วิศวะ มทร.ศรีวิชัย พัฒนา “ระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ” สร้างอาชีพ สู่ชุมชนท่าข้าม

การบริการวิชาการแก่สังคมเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ ตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ โดยให้บริการวิชาการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานสาธารณะ ชุมชน และสังคม

ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการวิชาการนั้นมีความหลากหลาย อาทิ การอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรของสถาบัน เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ การทำประโยชน์แก่สังคม ได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ นำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร การบูรณาการ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเรียน การสอน รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ สร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษา สร้างรายได้ให้กับคณะ นำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ร่วมบันทึกข้อตกลง โครงการบริการวิชาการแก่สังคม ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บูรณาการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์สาขาต่างๆ นำความรู้ในสาขาวิชาของตนเองไปถ่ายทอดและเผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและท้องถิ่น สามารถต่อยอดความรู้ที่สอดคล้องและบูรณาการเข้ากับวิถีชุมชนได้เป็นอย่างดี จากการลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำอาชีพที่หลากหลาย เช่น กลุ่มผลิตมันทอดบ้านเขากลอย กลุ่มเครื่องแกงสมุนไพรบ้านคลองจิก กลุ่มขนมถั่วทอด กลุ่มขนมเปี๊ยะ กลุ่มน้ำสมุนไพร และกลุ่มเพาะเห็ดแครง เป็นต้น

ซึ่งแต่ละกลุ่มอาชีพนำแนวคิดมาพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็ง ทาง มทร.ศรีวิชัย มองว่าชุมชนท่าข้ามมีความตั้งใจในการพัฒนาอาชีพ และสามารถต่อยอดให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเพาะเห็ดแครง คณาจารย์พร้อมด้วยนักศึกษา มทร.ศรีวิชัย ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชาวบ้านในชุมชน พัฒนาให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพด้านอาหาร ซึ่งนวัตกรรมด้านอาหารมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิต นำไปสู่มาตรฐานของการผลิต การรับรองคุณภาพทางด้านอาหาร รวมถึงการนำสิ่งที่เหลือจากการผลิตนำมาผลิตซ้ำให้เกิดประโยชน์

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า สำหรับโครงการบริการวิชาการ พื้นที่บ้านหินเกลี้ยง เป็นการพัฒนาระบบโรงเรือนเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ พร้อมทั้งนำกลุ่มนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ลงพื้นที่ในการปฏิบัติงานจริง ทำการติดตั้งกล่องระบบให้เป็นแบบอย่าง เพื่อใช้สำหรับการทดสอบและการใช้งานจริงของระบบควบคุมอัตโนมัติ

Advertisement

โดยตัวกล่องที่ได้ออกแบบและพัฒนามานี้ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 5 ปี มีการติดตั้งกล่องระบบให้กับกลุ่มเกษตรกรและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในหลายพื้นที่ อาทิ ตำบลกระดังงา ตำบลท่าข้าม ที่บ้านหินเกลี้ยงเป็นอีกศูนย์เรียนรู้สำหรับการเรียนรู้ การสาธิต ระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ โดยระบบจะมีการใช้พลังงานที่ต่ำมาก ทั้งระบบจะใช้พลังงานไม่ถึง 15 วัตต์ จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเพาะเห็ดในรูปแบบอื่น นอกจากนี้ ตัวกล่องพัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติยังถูกออกแบบและควบคุมให้สามารถใช้ในการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ได้ อาทิ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม และเห็ดหลินจือ

Advertisement

สำหรับหลักการทำงานของระบบจะไม่ใช่เป็นแบบตัวตั้งเวลาอย่างเดียว แต่จะมีการเช็คอุณหภูมิ จะมีเซ็นเซอร์ตัววัดอุณหภูมิมีความละเอียด 0.1 องศา โดยนำตัวเซ็นเซอร์ดังกล่าววางไว้ใต้ก้อนเห็ดแครง เมื่อก้อนเห็ดแครงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ตัวกล่องระบบก็จะทำการสั่งรดน้ำ ตัวให้น้ำก็จะพ่นละอองน้ำให้กระจายรอบโรงเรือน มีรัศมีการกระจายละอองน้ำประมาณ 5 เมตร การให้น้ำแบบนี้จะไม่มีตัวตกค้างอยู่ในก้อนเห็ดแครง จะช่วยให้เห็ดแครงออกดอกอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

คุณเพ็ญพร ขวัญขำ ประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดแครง ชุมชนบ้านหินเกลี้ยง กล่าวว่า หลังจาก มทร.ศรีวิชัย เข้ามาติดตั้งกล่องระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัตินั้น มีประโยชน์กับทางกลุ่มอย่างมาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้กลุ่มเกษตรกรบ้านหินเกลี้ยง ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ใช้เวลาว่างหลังจากการทำสวน ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ (089) 738-6158