกว่า 1 รอบ ต่อฤดู

สับปะรดนางแลผลสด รอปอก

ในอดีตผลผลิตที่ออกสู่ตลาดสามารถขายได้หมด เมื่อสับปะรดภูแลเข้ามาแทนที่ ทำให้ความนิยมในสับปะรดนางแลลดลง แต่ยังมีผู้บริโภคที่ชื่นชอบรสชาติของสับปะรดนางแลอยู่ ด้วยข้อจำกัดของตัวสับปะรดนางแลที่ช้ำง่ายเมื่อปอกผลสดขาย เก็บไว้ได้ไม่นานสีจะเปลี่ยน มีเส้นใยในเนื้อสับปะรดค่อนข้างมาก ทำให้การขยายฐานการขายทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องมีระยะเวลาขนส่ง กว่าจะถึงมือผู้บริโภค สับปะรดจะเกิดความเสียหายจำนวนมาก

แต่เพราะมีกลุ่มผู้บริโภคยังต้องการบริโภครสชาติของสับปะรดนางแลอยู่ คุณดวงดาว จึงเป็นหนึ่งในเกษตรกรอีกไม่กี่ราย ที่ปลูกสับปะรดนางแลไว้เพื่ออนุรักษ์และการค้า

เมื่อผู้บริโภคจำนวนมาก หันไปเทคะแนนความนิยมให้กับสับปะรดภูแล และพันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ และจำหน่ายออกสู่ตลาด ทำให้ผลผลิตสับปะรดนางแลที่ได้เหลือจำนวนมาก เกษตรกรจำเป็นต้องขายในราคาถูก เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียทิ้ง แนวคิดการนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุการจำหน่ายของสับปะรดนางแลได้นาน จึงมีขึ้น

สับปะรดภูแลอบแห้งในแพ็กเกจ

คุณดวงดาว เล่าว่า ปี 2550 จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันหลายคน จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูแลบ้านแม่ปูคา ขึ้น เพื่อหวังจะช่วยผลผลิตสับปะรดที่ขายไม่ได้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และไม่เหลือทิ้งเป็นต้นทุนที่เข้าเนื้อตัวเกษตรกร แนวคิดการแปรรูปสับปะรด เพื่อเก็บไว้จำหน่ายจึงเป็นแนวคิดที่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดนางแลเห็นด้วย

การแปรรูป ทำโดยการอบ ในระยะแรกกลุ่มวิสาหกิจฯ เล็กๆ ของเกษตรกรที่ต้องการแปรรูปสับปะรดให้มีระยะเวลาการจำหน่ายที่ยาวนาน ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุน จึงเริ่มจากการฝานสับปะรดเป็นชิ้น นำไปล้างน้ำที่ผสมเกลือ ใช้ฟิล์มใสม้วนรอบเนื้อสับปะรดไว้ นำไปตากแดด 2-3 วัน เมื่อชิ้นสับปะรดแห้งก็นำไปจำหน่าย รสชาติที่ได้เป็นความหวานธรรมชาติจากเนื้อสับปะรด ก็สามารถขายได้ แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

อีกแพ็กเกจหนึ่งของสับปะรดอบแห้ง

ต่อมามีการพัฒนาการอบ โดยใช้ตู้พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ระยะเวลาในการอบลดลงเหลือเพียง 1 วัน และ 1 คืน ในช่วงเวลากลางคืนเปิดไฟช่วยในการอบ

นอกจากจะนำสับปะรดนางแลมาฝานอบแห้งแล้ว ยังนำสับปะรดภูแลบางส่วนมาแปรรูปในแบบเดียวกัน ทั้งยังนำผลสดมาปอกขาย และคั้นน้ำจำหน่ายสด เป็นรายวัน หรือรับออเดอร์เป็นอาหารว่างของการจัดงานเลี้ยงในจังหวัด เป็นการส่งเสริมการขายได้มากขึ้นด้วย

สำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมเรื่องของเครื่องอบพลังแสงอาทิตย์ และส่งเสริมการตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ เพื่อขยายตลาดให้กับเกษตรกร โดยพาไปออกงานตั้งร้านค้าในงานต่างๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีลูกค้าออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก

การอบสับปะรด ไม่ใช่เรื่องยาก ใช้เวลาไม่มาก แต่จำเป็นต้องใช้สับปะรดปริมาณสูง

สับปะรดนางแลอบแห้ง

สับปะรด 100 กิโลกรัม เมื่อปอกเปลือกออก ฝาน เหลือน้ำหนักเพียง 40 กิโลกรัม เมื่อผ่านการอบเป็นที่เรียบร้อย เหลือจำหน่ายได้เพียง 6-7 กิโลกรัม เท่านั้น

เมื่อถามว่า คุ้มไหม คุณดวงดาว กล่าวว่า ไม่คุ้ม แต่ต้องทำ ดีกว่าปล่อยให้สับปะรดเน่าเสียทิ้งไปไม่มีประโยชน์

ออเดอร์สับปะรดอบจากลูกค้า ไม่ได้มีทุกวัน คุณดวงดาว บอก

สินค้าที่ผลิตออกมาระบายออกด้วยการออกงานตามสถานที่ต่างๆ และพยายามปรับปรุงแพ็กเกจให้สะดุดตา ในกลุ่มวิสาหกิจฯ มีสมาชิก 13 คน หากไม่มีออเดอร์ก็ต่างคนต่างทำอยู่ที่บ้าน เมื่อมีออเดอร์มาก็นำมารวมกันและนำไปจำหน่าย

สับปะรดอบที่แปรรูปออกมา จัดใส่แพ็กเกจไว้ 3 แพ็กเกจ ตามขนาดที่คาดว่าลูกค้าต้องการ นำไปทานเล่น หรือนำไปแช่น้ำอุ่น รับประทานเป็นชาสับปะรดก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผลสดสับปะรดนางแลให้ได้คุณภาพ รสชาติแท้จริงๆ คุณดวงดาว แนะนำว่า ต้องมาให้ถึงถิ่น คือ ที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และควรมาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี หากไม่ใช่ช่วงนี้ มีสับปะรดนางแลจำหน่าย สามารถซื้อรับประทานได้ แต่รสชาติจะไม่หวานฉ่ำ หอมเหมือนน้ำผึ้ง ตามคุณสมบัติของสับปะรดนางแล แต่หากต้องการสั่งผลสับปะรด หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดนางแล สามารถติดต่อได้ที่ คุณดวงดาว แสนโกษา บ้านแม่ปูคา ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ (089) 956-5331

ส่งเสริมการขาย ด้วยการขายผลสด นำไปรับประทานเป็นอาหารว่าง
แปลงสับปะรด