ลูกชก ไม่ใช่นักมวย แต่ผลสวยเป็นพวงทะลาย กลายเป็น “ลูกชก” ผลดกจนแม่ตายเมื่ออายุได้ 25 ปี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Arenga pinnata Werr.

ชื่อสามัญ Sugar palm, Arenga palm, Candy palm

ชื่อวงศ์ ARECACEAE,/ PALMAE

ชื่ออื่นๆ ฉก ต๋าว ต้นชก เต่าเกียด กาฉก มะต๋าว โยก ชิด

ผมกลายเป็น “ของแปลก” จากป่า ทั้งรูปร่าง หน้าตา ชื่อเสียง และพฤติกรรมในสายตาผู้คนที่รู้จักผม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคน “ปักษ์ใต้” แม้ว่าแต่ละภาค แต่ละจังหวัด จะมีผลิตผลผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่รูปลักษณ์คล้ายๆ กับผม แต่ถ้าหากเอ่ยชื่อ และเรียกผมว่า “ลูกชก” ผมก็จะกลายเป็น “ของดีเมืองพังงา” และจัดเป็นพืชหายากในระดับประเทศ ยืนยันว่าพบผมได้ไม่มาก แม้ในจังหวัดพังงา หรือ กระบี่

แน่นอนว่าชื่อผมแปลกมากๆ เพราะถ้าอ่านภาษาเขียนว่า “ลูกชก” ก็เป็นพฤติกรรมของนักมวยที่ไป “ชก” และเป็นคำถามว่า “ลูกไปชกอะไร” แต่ในความจริง สำเนียงภาคใต้ที่ออกเสียงเป็นภาษาถิ่น เป็น “ฉก” เป็นชื่อพื้นเมืองที่เรียกผมว่า “หลูกฉก” จึงฟังแล้วอาจจะ งง-งง สับสนบ้าง แต่ปัญหากลับเป็นอุทาหรณ์เชิงพฤติกรรม ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ต้นลูกฆ่าแม่” ดูจะร้ายแรงกว่า “ลูกชก…แม่” เนื่องจากกว่าผมจะโตเต็มที่ ระดับเจริญพันธุ์ ออกดอก ผล เพื่อนำไปเพาะปลูกได้  ต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี คือเมื่อออกผลต้องถึงวัยเบญจเพส อายุ 25 ปี และออกครั้งเดียว หลังจากนั้นต้นแม่จะเหี่ยวตาย ภายใน 4-5 ปี ผลที่มาจากช่อดอก  จากยอดหนึ่ง ก็มีประมาณ 100 ผล แต่จะออกเป็นทะลาย เป็นพวงช่อห้อยลงมาจากยอดหลายสิบช่อ แต่ละทะลายมีความยาว 2-3 เมตร มีมากกว่าร้อยผล โดยคนปีนขึ้นไปตัด เหมือนปีนต้นมะพร้าว นำเชือกขึ้นไปผูกแล้วตัดห้อยลงมาข้างล่างระวังไม่ให้หลุดร่วงจะได้เป็นพวงสวย แต่ละช่อพวงหนักมาก

ผมอยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพืชอาหารทำของหวาน ผสมของคาวได้ แปรรูปได้หลายอย่าง รวมทั้งส่วนของลำต้น ทั้งใบ ดอก ยอด พวงก้านทะลาย เปลือกผล แต่เสียดายที่ผมไม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ คงเป็นเพราะว่ากว่าจะออกผลต้องคอยตั้ง 25 ปี ไม่ไหว จึงอาศัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่เมล็ดผลร่วงในสวนยาง สวนปาล์ม ชายน้ำ ชายเขา ผมเองก็กลัวว่าจะสูญพันธุ์เช่นกัน แต่ก็โชคดีที่มีกลุ่มญาติปาล์มของผม ที่คนเขาเรียกกันหรือรู้จักกัน เช่น ลูกลาน ลูกจาก ลูกชิด ลูกตาว ต้นต๋าว เรื่องนี้ถ้าอยากรู้รายละเอียดก็สืบค้นได้จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 659 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เขียนโดย คุณองอาจ ตัณฑวณิช อธิบายแยกไว้อย่างชัดเจนเรื่อง “ลูกชกของดีเมืองพังงา” แต่สำหรับผมภูมิใจมาก ก็คือตอนที่ผมได้โชว์ตัวที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ณ Sky Hall ชั้น 3 เซ็นทรัลพลาซ่า ในวันที่ 7-10 กันยายน 2560 ในงาน “30 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน เกษตรมหัศจรรย์ พืชกินได้ ไม้ขายดี” สำหรับผมจัดอยู่ในกลุ่ม “ต้นไม้หายากที่สุด”

สรรพคุณการใช้ประโยชน์ของผมก็มีมาก ชาวบ้านตัดทะลายผลสุกแล้วนำไปพักไว้ 7 วัน ใส่กระทะติดไฟต้ม ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วปลิดออกจากช่อ ตัดส่วนหัวออก เห็นเนื้อในเป็นพู 3 เมล็ด ใช้ช้อนตักออก นำไปล้างน้ำให้หมดเมือกลื่นๆ แล้วแช่น้ำไว้โดยเปลี่ยนน้ำเช้าเย็น หรือนำเก็บตู้เย็น แต่ไม่ควรเกิน 3 วัน นำไปต้มอีกครั้ง เติมน้ำตาล ปรุงรส กลิ่น บรรจุขวดปิดฝาแน่น แต่ชาวบ้านชอบนำไปหมักทำน้ำเมาก็ได้ หรือไปต้มเคี่ยวทำน้ำตาลปึก หรือตัดเป็นแว่นๆ ใส่ขนมหวาน หอม ทำเป็นผง ใส่เม็ดแมงลัก เฉาก๊วย ลอดช่อง จิ้มข้าวหลาม ใส่ไส้ขนมโค แต่วางขายในตลาด นิยมทำเป็น “ลูกชกลอยแก้ว”

 

ผมไม่เคยชกใคร หรือถูก ลูก..ชก แต่ถูกน็อคด้วยน้ำเชื่อมข้นๆ ใส่ขวดขายในตลาด เพราะกว่าจะให้ผล 1 ครั้ง ตั้ง 25 ปี แล้วก็…ลาตาย