ผู้เขียน | พัชรี เกิดพรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาเดิมๆ ที่เกษตรกรต้องพบเจอเสมอคือผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ หากมีลู่ทางทำตลาดในผลผลิตชนิดอื่น ก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหากจะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น
กิตินัน นุ้ยเด็น เกษตรกรคนรุ่นใหม่ในโครงการของกระทรวงการเกษตรที่ไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล จัดเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ จากสวนยางพาราที่มีอายุเกิน 25 ปี มาเป็นไร่กล้วยหอมและกล้วยไข่ สร้างรายได้อย่างงาม อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย มีการสั่งเข้าไปขายเป็นจำนวนมาก
หลังจบปริญญาตรี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กิตินันเลือกที่จะใช้ชีวิตหลังการเรียนจบการศึกษาด้วยการทำการเกษตรแบบเต็มรูปแบบร่วม 3 ปี บนพื้นฐานรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000-50,000 บาท จากการศึกษาหาความรู้ ลงมือทำ จนประสบความสำเร็จ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข กับไร่มะละกอและไร่กล้วย พืชเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจนอยู่ระดับแนวหน้าของจังหวัด นับเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนยางพาราเป็นไร่กล้วยไข่ที่มีผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รายได้งาม
“ผมตัดสินใจโค่นต้นยางพาราซึ่งแก่มากและราคามีการผันผวนอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกหันมาทำไร่มะละกอ ซึ่งการดูแลค่อนข้างจะยากกว่า หากเทียบกับการปลูกกล้วย โดยตนได้ลงกล้วย 2,000 ต้น และตั้งเป้าหมายว่าจะลง 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ ที่เหลือเป็นยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน แม้มะละกอราคาจะดีกว่า แต่กล้วยมีตลาดที่กว้างกว่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำพอสมควร ทันทีที่กล้วยให้ผลผลิตที่พอเหมาะกับการเก็บ คนเก็บจะฟันต้นทิ้งในทันที เพื่อให้ต้นกล้วยรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล้วยไข่ได้กลายเป็นรายได้หลัก
“ก่อนหน้ารายได้หลักมาจากสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน บนพื้นที่ 20 ไร่ หลังตัดสินใจไถกลบสวนยางพารามาปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์และพันธุ์แขกดำ จำนวน 400 ต้น ตามด้วยปลูกกล้วยหอมทองและกล้วยหอมไข่ 2,000 ต้น ในระยะ 2-3 วัน สามารถให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้มากถึงคราวละ 100 กิโลกรัม ส่งขายในตลาดพื้นที่จังหวัดสตูล และตลาดในชายแดนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยราคากล้วยหอมและกล้วยไข่ กิโลกรัมละ 15-20 บาท อยู่ที่ขนาดความสุกงอมของกล้วย”
กิตินัน เล่าอีกว่า กล้วจะให้ผลผลิตเร็ว ออกนานถึง 8 เดือน เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 30-100 กิโลกรัม ตลาดกว้าง อนาคตสดใส ปลูกและดูแลง่าย ในขณะที่มะละกอราคาดี กิโลกรัมละ 20-30 บาท ให้ผลผลิตนานถึง 12 เดือน เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม
“หลักสำคัญในการทำการเกษตรคือ ดิน น้ำ และการจัดการ หากดินดีจะปลูกอะไรก็งอกงาม และน้ำไม่ขาดก็จะยิ่งดี นอกจากนี้ต้องรู้จักเรียนรู้การบริหารจัดการไร่และพืชสวนทางการเกษตรของตนเองในการปลูกพืชผักแบบสวนผสม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่กล้วยปลูกและดูแลง่ายกว่ามะละกอ ตลาดกว้างแม้ราคาจะถูกกว่ามะละกอ ส่วนตัวก็วางแผนที่จะปลูกเพิ่มเติมอีก” กิตินัน กล่าว
อดินัน นุ้ยเด็น อายุ 64 ปี เกษตรกรชาวสวนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) เล่าว่า เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เมื่อยางพาราหมดอายุ ต้องตัดสินใจให้ได้ว่าควรเปลี่ยนเป็นพืชอะไรให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพดิน และการบริหารจัดการ ลูกหลานที่เป็นเกษตรกรนำผลผลิตขายออกสู่ตลาด จำหน่ายผลผลิต อาทิ มะละกอฮอลแลนด์ แขกดำ รวมทั้งพืชผักสวนครัว ปาล์ม และผลไม้ต่างๆ โดยมีตลาดมารับถึงที่
ไชยพงศ์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า เนื้อที่เพาะปลูกกล้วยในพื้นที่จังหวัดสตูล มีทั้งหมด 950 ไร่ ปลูกในพื้นที่อำเภอควนโดน มากสุด 420 ไร่ โดยผลผลิตในปี 2559 ได้จำนวน 319 ตัน ซึ่งแปลงของเกษตรกรจุดนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพารามาเป็นไร่กล้วยและมะละกอ จากเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หันมาปลูกกล้วยให้กิโลกรัมละ 20-30 บาท/กิโลกรัม มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร มีตลาดรองรับ และกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้อีก ซึ่งทางเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอพร้อมจะส่งเสริมให้เป็นจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ต่อไป
พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมอาชีพ โดยเน้นให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายแหล่งด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามความถนัด ทั้งประมง ปศุสัตว์ และเกษตร หากเกษตรกรที่สวนยางพาราหมดอายุ สนใจจะปรับเปลี่ยน สามารถมาศึกษาดูงานได้ที่จุดเรียนรู้ หรือติดต่อทางเกษตรจังหวัดเพื่อติดต่อดูงานได้
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน