“ กบ ” เลี้ยงเป็นอาหารก็อร่อย เลี้ยงขายก็รวย

กบŽ เป็นอาหารจานเด็ดที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเข้าสู่ครัวตามบ้านเรือน รวมทั้งร้านอาหารหรูตั้งแต่ภัตตาคารถึงร้านยาจกประเภทรถเข็น ซึ่งมีเมนูเด็ดทั้งกบผัดเผ็ด กบย่างพริกไทย ต้มยำกบ ความแพร่หลายทางอาหารที่ใช้กบเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้ปริมาณกบที่หาได้ตามธรรมชาติ เพื่อนำมาตอบสนองความต้องการทางตลาดหายากมากขึ้นทุกวัน ทำให้หลายคนสนใจทำอาชีพเลี้ยงกบส่งเข้าตลาดสร้างรายได้เหมือนเนื้อสัตว์ประเภทอื่น

การเลี้ยงกบไม่ยาก 

การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ เป็นรูปแบบที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด โดยบ่อที่นิยมมีขนาด 3×4 เมตร หรือใหญ่กว่า เพราะสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดบ่อ รวมทั้งการควบคุมโรค

บ่อเลี้ยงกบ

บ่อควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ที่เป็นพื้นบกสำหรับกบอาศัยอย่างน้อย 70% ของบ่อ ที่เหลือเป็นพื้นน้ำ ลักษณะบ่อปูนซีเมนต์ที่ใช้เลี้ยงกบ โดยทั่วไปแล้วบ่อเลี้ยงกบจะเป็นบ่ออเนกประสงค์ คือ ใช้ตั้งแต่ผสมพันธุ์ อนุบาลลูกอ๊อด อนุบาลลูกกบ จนถึงเลี้ยงกบขุน หรือกบเนื้อ บ่อเลี้ยงกบ มักเป็นบ่อซีเมนต์ มีหลายรูปแบบ เช่น ปูกระเบื้อง ทาสีเหลือง มีหลายขนาด เช่น 3×4, 3.2×4, 4×4, 4×5, 4×6 เมตร สูง 1.2 เมตร ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่บ่อเลี้ยง จะมีการเทคานและใช้อิฐบล็อก 4-6 ก้อน ก่อเป็นผนัง พื้นบ่อมีการเทปูนหนาพอสมควรเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม ด้านในของบ่อทั้ง 4 ด้าน ฉาบผิวสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร บ่อกบควรตั้งอยู่กลางแจ้ง มีซาแรนกรองแสงทำเป็นหลังคาและกันแดด รวมทั้งมีตาข่ายกันนกหรือศัตรูที่จะเข้ามาจับกบกิน

คุณภาพน้ำ

น้ำสำหรับใช้เลี้ยงกบ ควรตรวจสอบคุณภาพน้ำ เช่น ความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ความกระด้าง ค่าอัลคาไลนิตี้ ปริมาณแอมโมเนีย แร่ธาตุในน้ำ ฯลฯ ว่าเหมาะสมหรือไม่ หากน้ำที่ใช้เป็นกรด จะต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพน้ำ และตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งต้องพักน้ำดังกล่าวไว้ก่อนนำมาเลี้ยงกบ เพราะน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะจะมีคุณภาพน้ำไม่สม่ำเสมอ หรือปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ดังนั้น ถ้าจะนำมาใช้ ควรมีบ่อพักเก็บกักน้ำไว้ก่อน แต่หากน้ำที่ใช้เป็นน้ำบาดาล ควรผ่านการกรองและพักน้ำไว้ก่อนนำมาใช้ด้วย

พันธุ์กบ

พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง ได้แก่ กบนา ซึ่งถ้าเลี้ยงถูกต้องตามวิธี ใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน กบจะมีน้ำหนัก 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม และกบนาเป็นกบที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว ทั้งยังเป็นที่นิยมนำไปประกอบอาหารบริโภคมากกว่ากบพันธุ์อื่น ลักษณะของกบนา ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบตัวเมีย และมีกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถวมุมปากล่างทั้ง 2 ข้าง ในฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้จะเป็นผู้ส่งเสียงร้อง กบตัวเมียที่มีไข่แก่ สังเกตที่บริเวณท้องจะบวมและใหญ่กว่าปกติ

การเพาะพันธุ์กบ

โดยธรรมชาติกบจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูฝน ถ้าเกษตรกรมีพ่อแม่พันธุ์อยู่แล้ว ก็นำพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ใช้ผสมพันธุ์ได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างสูงคือ อย่าจับผิดคู่ เพราะถ้าไม่ใช่คู่ของมันที่จับคู่แล้วนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะ มันก็จะไม่ผสมพันธุ์กัน บ่อผสมพันธุ์หรือบ่อเพาะ อาจเป็นบ่อซีเมนต์ หรือถังส้วม หรือจะเป็นกระชังมุ้งไนลอนก็ได้

ภายในให้มีพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวาขนาดเล็ก และน้ำไม่ควรสูงเกิน 5 เซนติเมตร เพราะถ้ามีน้ำมากจะไม่สะดวกในการที่ตัวผู้เข้าโอบรัดตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียซึ่งทำหน้าที่เบ่งไข่ และต้องใช้แรงขาหลังยันยืนพื้น ถ้าน้ำมากขาหลังก็จะลอยน้ำทำให้ไม่มีกำลัง เป็นเหตุให้ไข่ออกมาไม่มาก

กบตัวผู้จะทำหน้าที่ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกับไข่ของกบตัวเมียทันที ระยะเวลาผสมพันธุ์และวางไข่คือ ระหว่างเวลา 04.00-06.00 น. แต่ถ้าอากาศเย็นชุ่มฉ่ำ เช่น มีฝนตกพรำ อาจจะเลยไปถึง 08.00 น. ก็ได้ เมื่อเห็นว่ากบออกไข่แล้ว จึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อเพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้แพไข่แตก จากการเคลื่อนไหวของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ

 

เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวอ่อนแล้วระยะ 2 วันแรก ไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกอ๊อดยังใช้ไข่แดงที่ติดมาเลี้ยงตัวเอง หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหาร เช่น รำละเอียด ปลาบด ไข่แดงต้ม ไข่ตุ๋น ลูกไร ตลอดจนใบผักกาด ผักบุ้ง ที่นำมานึ่งให้อ่อนตัว หรือจะให้อาหารปลาดุกชนิดเม็ดลอยน้ำ บางรายอาจใช้ปลาสวายย่างทั้งตัวและผูกหัวท้ายให้ปลาเรี่ยน้ำ

การให้อาหารลูกอ๊อดเหล่านี้ ควรสังเกตการกินมากกินน้อยของลูกอ๊อด เพราะถ้าอาหารเหลือมากจะหมักหมมอยู่ภายในบ่อ เป็นต้นเหตุให้น้ำเสีย ต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาโดยการดูดของเหลือทิ้ง หรือมีการถ่ายน้ำเปลี่ยนใหม่ ถ้าทำได้บ่อยครั้ง โอกาสที่ลูกอ๊อดจะเจริญเติบโตและแข็งแรงมีมาก

เมื่อลูกอ๊อดมีอายุ 20-30 วัน จะกลายเป็นลูกกบเต็มวัย ช่วงนี้ ต้องหาไม้กระดาน ขอนไม้ หรือแผ่นโฟมลอยน้ำ เพื่อให้ลูกกบเต็มวัยขึ้นไปอาศัยอยู่ เพราะลูกอ๊อดจะเป็นลูกกบเต็มวัยไม่พร้อมกัน โดยจะเป็นลูกกบ 70% ส่วนอีก 30% ยังอยู่ในสภาพไม่พร้อม เช่น ขางอกไม่ครบทั้ง 4 ขา หรือหางหดไม่หมด ถ้าไม่มีวัสดุลอยน้ำให้กบตัวเต็มวัยขึ้นมาอาศัยอยู่ จะถูกลูกอ๊อดตอดหางที่เพิ่งจะกุด จนเป็นบาดแผล ถ้าโดนตอดมากๆ อาจถึงตายได้

ลูกอ๊อดที่เจริญเติบโตเป็นกบเต็มวัยเหล่านี้ จะถูกลูกกบรุ่นแรกที่ใหญ่กว่ารังแก จึงต้องมีการคัดขนาดเพื่อแยกลูกกบที่โตเท่าๆ กันนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่ออื่นด้วย สำหรับบ่อเลี้ยงลูกอ๊อด ในระยะที่ลูกอ๊อดออกเป็นตัวใหม่ๆ ไม่ควรให้น้ำลึกเกิน 30 เซนติเมตร และคอยสังเกตเมื่อลูกอ๊อดเติบโตเต็มที่ มีขาหลังงอกแล้ว จึงค่อยเพิ่มน้ำในบ่อเลี้ยงเป็น 50 เซนติเมตร และระยะแรกควรให้ฟองอากาศช่วยหายใจ ใช้ผักบุ้งหรือพืชน้ำอื่น สร้างความร่มเย็นให้ลูกอ๊อดได้เกาะอาศัยด้วย

การจับกบขาย

เกษตรกรสามารถจับกบได้ทุกโอกาส และจับขายแบบหมดทั้งบ่อ หรือจับขายปลีกตามความต้องการของผู้ซื้อก็ได้  สำหรับช่วงเวลาที่ควรเพาะเลี้ยงกบมากที่สุดคือ ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูแล้ง เพราะเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการมาก ส่วนระยะเวลาเลี้ยงกบต่อรุ่น ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก็จับขายได้แล้ว

ปัจจุบัน กบ กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดนิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการส่งขายไปยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เยอรมนี สเปน สหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงไม่น่าห่วงเรื่องตลาดที่รองรับหลังการเพาะเลี้ยง