รุกนวัตกรรม “ทุเรียน” หนีบทเรียนซ้ำรอย จีนเล่นแง่ หรือเราพลาดเอง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ทุกปีเมื่อถึงหน้าฤดูไม้ผลสำคัญอย่างทุเรียน ระหว่างช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนในภาคตะวันออก และภาคใต้ที่ผลผลิตจะออกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม มักได้ยินข่าวปัญหาวิกฤตการส่งออกทุเรียนสดมากมาย ตั้งแต่การตรวจพบสารเคมีตกค้าง โรคแมลง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการบรรจุสินค้าส่งออก การขาดแรงงานเก็บผลไม้ แรงงานต่างด้าวข้ามเขตไม่ได้ ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหา “ซ้ำซาก” ที่เกิดมาต่อเนื่องมาเนิ่นนานหลายปี แต่ไม่สามารถหาทางออก ! ได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกปีหน่วยราชการยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหากันแบบ “เฉพาะหน้า” !

ปีต่อปี ให้ผ่านพ้นช่วงฤดูไม้ผลไป ทั้งที่ “ทุเรียน” ส่งไปขายตลาดจีน เป็นไม้ผลทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

ซ้ำร้ายมาปีนี้ปัญหาหลายเรื่องกลับหนักหน่วงกว่าทุกปี อย่างที่ปรากฏตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนต่อเนื่องมาถึงเดือนพฤษภาคม คือทุเรียนไทยที่ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งไปทางบกกว่า 1,000 ตู้ และทางเรือกว่า 2,000 ตู้ ถูกตรวจสอบเข้มจากทางการจีน 100% จากเดิมเพียง “สุ่มตรวจ” ไม่กี่ตู้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า รถต้องจอดรอเข้าคิวค้างที่ด่านลางเซิน ประเทศเวียดนาม เพื่อรอผ่านด่านโหย่วอี้กวน มณฑลกว่างซี ประเทศจีน

ความล่าช้ากว่า 3 สัปดาห์ของปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับทางการจีนได้เปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในการตรวจสอบสินค้าที่ด่านใหม่ ทำให้เพิ่มความล่าช้าจาก 2-3 วัน เป็น 7-8 วัน ส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของตู้ค่อนข้างมีปัญหา ทุเรียนสุก แตกเสียหายจำนวนมาก

เมื่อรถผ่านด่านไปส่งให้ลูกค้าจากที่ตกลงซื้อขาย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 18 ตัน ราคาเฉลี่ยตู้ละ 2-2.5 ล้านบาท ถูกกดราคารับซื้อลงกว่าครึ่ง ขณะที่การขนส่งทางเรือที่ล่าช้าทำให้อุณหภูมิความร้อนสูงเกินกว่าที่จีนกำหนด

จีนตีกลับไม่ให้ขนสินค้าขึ้นท่าเรือ กว่าที่รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์จะ “ยื่นมือ” เข้ามาแก้ปัญหา…ทุกอย่างบานปลาย เสียหาย ถูกกดราคา ต้นทุนพุ่งกันไปแล้ว

หากย้อนมาดูสาเหตุที่จีนเพิ่ม “ความเข้มงวด” คงเป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2561 ทางการจีนตรวจพบ “แมลงศัตรูพืช” ในทุเรียน (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเมล็ด) และ “สารตกค้าง” ต่าง ๆ เกินมาตรฐาน ! ถึง 1,700 ครั้ง !

ครั้นจะว่า “จีนเล่นเกม” เพื่อเป็นข้ออ้าง “กดราคา” ทุเรียนไทยคงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เหตุเพราะโรงคัดบรรจุจำนวนมาก “ไม่ได้มาตรฐาน” หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ขณะที่สวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อส่งออกยังไม่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) อีกจำนวนมากเช่นกัน

แถมผู้ส่งออกหลายรายใช้วิธี “สวมสิทธิ์” ของสวนผลไม้ที่ได้มาตรฐาน GAP และ “สวมสิทธิ์” โรงคัดแยกที่ได้มาตรฐาน GMP ไปกรอกข้อมูลในใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ทำให้เมื่อตรวจพบสารตกค้าง ฝ่ายราชการของไทยที่เกี่ยวข้องถึงอึ้ง เพราะไม่สามารถ “ตรวจสอบย้อนกลับ” ได้ ทำให้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 จีนจี้มาชัดเจนว่า จะเข้มงวดกับผลผลิตในปี 2562 !

ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมาหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่ง “ล้อมคอก” ระดมข้าราชการจากต่างพื้นที่มาช่วยกันทำงานแบบ “ฝุ่นตลบ” เพื่อนับถอยหลังก่อนผลไม้ฤดูกาลนี้ออกมา

แต่ดูเหมือนว่าจะทำงานไม่ทันกับเวลา เพราะมี “ล้งรายเล็กหน้าใหม่” เกิดขึ้นมาอีกนับ 100 ราย ด้วยเพราะความต้องการของตลาดจีนที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาทุเรียนพุ่งสูงตาม หลายคนจึงหันเข้ามาสู่อาชีพนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้อีกไม่ถึง 10 วัน ปัญหาทั้งหมดอาจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เพราะทุเรียนลอตใหม่ในภาคตะวันออกกำลังจะออกมาอีกระลอก ขณะที่ทุเรียนในภาคใต้จะเริ่มทยอยออกผลผลิตในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปและมีจุดพีกที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก บรรดาล้งทั้งหลายกังวลใจจะเกิด “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ภาคตะวันออก ซึ่งแนวทางออกคงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย ทั้งหน่วยราชการ ล้ง และชาวสวนเองต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ปรับปรุงมาตรฐาน แก้ปัญหาข้อผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้จีนมีข้ออ้างเล่นงานไทยได้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนสด หลายคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องง่าย ได้กำไรงาม จึงก้าวกันเข้ามาแบบ “ไร้มาตรฐานคุณภาพ” ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย แถมทำลายชื่อเสียงทุเรียนไทย ขณะที่ฝ่ายภาครัฐหากมัวชักช้าไม่เข้มงวด เด็ดขาด มีหวังถูกทุเรียนสดของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ที่กำลังเร่ง “พัฒนาสายพันธุ์” เข้าไปขายเสียบตลาดจีนแทนแน่ ๆ

ที่สำคัญหนทางออกที่ดีที่สุดทุกฝ่ายควรเร่งวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมทุเรียน” เพิ่มมูลค่าผลผลิตมากกว่าการส่งออก “ทุเรียนสด” ที่อนาคตไทยจะสู้เรื่อง “ต้นทุน” กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าไม่ได้