กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ สวทช. เพิ่มประสิทธิภาพใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (สถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ) ส่งเสริมเกษตรกรรมไทยพร้อมแชร์ข้อมูล

29 พฤษภาคม 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ในโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (สถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ) โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้ดำเนินงาน เพื่อวิจัยและพัฒนาข้อมูลที่ได้จากสถานีวัดอากาศ มาใช้ให้ก่อประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรรมของประเทศ รวมทั้งให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของสถานีวัดอากาศอัตโนมัติแก่หน่วยงานราชการที่มีความประสงค์จะใช้ข้อมูลดังกล่าว

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. ได้พัฒนาสถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่วัดสภาพบรรยากาศเพื่อเก็บวัดข้อมูลการพยากรณ์อากาศ รวมทั้งเพื่อศึกษาสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลที่วัดประกอบด้วย อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน และทิศทางของแสง สถานีสามารถเก็บข้อมูลได้โดยไม่ต้องใช้บุคคลและสามารถเก็บข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกล สามารถบันทึกข้อมูลและแสดงผลแบบ real-time ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และยังใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการเชื่อมต่อของระบบเซ็นเซอร์ ส่วนระบบแบตเตอรี่ ส่วนบันทึกข้อมูล ทำให้สามารถใช้ได้กับสถานที่ที่ไฟฟ้าไปไม่ถึง โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สวทช. ครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการหลังทำงานร่วมกันมากว่า 3 ปี เพื่อร่วมกันนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ความพร้อมใช้งานมาสนับสนุนกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานตามความเหมาะสม

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

สถานีวัดอากาศอัตโนมัติ มีส่วนประกอบ 3 ส่วนหลักสำคัญ คือ
1. แผงควบคุมสถานีวัดอากาศอัตโนมัติ ทำหน้าที่อ่านค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เซ็นเซอร์วัดความเข้มของแสงอาทิตย์ วัดปริมาณน้ำฝน แล้วบันทึกค่าไว้ในหน่วยความจำและส่งข้อมูลเหล่านี้ไปเครื่องแม่ข่ายข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ที่ GPRS เมื่อถึงเวลาที่กำหนดแผงควบคุมจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและใช้พลังงานจากแบตตอรี่ในเวลากลางคืน
2. แบตเตอรี่ เป็นชนิด Seal Lead Acid ให้ประจุไฟฟ้า 12 v 9.6 ah มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี
3. เซ็นเซอร์ที่ใช้ในสถานีตรวจอากาศทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยติดตั้งกับที่ยึดและลากสายไปยังตัวบันทึกข้อมูลโดยสัญญาณเอาต์พุตข้อมูลของเซ็นเซอร์จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล โดยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งประกอบด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน และความเข้มแสง

“เนคเทค ดำเนินการติดตั้งสถานีวัดอากาศอัตโนมัติจำนวน 122 สถานีครอบคลุมทั่วประเทศ สถานที่ติดตั้งส่วนใหญ่จะเป็นที่สำนักงานเกษตรจังหวัด เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขตำบล และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สำหรับปีงบประมาณ 2561 ส่งมอบให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 102 สถานี เพื่อที่กรมจะได้นำข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศไปใช้เป็นประโยชน์และเผยแพร่ต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศต่อไป โดยสามารถติดตามผลการทำงานของสถานีวัดอากาศอัตโนมัติ ผ่านเว็บไซต์ htpp://agritronics.nstda.or.th” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

โครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (สถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ)

ด้าน นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ความร่วมมือโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตร (สถานีวัดอากาศอัตโนมัติ) พร้อมทั้งส่งมอบสถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ จำนวน 102 สถานีให้กับกรมส่งเสริมการเกษตรในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและข้อมูลที่ได้จากสถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตรของประเทศ ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์สำหรับตัดสินวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรด้านการปลูกพืช การดูแลรักษา เช่น การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เป็นต้น ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงมาวางแผนนโยบาย Thailand 4.0 และด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนในกระบวนการผลิตมุ่งเน้นการปรับรูปแบบการเกษตรในปัจจุบันไปสู่เกษตร 4.0 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเกษตรที่ยั่งยืนต่อประเทศและเกษตรกรต่อไป