สาวสุรินทร์ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอาชีพเสริมรายได้ “สู้แล้วรวย”

“บ้านพญาราม” ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ในอดีตชาวบ้านนิยมปลูกข้าวเพื่อยังชีพ เลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร ว่างเว้นจากทำนา ทำไร่ ผู้หญิงจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นรายได้เสริมเลี้ยงดูครอบครัว

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน หลังจาก คุณโยธกา บุญมาก เรียนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยม อันดับ 1) ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น แทนที่เธอจะรับราชการหรือทำงานบริษัทเอกชน เธอเลือกที่จะดำเนินอาชีพเกษตรกรรมตามรอยพ่อแม่ ทำนา 45 ไร่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรายได้เสริม คุณโยธกามีจิตอาสาทำงานช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ เช่น เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญาราม  อาสาสมัครเกษตรกร (หม่อนไหมอาสา) เป็น Smart Farmer หม่อนไหม เป็นคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองสุรินทร์ ฯลฯ

คุณโยธกา บุญมาก กับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2562

ไม่หยุดนิ่งเรียนรู้แก้ไขปัญหา

ปี 2545 คุณโยธกา ได้ช่วยแม่เลี้ยงไหมและมีปัญหาใบหม่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นหม่อนพันธุ์พื้นบ้าน ใบเล็กผลผลิตน้อย เก็บยาก จึงได้ไปซื้อใบหม่อนจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านบุ ตำบลลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพันธุ์หม่อนบุรีรัมย์ 60 มีลักษณะใบใหญ่ เก็บง่าย ผลผลิตสูง ทำให้เกิดความต้องการนำมาปลูกที่บ้านพญารามบ้าง จึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพี้ยราม และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพี้ยรามในขณะนั้น ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้ง “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านพญาราม” โดยคุณโยธกาได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2546 ต่อมาจดทะเบียนในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญาราม” จนถึงทุกวันนี้

ทางกลุ่มฯ เป็นผู้นำชาวบ้านปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 โดยขอรับการสนับสนุนท่อนพันธุ์จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ และมีผู้ต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2547 จึงได้ขอใช้พื้นที่รกร้างของโรงเรียนพญารามวิทยา เพื่อปลูกหม่อนให้กับกลุ่มแม่บ้านฯ จำนวน 175 ไร่ ปัจจุบัน มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 151 ราย มีหม่อนแปลงรวม จำนวน 130 ไร่ และแปลงรายเดี่ยวส่วนบุคคล ประมาณ 100 ไร่

คุณโยธกา บุญมาก กับแปลงปลูกหม่อน

คุณโยธกา เป็นผู้ริเริ่มจัดหาโรงเลี้ยงไหมที่เป็นของส่วนรวม โดยได้ดำเนินงานก่อสร้างด้วยงบประมาณที่ไม่มากและได้รับการบริจาคกำลังแรงงาน วัสดุ อุปกรณ์บางส่วนจากสมาชิก จึงได้ห้องเลี้ยงไหมวัยอ่อนของกลุ่ม โดยกลุ่มได้เลี้ยงไหมวัยอ่อนจำหน่ายให้สมาชิกภายในกลุ่ม ตั้งแต่ วันที่ 6 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ คุณโยธกายังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการประกันราคาดักแด้ เพื่อแก้ปัญหาราคาดักแด้ตกต่ำ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือสมาชิกที่ขาดแคลนอุปกรณ์ ให้มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่ออาชีพ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารแสดงสินค้าโอท็อป (OTOP) จากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น จนแล้วเสร็จในปี 2558 ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดประชุม อบรมความรู้ต่างๆ และจัดจำหน่ายสินค้าอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

สร้างมูลค่าเพิ่ม “มูลไหม-โปรตีนไหม”

“มูลไหม” ที่ใครๆ มองข้าม คุณโยธกาเป็นคนแรกที่ริเริ่มนำมูลไหมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรูปแบบ “ปุ๋ยมูลไหม” เธอนำมูลไหมมาอบแห้ง ก่อนส่งให้สถานีพัฒนาที่ดิน ตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหาร NPK ก่อนนำมาบรรจุถุงขาย นอกจากนี้ ยังผลิต “ชามูลไหม” โดยนำมูลไหม อบแห้งก่อน คั่วด้วยไฟปานกลาง บรรจุซองชา และส่งให้ สวทช.  ตรวจวิเคราะห์หาคุณค่าและสารอาหารทางโภชนาการ พบว่า มูลไหมมีสารสำคัญมากมายที่ช่วยบำรุงสุขภาพ ปัจจุบัน ชามูลไหม กลายเป็นสินค้าเครื่องดื่มสำหรับคนที่รักสุขภาพ

มูลหนอนไหม

นอกจากนี้ คุณโยธกาเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโปรตีนไหม เช่น สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพู โลชั่น เซรั่ม และครีม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การแปรรูปผลิตภัณฑ์โปรตีนไหม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้เสริม และสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

สินค้าแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจากโปรตีนไหม

 “รักษ์โลก” ต้องปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบนี้

ที่ผ่านมา คุณโยธกา ได้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดสารพิษตกค้าง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คุณโยธกาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยไม่ใช้สารเคมีในการผลิต เช่น สารฆ่าแมลง ยาโรยตัวไหม ปุ๋ยเคมี ฯลฯ และนำพืชสมุนไพรท้องถิ่น เช่น ต้นคราม เปลือกเงาะ ฯลฯ มาย้อมสีเส้นไหมและอบรักษาคุณภาพผ้าไหมตามภูมิปัญญาชาวบ้านแทนการใช้สารเคมี คุณโยธกาใช้วิธีพวงสาวแบบโบราณพื้นบ้านด้วยหม้อดิน โดยใช้เตาฟืนแทนเตาถ่านหรือเตาแก๊ส เพื่อลดค่าใช้จ่าย

เปลือกเงาะ ย้อมสีเส้นไหมเป็นสีดำ
คุณโยธกา บุญมาก ปลูกต้นครามสำหรับย้อมเส้นไหม

คุณโยธกา ดูแลจัดการแปลงหม่อนโดยวิธีเขตกรรม โดยการตัดแต่งกิ่งหม่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช ขณะเดียวกันก็บำรุงรักษาดินและต้นหม่อน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยหมักจากมูลไหม เป็นต้น เพื่อลดสารตกค้างในดิน และรักษาสิ่งแวดล้อม ในช่วงฤดูแล้ง คุณโยธกาจะใช้เศษวัสดุธรรมชาติ เช่น ฟางข้าว หญ้าคา ใบไม้ คลุมโคนต้นหม่อนเพื่อป้องกันวัชพืชและลดการสูญเสียความชื้นในฤดูแล้ง

โรงเรือนเลี้ยงไหม

นอกจากนี้ คุณโยธกายังบริหารจัดการผลพลอยได้จากการเลี้ยงไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโปรตีนไหม การนำมูลไหมมาทำปุ๋ย และทำชาเพื่อบำรุงสุขภาพ รวมทั้งติดตั้งตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้อบรังไหม และอบมูลไหม เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้า รวมทั้งติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผันน้ำมาใช้ในแปลงหม่อนรวม เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้า

รายได้ คุ้มค่าความเหนื่อย

ปัจจุบัน คุณโยธกา ปลูกหม่อน จำนวน 2 แปลง รวมพื้นที่ปลูกหม่อนทั้งสิ้น จำนวน  2 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา ปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ได้ผลผลิตใบหม่อน 2,000-3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี ผลิตเพื่อเลี้ยงไหมเป็นหลัก และเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน จำนวน 7 รุ่น ต่อปี ได้เส้นไหม ประเภทไหมน้อย จำนวน 5.5 กิโลกรัม ต่อปี และประเภทไหมเปลือกนอก จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อปี สำหรับใช้ผลิตผ้าไหม

ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คุณโยธกาสามารถผลิตผ้าไหมโฮลโบราณสีธรรมชาติ (1 ผืน : 2 เมตร) ผลิตได้ จำนวน 30 ผืน ผ้าพันคอไหมสีธรรมชาติ ผลิตได้จำนวน 95 ผืน ผ้าถุงไหมลายพื้นบ้าน เช่น ลายราชวัตร สมอ อัมปรม และพื้นเรียบสีธรรมชาติ เป็นต้น ผลิตได้จำนวน 68 ผืน

ผ้าไหม สินค้าขายดีของชุมชนบ้านพญาราม

นอกจากนี้ คุณโยธกายังมีผลผลิตที่เป็นรายได้เสริม เช่น ขายดักแด้ที่ได้จากการสาวไหม จำนวน 50-60 กิโลกรัม ต่อปี ขายชามูลไหม จำนวน 100 ซอง ต่อปี ขายปุ๋ยมูลไหม จำนวน 100 กิโลกรัม ต่อปี ทุกวันนี้คุณโยธกามีรายได้เพิ่มจากอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีรายได้ 128,500 บาท ในปี 2559 ปีถัดมา มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 133,250 บาท ต่อปี ส่วนปี 2561 ที่ผ่านมา คุณโยธกามีรายได้จากการจำหน่าย ใบหม่อน 37,500 บาท ต่อปี เส้นไหม 11,000 บาท ต่อปี ดักแด้ไหม 2,000 บาท ต่อปี ปุ๋ยมูลไหม 5,000 บาท ต่อปี ชามูลไหม 5,000 บาท ต่อปี และผ้าไหม 84,700 บาท ต่อปี รวมรายได้ทั้งสิ้น 145,200 บาท ต่อปี

 ผลงานสร้างชื่อเสียง 

สินค้าผ้าไหมของคุณโยธกาได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดผ้าไหมโบราณของสภาวัฒนธรรม จังหวัดสุรินทร์ (ปี 2547) และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นไหมน้อยสาวมือของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดสุรินทร์ และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นไหมน้อยสาวมือระดับประเทศ ในงานมหกรรมไหมไทย จากสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร (ปี 2550) ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดหมู่บ้านตัวอย่างปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดีเด่น ระดับประเทศ และได้รับคัดเลือกจากกรมหม่อนไหม ให้เป็นผู้แทนในการศึกษาดูงาน ณ ประเทศอินเดีย (ปี 2558)

อธิบดีกรมหม่อนไหม ร่วมยินดีกับ คุณโยธกา บุญมาก ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น

ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของคุณโยธกา คือเธอได้ถวายงานต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จ ณ บ้านฮ็อง ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์  (ปี 2557) คุณโยธกามีโอกาสถวายงานต่อพระราชวงศ์หลายครั้ง ล่าสุด คุณโยธกาได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2562 โดยรับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อ วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

 หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว

ปัจจุบัน “บ้านพญาราม” ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมของจังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี พวกเขารวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญาราม” ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม “คุณโยธกา บุญมาก” มีจำนวนสมาชิกมากถึง 160 คน จุดเด่นสำคัญคือ การเลี้ยงไหมไทยพื้นบ้าน “ไหมพันธุ์พญาราม” และเชี่ยวชาญด้านการสาวเส้นไหมพื้นบ้านที่สวยและเส้นเล็ก สามารถขายเส้นไหมได้ราคาสูง 2,000-2,500 บาท ต่อกิโลกรัม

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญาราม
บ้านพญาราม เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านหม่อนไหม

เกษตรกรในหมู่บ้านปลูกหม่อนเกือบทุกหลังคาเรือน ที่นี่มีแปลงปลูกหม่อนรวม 130 ไร่ เน้นปลูกเพื่อเลี้ยงไหมและจำหน่ายใบหม่อนแก่เกษตรกรนอกพื้นที่ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมกิจการ จะได้รับชมวิดีทัศน์แนะนำกลุ่ม ก่อนการเข้าพื้นที่ชมการสาวไหมแบบพื้นบ้าน และการทำความสะอาดเส้นไหมดิบก่อนการนำไปลอกกาวย้อมสี และชมการฟอกย้อมสีธรรมชาติ ด้วยพืชสมุนไพรตามภูมิปัญญาท้องถิ่น มีระบบบ่อบำบัดน้ำเสียจากการฟอกย้อมเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สินค้าเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชนแห่งนี้คือ “ผ้ายกดอกลายราชวัตร” ที่คว้ารางวัลสินค้าคุณภาพดี ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมาแล้วมากมาย

กระบวนการย้อมสีเส้นไหม

คุณโยธกา เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่มีความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าหม่อนไหมในหลากหลายมิติ สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้อย่างน่าชื่นชม

หากใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และอยากเยี่ยมชมกิจการ ติดต่อกับ คุณโยธกา บุญมาก ที่บ้านเลขที่ 19 หมู่บ้านพญาราม หมู่ที่ 9 ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000 โทรศัพท์ 098-096-8113 ได้ทุกวัน

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2562