กรมส่งเสริมการเกษตร ติดตามสถานการณ์การผลิตลำไย จังหวัดลำพูน พร้อมจับมือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำหน่ายลำไยคุณภาพ GAP ผ่านช่องทางออนไลน์

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การนำลำไยไปจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการขับเคลื่อนการผลิตลำไยคุณภาพของจังหวัดลำพูน ปี 2562 พบว่า จังหวัดลำพูนมีพื้นที่ปลูกลำไยรวม 270,189 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ปลูกลำไยในฤดู 167,318 ไร่ พื้นที่ลำไยนอกฤดู 102,871 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 230,690 ตัน เป็นลำไยในฤดู จำนวน 105,257 ตัน ลำไยนอกฤดู จำนวน 125,433 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาผลผลิตลดลง จำนวน 20,396 ตัน คิดเป็นร้อยละ 8.12 โดยผลผลิตจะออกมาปริมาณมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

ในส่วนของแผนบริหารจัดการลำไยในฤดู ปริมาณ 105,257 ตัน แบ่งเป็น 1. บริโภคสด ปริมาณ 37,340 ตัน ร้อยละ 35.48 ได้แก่ บริโภคสดภายในประเทศ จำนวน 7,340 ตัน โดยกระจายผ่าน Modern Trade เช่น Top Super Market, Makro, The mall, Lotus, Big C และ Thailand Post ตลาดภายในจังหวัด กระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ จัดงานประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายสดส่งออกต่างประเทศ โดยล้งส่งออกอีก 30,000 ตัน 2. แปรรูป ปริมาณ 67,917 ตัน ร้อยละ 64.52 ได้แก่ อบแห้งทั้งเปลือก โดยล้งอบแห้ง 55,787 ตัน อบแห้งเนื้อสีทอง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 8,130 ตัน และน้ำสกัดลำไยเข้มข้น 4,000 ตัน

ด้านโครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ ได้ดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดลำพูน จำนวน 50 แปลง เป็นแปลงใหญ่ลำไย จำนวน 33 แปลง เกษตรกร 2,181 ราย พื้นที่ 16,343 ไร่ มีเกษตรกรแปลงใหญ่ลำไยที่ผ่านการรับรอง GAP จำนวน 1,070 ราย โดยมีแปลงใหญ่ที่มีการเชื่อมโยงการตลาดร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ e-Market จำนวน 2 แปลง คือ แปลงใหญ่ลำไย ตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน และแปลงใหญ่ลำไย ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน

โดยได้ลงพื้นที่ติดตามแปลงใหญ่ลำไยของ นายชูชาติ รวมไทย ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยคุณภาพ ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer ณ ศพก. เครือข่าย หมู่ที่ 7 ตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และการเชื่อมโยงการตลาดร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สรุปข้อตกลงเบื้องต้น ไปรษณีย์ยินดีร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ลำไย โดยจัดสรรโควต้าให้แก่กลุ่มฯ ริมปิง จำนวน 200 ตะกร้า ต่อวัน เฉพาะเดือนสิงหาคม ราคาจำหน่ายจะเท่ากับสหกรณ์ประตูป่า มีข้อกำหนดลำไยจะต้องเป็นลำไยสดช่อ AA+A ขนาดลูกสม่ำเสมอ ต้องรมซัลเฟอร์ให้ได้มาตรฐานสีสวย บรรจุตะกร้า 5 กิโลกรัม และไปรษณีย์รับผิดชอบจัดทำสติกเกอร์ให้ ขนส่งลำไย 2 รอบ เช้า-เย็น จ่ายเงินทุกวันศุกร์ ขณะนี้สมาชิกแปลงใหญ่ตำบลริมปิงเตรียมความพร้อมสนใจเข้าร่วม 19 ราย ผลผลิตประมาณ 114,000 กิโลกรัม ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม

ต่อจากนั้นเดินทางลงพื้นที่ไปยังกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ศรีบัวบานติดตามการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ลำไยโดยใช้ e-Market และเยี่ยมชมแผนการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ได้แก่ การรับซื้อลำไยสดร่อนคัดเกรดส่งโรงงานอบแห้ง และการจำหน่ายลำไยสดคุณภาพ GAP ทั้งปลีกและออนไลน์ ณ ศพก. ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเริ่มการทำสินค้าเกษตรจำหน่ายผ่านไปรษณีย์ ภายใต้ Platform : Thailandpostmart เมื่อปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่าไปรษณีย์รู้จักผู้บริโภคในพื้นที่เป็นอย่างดี และการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นแนวโน้ม (Trend) ในอนาคต ผู้ผลิตสินค้าที่จะอยู่ได้ สินค้าเกษตรจะต้องดี มีคุณภาพ เน้นการคัดเกรดสินค้า (Sizing) การทำ packaging ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และการดำเนินงานแปลงใหญ่ในอนาคตจะต้องเป็นจุดที่มีความทันสมัย เจ้าหน้าที่และเกษตรกรต้องมีความรู้เรื่องการบำรุงรักษาผลผลิต การปรับตัวเรียนรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งด้านการตลาด