ทำไมต้องใส่ ‘ปุ๋ย’ ในการเพาะปลูก? ไม่ใส่ได้หรือไม่?

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ
ผมขอเรียนถามคุณหมอเกษตร ว่า เพราะเหตุใดเกษตรกรบ้านเราจึงต้องใส่ปุ๋ยในการเพาะปลูก เพราะมีข่าวเสมอว่า ราคาปุ๋ยเคมีนั้นแพง และมีแนวโน้มว่าจะมีราคาแพงขึ้นทุกวัน เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยในทุกฤดูปลูก ถ้าราคาแพงและหาได้ยาก เราจะสามารถผลิตปุ๋ยใช้เองได้หรือไม่ ขอคำอธิบายด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
วรวิทย์ จึงสถาพร
สระบุรี

ตอบ คุณวรวิทย์ จึงสถาพร
ในอดีต การเพาะปลูกบ้านเราไม่เคยใช้ปุ๋ยมาก่อน แต่เราก็ยังดำรงคงอยู่ได้ ที่คุณเล่ามาผมเข้าใจว่าหมายถึงปุ๋ยเคมี ผมจึงขออนุญาตเรื่องปุ๋ย พอให้เข้าใจ ปุ๋ย หมายถึง สาร หรือสิ่งที่ใส่ลงดิน เพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับต้นไม้ในส่วนที่ขาดอยู่ให้ได้รับอย่างพอเพียง ปุ๋ย ยังแบ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และอนินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึงปุ๋ยที่ได้มาจากการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ ตัวอย่าง ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากสิ่งไม่มีชีวิต ส่วนมากมีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ย เช่น หิน แร่ธาตุต่างๆ แต่นิยมเรียกว่า ปุ๋ยเคมี ตัวอย่างปุ๋ยที่มี ธาตุฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ที่ได้มาจากใต้ปฐพี ส่วนปุ๋ยไนโตรเจน (N) ในรูปของยูเรีย มีโครงสร้างอย่างเดียวกับน้ำปัสสาวะของมนุษย์ และสัตว์เลือดอุ่น

ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยปรับโครงสร้างดิน และมีธาตุอาหารพืชอยู่บ้าง แม้จะมีอยู่ในปริมาณต่ำก็ตาม ส่วนปุ๋ยอนินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารที่ปรับให้ได้ตามความต้องการของพืชได้

ย้อนกลับไปในอดีตอีกครั้ง ประเทศไทยยังมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ความต้องการอาหารโดยเฉพาะข้าวยังไม่มาก อีกทั้งปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ปริมาณการส่งออกข้าวก็เพียงปีละ 1-2 ล้านตัน แต่ในปัจจุบัน ประชากรไทยและประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการอาหารก็เพิ่มขึ้นตามไป ดังนั้น การปฏิวัติเขียวของไทยจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยให้มีต้นเตี้ย ผลผลิตสูง ตอบสนองต่อปุ๋ย และสามารถปลูกได้ตลอดปี ตั้งแต่ครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเราสามารถผลิตข้าวได้ปีละ 23 ล้านตันข้าวเปลือก และส่งออกได้ 10 ล้านตันข้าวสาร นำเงินตราเข้าประเทศปีละ 1 แสนล้านบาทเศษ

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

จะเห็นว่า การเกษตรกรรมของไทยต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยเราไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้อีกแล้ว ความจำเป็นที่บังคับให้ใช้พื้นที่เท่าเดิมแต่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สถานการณ์จึงบังคับต้องใช้พันธุ์พืชให้ผลผลิตสูง ซึ่งต้องคู่ขนานไปกับการใช้ปุ๋ยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับการนำเข้าปุ๋ยฟอสฟอรัสนั้นมีความจำเป็น เนื่องจากบ้านเราไม่มีวัตถุดิบเลยก็ว่าได้ ส่วนปุ๋ยโพแทสเซียมนั้น แม้เราจะมีอย่างมากมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่โอกาสที่ขุดขึ้นมาใช้นั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ สำหรับปุ๋ยไนโตรเจนนั้นเราผลิตได้เองบางส่วนและมีการนำเข้าบางส่วน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354