เผยแพร่ |
---|
น้ำท่วมภาคใต้ปีนี้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นมา จนสถานการณ์หนักสุดในช่วงวันที่ 6-7 มกราคม 2560 แม้ฝนจะตกในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหาย ถนนถูกตัดขาด หลายจังหวัดน้ำท่วมเต็มพื้นที่ ทุกหน่วยงานจึงต้องระดมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางการเกษตร เพื่อคอยวิเคราะห์สถานการณ์ ที่ส่งผลกระทบด้านการเกษตร รวมถึงเตือนภัย ติดตามเร่งรัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และรายงานความเสียหาย พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่
ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่าถึงข้อมูลของสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า มีจำนวน 967 แห่ง จำนวนสมาชิก 825,714 ราย จังหวัดที่มีสหกรณ์ได้รับความเสียหายสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 133 แห่ง พัทลุง 76 แห่ง สุราษฎร์ธานี 72 แห่ง ชุมพร 69 แห่ง และประจวบคีรีขันธ์ 62 แห่ง และจังหวัดที่มีกลุ่มเกษตรกรได้รับความเสียหายสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 97 แห่ง สุราษฎร์ธานี 58 แห่ง พัทลุง 38 แห่ง ชุมพร 34 แห่ง และประจวบคีรีขันธ์ 31 แห่ง จึงได้สั่งการให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่เขตภัยพิบัติจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจชาวบ้านและสมาชิกสหกรณ์ พร้อมทั้งนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาดูแลพื้นที่การเกษตรและอาชีพการเกษตรของสมาชิกที่เสียหาย รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานปกครองของท้องที่ เข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย และประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเตือนภัย และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แล้วแจ้งให้สมาชิกสหกรณ์และประชาชนในพื้นที่ได้วางแผนวิธีตั้งรับที่ดี
ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรมรับผิดชอบลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยคนละ 3 จังหวัดและร่วมกันวางแผนช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที และแจ้งให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 ครอบครัวละ 3,000 บาท
สำหรับมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรในพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้วางแนวทางให้ความช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟูและระยะยาว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเร่งฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
มาตรการระยะเร่งด่วน กรมฯได้จัดถุงยังชีพไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัย โดยได้เปิดรับมอบเงินและสิ่งของบริจาคจากหน่วยงานและขบวนการสหกรณ์ ได้รับบริจาคข้าวสาร 99 ตัน ปลากกระป๋อง 2000 กระป๋อง นมพร้อมดื่ม 1,000 กล่อง ผัดหมี่โคราชสำเร็จรูป 500 ถุง ส่วนเงินสดได้นำไปจัดซื้อน้ำดื่ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำปลา และอาหารปรุงสุก แจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยแล้ว 32,726 คน ขณะนี้ยังมีสหกรณ์ต่าง ๆ ทยอยบริจาคข้าวสาร สิ่งของและเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนจัดซื้อถุงยังชีพไปมอบให้ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการระยะฟื้นฟูหลังน้ำลดระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การอบรมอาชีพเสริม เพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์จะจัดอบรม สอนอาชีพให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ใช้เวลา 2 วัน รุ่นละ 30 คน เน้นการพัฒนาอาชีพเดิม หรือสร้างอาชีพใหม่ที่สามารถเพิ่มรายได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ขณะนี้สหกรณ์จังหวัดได้สำรวจความต้องการของสมาชิกสหกรณ์ว่ามีความประสงค์จะเข้ารับการอบรมอาชีพ มีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อได้วางแผนกำหนดวันจัดอบรม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และใช้พื้นที่ภายในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) เป็นสถานที่จัดอบรม
สำหรับการลดรายจ่ายในครัวเรือน จะฝึกอบรมซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น เครื่องไถเดินตาม เครื่องปั้มน้ำ เครื่องตัดหญ้าที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม เน้นการเน้นฝึกปฏิบัติจากของจริง เพื่อให้นำความรู้กลับไปซ่อมได้เองโดยจะจัดอบรมรุ่นละ 25 คน และจะประสานกับวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัด หรือเกษตรกรที่เคยผ่านการอบรมซ่อมเครื่องจักรกลกับทางศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) เข้ามาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตรกับเกษตรกรรายอื่นๆ โดยจะจัดอบรมซ่อมเครื่องจักรกลขึ้นในชุมชน ตำบล หมู่บ้านที่เกษตรกรสะดวกในการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาเข้ารับการอบรมการซ่อมบำรุง
มาตรการระยะยาว กำหนดเป้าหมายในการบรรเทาปัญหาด้านหนี้สินและจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูอาชีพการเกษตร โดยกรมฯจะสำรวจจำนวนสมาชิกที่เป็นหนี้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเสนอให้สหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตรกร ขยายเวลาชำระหนี้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมออกไปอีก 6 เดือน และจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการคื อต้องมีหนี้เงินกู้อยู่กับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรก่อนวันประกาศภัยพิบัติ ต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร และต้องอาศัยอยู่ในจังหวัดเป็นเขตประกาศภัยพิบัติ
นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ยังได้จัดสรรเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลาให้กู้ 1 ปี วงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมไปฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกที่ประสบอุทกภัย ซึ่งได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดรวบรวมรายชื่อสหกรณ์ที่แจ้งความประสงค์จะขอกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยมายังกรมฯ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสหกรณ์พิจารณา และหากวงเงินที่จัดเตรียมไว้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ อาจจะขอมติที่ประชุมอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของสหกรณ์ และคาดว่าจะจัดสรรเงินกู้ยืมเพื่อให้สหกรณ์นำไปฟื้นฟูอาชีพแก่ สมาชิกได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สำหรับสหกรณ์ที่กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ไปเป็นทุนในการดำเนินงานตั้งแต่ก่อนเกิดอุทกภัย และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลทำให้ธุรกิจของสหกรณ์หยุดชะงัก ไม่สามารถชำระหนี้คืนกองทุนฯได้ตามสัญญา สามารถขอขยายผ่อนผันการชำระนี้ออกไประยะหนึ่ง
การร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่ระดมความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย หวังว่าจะช่วยส่งผลทำให้วิกฤติปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และสามารถพลิกฟื้นอาชีพการเกษตรของเกษตรกรในภาคใต้ให้เข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็วในที่สุด