ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 24 มกราคม นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปี2560 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประกาศให้เป็นปี บริโภคผักผลไม้ปลอดภัย คนไทยจำเป็นต้องบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดสาร และมีปริมาณเพียงพอที่ร่างกายควรได้รับ โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการบริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี(NCDs) อย่างโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน แต่การรับประทานนั้น ต้องให้ปลอดภัยปราศจากสารเคมีตกค้างด้วย โดยวิธีที่สะดวกทำได้ง่ายในทุกสถานที่ คือวิธีล้างด้วยน้ำไหลผ่าน สามารถลดสารตกค้างได้ร้อยละ 25-65 ผักผลไม้ยังคงความสด ไม่ช้ำเสียหายจากสารเคมี
“ส้ม ถือเป็นผลไม้มงคลที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะเป็นผลไม้ที่มักจะมอบให้แก่กันและเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด โดยเฉพาะ ไซเปอร์เมทริน(Cypermethrin) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ดูดซึม ดังนั้น ก่อนรับประทานจึงควรล้างด้วยการแช่น้ำ โดยนำมาใส่ในตะกร้าหรือตะแกรงโปร่ง เปิดน้ำไหลความแรงพอประมาณ ระหว่างล้างให้ใช้มือถูไปมาบนผิวส้ม นานประมาณ 2 นาที กรณีผักมงคลจำพวก คะน้า ผักกาดขาว ต้องเพิ่มขั้นตอนการเตรียมผักก่อน โดยแกะกลีบออกจากต้น คลี่ใบออก ก่อนจะนำมาแช่น้ำและทำเช่นเดียวกับการล้างผลไม้” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมแก้ไขปัญหาการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักสดและผลไม้สดที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการแจกเอกสารข้อมูลการสุ่มตรวจสถานการณ์ผักและผลไม้ช่วงวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2560 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสุ่มสำรวจจากตลาดค้าส่งของประเทศไทยพบว่า ผลไม้สดที่ตรวจพบสารพิษตกค้างหลายชนิด ได้แก่ 1.ส้มพบสารพิษ 9 ชนิด 2. แก้วมังกร 2 ชนิด 3.ฝรั่ง 2 ชนิด 4.มะม่วง 1 ชนิด 5.มะละกอ 1 ชนิด ขณะที่พริกยังครองแชมป์ผักที่พบสารพิษตกค้างหลายชนิดมากที่สุดถึง 9 ชนิด ส่วนผักสดยอดฮิตในช่วงตรุษจีนอย่าง ผักคะน้า พบสารพิษตกค้าง 4 ชนิด และผัดกาดขาวพบ 1 ชนิด
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า แม้การสุ่มตรวจผลไม้ ได้แก่ ส้ม มะม่วง ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย แก้วมังกร และชมพู่ จำนวน 99 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 59 ตรวจไม่พบและไม่เกินค่ากำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2554 และ Codex แต่ผลไม้สดที่มีอัตราการตรวจพบการตกค้างมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ส้ม แก้วมังกร ชมพู่ และลำไย ชนิดสารตกค้างที่มีอัตราการตรวจพบในผลไม้สดสูง คือ carbendazim ร้อยละ 34 และ cypermethrin ร้อยละ 23