วุฒิชัย และ วันทนา ทองเล่ม สองพี่น้องเมืองลับแล ผลิตมะยงชิดคุณภาพ ขายผ่านสื่อออนไลน์ ได้ราคาดี

คุณวุฒิชัย ทองเล่ม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 1 บ้านแสนสิทธิ์ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 091-028-3692 เล่าให้ฟังว่าได้ปลูกมะยงชิดมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2550 มีเหตุจูงใจให้ต้องมาทำสวน เดิมทีก็ทำงานในบริษัทเอกชนที่จังหวัดลำปาง แต่ได้ขอลาออกเพื่อมาดูแลพ่อ และสานต่องานสวน ก็เลือกที่จะปลูกมะยงชิด เพราะเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ซึ่งเป็นเนินเขาสลับกับพื้นราบ มีความแห้งแล้ง มะยงชิดน่าจะเหมาะสม ธรรมชาติของมะยงชิดไม่ชอบน้ำอยู่แล้ว มีความทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ทำให้ประหยัดการใช้น้ำ ทนแดด ได้เลือกมะยงชิดสายพันธุ์ทูลเกล้า ได้กล้าพันธุ์มาจากจังหวัดนครนายก เหตุผลที่ใช้สายพันธุ์ทูลเกล้า เพราะให้ผลโต เมล็ดเล็กหรือเมล็ดลีบ น่าจะมีคุณภาพ จำนวนต้นที่ปลูก 400 ต้น ปลูกระยะห่างระหว่างต้น 4×4 เมตร ใช้แรงงานภายในครอบครัว คือ ตนเองกับพี่สาวเป็นผู้ดูแล

คุณวุฒิชัย ทองเล่ม (คนที่ 1 จากซ้าย) คุณวันทนา ทองเล่ม (คนที่ 3) และพี่สาวอีกคนหนึ่ง (คนที่ 2)

การปฏิบัติการกับต้นมะยงชิด
เรื่อง ดิน น้ำ ปุ๋ย

คุณวุฒิชัย ทองเล่ม ได้อรรถาธิบายให้ฟังว่า ต้นมะยงชิดของตนมีอายุ 10 ปี ผ่านการดูแลตั้งแต่ต้นยังเล็ก จนโตให้ผลผลิตมาหลายปี จึงขอเล่าถึงการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยวผลไปแล้ว

หลังการเก็บผลมะยงชิด จนหมดรุ่นแล้วก็จะเริ่มปฏิบัติการในการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นมะยงชิดแตกใบอ่อนอย่างมีคุณภาพ อย่างน้อย 2 ชุดใบ และเตรียมความพร้อมให้ต้น กิ่ง ใบ มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะให้ผลผลิตในฤดูกาลต่อไป แต่ก่อนการเริ่มที่จะตัดแต่งกิ่ง ทางดิน จะบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอกที่ใช้วัตถุดิบจากมูลวัว มูลไก่ หรือแกลบผสมมูลไก่ แล้วทอดระยะเวลาสักพัก จึงจะตัดแต่งกิ่ง นำใบ กิ่งแขนงเล็กๆ กลบไว้ที่โคนต้นของมะยงชิด เพื่อจะรักษาความชื้นในดิน

มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า

หลังจากนั้นก็จะให้น้ำตลอดเป็นระยะๆ โดยให้น้ำประมาณเดือนละครั้ง ไม่ได้ให้น้ำถี่หรือบ่อย เพราะมะยงชิดเป็นไม้ผลที่ทนแล้งอยู่แล้วโดยธรรมชาติ กับอีกเหตุผลหนึ่งถ้าให้น้ำถี่ ต้นมะยงชิดก็จะแตกใบมาก ซึ่งไม่เหมือนการดูแลเมื่อครั้งแรกเริ่มที่ปลูกต้นมะยงชิดใหม่ๆ จะให้น้ำในปริมาณมาก และมีความถี่ เพื่อให้ต้นแตกยอดดี โตไว

แต่เมื่อต้นโตแล้ว การดูแลก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะเราต้องการผล คุณภาพของผลมะยงชิด โดยปกติจะดูแลให้ต้นมะยงชิดแตกใบ 2 ชุดใบ แต่ละชุดใบเมื่อแตกยอดอ่อนจะฉีดพ่นปัจจัยต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพของใบ ป้องกันไม่ให้แมลงมากัดกินใบอ่อน

จากนั้นจะดูแลด้วยการให้ธาตุอาหาร ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และให้ปุ๋ยเร่งดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ด้านลม ฟ้า อากาศด้วย บางครั้งก็ให้ปุ๋ยเร็วกว่านี้ เท่าที่ปฏิบัติการให้ปุ๋ย หากเป็นใบอ่อนชุดแรก จะให้ปุ๋ยพอประมาณ ซึ่งในชุดนี้จะแตกใบไม่มากนัก และมักมีแมลงมารบกวน แต่ถ้าเป็นใบชุดที่ 2 หรือ 3 จะให้ปุ๋ยในปริมาณมาก

นอกจากนั้น ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน จะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 แล้วให้น้ำในปริมาณที่มาก จากนั้นก็จะถึงช่วงเวลาแห่งการรอคอย คือช่วงการเปิดตาดอก ซึ่งมีความสำคัญมาก คุณวุฒิชัย บอกว่า การเปิดตาดอกของสวนแห่งนี้จะใช้แคลเซียมคาร์บอเนต และแคลเซียมฟอสเฟต โดยจะให้แคลเซียมฟอสเฟตก่อน ซึ่งเป็นผง นำมาผสมน้ำ การให้แคลเซียมฟอสเฟตก่อน จะส่งผลให้มะยงชิดติดผลดี

เมล็ดเล็ก-ลีบ

และใช้วิธีการเสริมด้วยการติดตั้งหลอดไฟขนาด 50 วัตต์ เป็นหลอดไฟที่ให้แสงสีเหลือง เลียนแบบแสงอาทิตย์ ช่วงที่จะเปิดตาดอก จะติดตั้งหลอดไฟเพียงหลอดเดียวต่อ 1 ต้น แขวนไว้กลางทรงพุ่ม เปิดไฟให้แสงสว่างในช่วงเวลา 6 โมงเย็น จนถึง 6 โมงเช้าของอีกวันหนึ่ง จะเปิดเช่นนี้ตลอด จนต้นมะยงชิดผลิดอกรุ่นแรก วิธีการนี้จะช่วยเร่งในเรื่องการออกดอกติดผล และยังช่วยไล่แมลงอีกด้วย

เจ้าของให้ความสำคัญกับการดูแลช่วงการออกดอก เมื่อปลายยอดสุดของต้นมะยงชิดแตกตาดอก ช่วงเป็นกระเปาะไข่ปลา จะคอยฉีดพ่นปัจจัยต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพของช่อดอก เว้นแต่ช่วงดอกบานต้องงดพ่น แต่ให้ธาตุอาหารได้

ติดผลดก

การดูแลมะยงชิดให้ได้คุณภาพ

คุณวุฒิชัย บอกว่า เมื่อเห็นผลของมะยงชิดมีผลเล็กๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟ จะฉีดพ่นฮอร์โมนสังเคราะห์แสง หรือฮอร์โมนไข่ ให้ทุกสัปดาห์ เมื่อผลมะยงชิดเริ่มโต ผลสีเขียว จะให้น้ำแบบพรมน้ำรอบๆ ทรงพุ่ม จะทำให้เพิ่มขนาดของผล และเพื่อป้องกันผลแตก จะฉีดพ่นแคลเซียม หรือแคลเซียมโบรอนให้ช่วงให้ผลจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว

อาจจะมีแมลงมารบกวน โดยเฉพาะแมลงวันทอง “ป้องกันและกำจัดโดยใช้ขวดพลาสติกเหลือใช้มาผ่าข้างขวด 2 ข้าง ตรงกันข้ามของขวด พอให้แมลงบินเข้าไปภายในขวดได้ ภายในขวดจะใช้ผ้าหรือวัสดุอื่นชุบสารล่อแมลงวันทอง ใส่ไว้เพื่อล่อให้แมลงเข้าไปในขวด นำไปแขวนไว้ตามต้น และภายนอกบริเวณสวน วิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก เหมือนเช่นการห่อผล ซึ่งต้นทุนสูง และใช้แรงงานมาก” คุณวุฒิชัย บอกอีกว่า “ก็เคยห่อนะ วิธีการก็คือ ใช้ถุงพลาสติกใสเจาะรูถุงให้ใหญ่เพื่อช่วยในการระบายอากาศ ถ้าไม่เจาะจะทำให้ผลแตก การห่อมีข้อดีคือทำให้ผลใหญ่ขึ้น แต่ก็มีข้อเสียด้วย คืออาจทำให้ผลแตก”

การเก็บผลมะยงชิด

คุณวุฒิชัย กล่าวว่า ผลมะยงชิดหากนับระยะเวลาตั้งแต่ดอกบานจนถึงการเก็บผล จะใช้เวลาการพัฒนาผลประมาณ 75-80 วัน
ผลผลิต ต้นมะยงชิดที่มีความสมบูรณ์ จะให้ผลผลิตต้นละ 25 กิโลกรัม แต่บางปี ฝน ฟ้า อากาศดี ก็จะให้ผลผลิตมากกว่านี้ ผลจะมีขนาดใหญ่พอๆ กับไข่เป็ดหรือไข่ไก่ จำนวน 9-12 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม

ขนาด 12 ผล 1 กิโลกรัม

การเก็บผล จะเก็บผลที่ความสุกแก่ที่ร้อยละ 70-80 แต่ถ้าปล่อยไว้บนต้นนานกว่านี้ จะทำให้ผลสุกช้ำ เมื่อเก็บแล้วนำไปขายจะเสียราคา ผลมะยงชิดจะเก็บได้ 2 รุ่น รุ่นที่ 1 เก็บผลได้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ รุ่นที่ 2 ช่วงปลายเดือนมีนาคม

ผลมะยงชิดในท้องถิ่นนี้จะมี 2 เกรด คือ เกรดสวย กับเกรดลาย เหตุที่ผลมะยงชิดมีผลลาย บางครั้งจะเห็นเป็นจุดตำหนิที่ผลเป็นจุดสีดำ กรณีนี้เกิดจากการที่ผลมะยงชิดผลอื่นหลุดร่วง ทำให้เกิดยางไหลถูกผลที่อยู่ด้านล่าง แต่ถ้าหากใช้วิธีติดสปริงเกลอร์ไว้สูงกว่าต้น แล้วเปิดน้ำ จะช่วยบรรเทา ช่วยล้างผิว และยังช่วยเพิ่มขนาดของผล ช่วงผลยังมีสีเขียว อีกทั้งช่วยไล่แมลงได้ด้วย

.สีสวย

จุดเด่นของมะยงชิดที่นำมาปลูกในแต่ละพื้นที่ จะมีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ลม ฟ้า อากาศ แต่มะยงชิดที่สวนแห่งนี้
ผล ใหญ่มาก หากนำผลมาชั่ง จะได้ 9-12 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม
รสชาติ หวาน รสอมเปรี้ยวอมหวาน
เนื้อ นิ่ม หนา กรอบ เนื้อไม่ยุ่ย ไม่เละ
เมล็ด เล็กหรือเมล็ดลีบ

เคล็ดลับในการกินมะยงชิดให้อร่อย กรอบ

คุณวุฒิชัย ได้กล่าวถึงเคล็ดลับดังกล่าวว่า “ต้องฝานเปลือกผลมะยงชิดออกแค่บางๆ ให้ติดผิว แล้วนำใส่กล่องแช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อนำออกมากินจะได้เนื้อที่ฉ่ำน้ำ เนื้อจะกรอบ”

รอส่งตลาด

ตลาดมะยงชิด คุณวุฒิชัย บอกว่า มีหลายวิธีการที่จะขาย ได้แก่ ขายส่งให้ล้งที่มาตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ ถ้าเป็นมะยงชิดเกรดสวยรุ่นแรก จะได้ราคากิโลกรัมละ 90-95 บาท แต่ถ้าเป็นเกรดลาย ราคาจะตกไปอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40-50 บาท เท่านั้น กับอีกวิธีการหนึ่งคือ ขายผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และไลน์ ซึ่งจะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120-150 บาท โดยไม่แยกเกรด

ปลูกไม้ผลอื่นที่ให้ผลผลิตตลอดฤดูกาล

คุณวันทนา ทองเล่ม พี่สาวของคุณวุฒิชัย นอกจากช่วยเหลือการทำสวนให้กับครอบครัวทองเล่มแล้ว เธอยังมีงานประจำอยู่ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ แพร่ อีกด้วย ได้เล่าให้ฟังว่า “ที่สวนแห่งนี้ปลูกไม้ผลอื่นๆ ด้วย เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งฤดูกาล”

ปลูกหม่อนเสริม

-ทุเรียน และมังคุด จะให้ผลผลิตช่วงเดือนสิงหาคม
-ลางสาด ให้ผลผลิตเดือนกันยายน
-ลองกอง ให้ผลผลิตเดือนตุลาคม
-มะยงชิด ให้ผลผลิตเดือนมีนาคม
-หม่อนกินผล ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ขายได้ทั้งผลสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหม่อนอีกด้วย

หม่อนกินผล
ผลิตภัณฑ์น้ำหม่อน

ติดต่อสอบถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ คุณวุฒิชัย หรือ คุณวันทนา ทองเล่ม ทางโทรศัพท์ ตามหมายเลขที่แจ้งไว้ตอนต้นครับ

เผยแพร่ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2562