ขวัญชัย แตงทอง เกษตรกรทำนาดีเด่น ปี 2562 ที่ชัยนาท

“ข้าว” คือต้นธารแห่งวัฒนธรรมของคนไทย เป็นรากฐานของชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีวิถีชีวิตและสังคมของไทย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมาก สังคมไทยที่เคยเป็นสังคมเกษตร ปัจจุบันต้องพบกับปัญหา เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อมองถึงความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทย จึงไม่ควรมองความสำคัญจากมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือคิดเป็นมูลค่าจากจำนวนเงินเท่านั้น เพราะสถานะภาคเกษตรมีความสำคัญในการเกื้อหนุนชีวิตแรงงานภาคเกษตร

ซึ่งปัจจุบันอาชีพชาวนาต้องพบกับปัญหา เนื่องจากลูกหลานชาวนาส่วนใหญ่ต่างเข้ามาทำงานในเมือง หรือเคลื่อนย้ายสู่แรงงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น เพราะเห็นว่าอาชีพทำนาเป็นงานที่หนัก ต้องพึ่งพาธรรมชาติ เกิดความสูญเสียจากภัยพิบัติบ่อยครั้ง ต้นทุนการผลิตที่สูง ราคาและรายได้น้อยไม่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการที่มั่นคง เหลือแต่ชาวนาสูงวัย จึงทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า อนาคตข้างหน้าอาจกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ดังนั้น การเรียนรู้การทำนาอย่างถูกต้อง โดยยึดหลัก 3 ป. คือ ประหยัด ปลอดภัย และปฏิบัติได้ จะส่งผลให้ชาวนามีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เกษตรกรดีเด่น สาขาทำนา ปี 2562 ที่จังหวัดชัยนาท

คุณขวัญชัย แตงทอง

คุณขวัญชัย แตงทอง เกษตรกรวัย 51 ปี เล่าว่า หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ยึดอาชีพทำนา ถิ่นฐานบ้านของคู่ชีวิต เลขที่ 25 หมู่ที่ 9 บ้านทับใต้ ตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ในระยะแรกเริ่มต้องพบกับปัญหาจากการเป็นหนี้สินจำนวนมาก เนื่องจากอาชีพทำนาประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง เพื่อจัดหาสารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่เข้ามารบกวนข้าว เนื่องจากขาดความรู้ในการทำนาที่มีประสิทธิภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีแบบตามกระแสของเพื่อนเกษตรกร และการคาดคะเนว่าอะไรจะเกิดขึ้น

จนกระทั่ง ปี 2536 ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เพื่อเรียนรู้การลดต้นทุนและศึกษาการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และนำเอาความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ จนทำให้การทำนามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง มีผลกำไรมากขึ้น การหาความรู้เพิ่มเติมจากหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนที่เชิญชวนเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มพูนความรู้ควบคู่กับการทดลองใช้ในไร่นาอย่างไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้การใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีลดลงอย่างชัดเจนเห็นเป็นรูปธรรม

แปลงนาสาธิตการติดตามศัตรูข้าว

ลดต้นทุนการผลิต

ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการลดการเผาตอซังและฟางข้าว เนื่องจากเมื่อก่อนมีการทำนาอย่างต่อเนื่องและเผาตอซังและฟางข้าวตลอด จึงทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ปุ๋ย และเกิดความเสื่อมโทรมของดิน จึงทำให้มีการใช้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ผลผลิตกลับลดลง

จึงได้กลับมาหยุดการเผาฟางแล้วใช้การหมักฟางและตอซังแทน โดยใช้น้ำหมักฉีดพ่นฟาง 5 ลิตร ต่อไร่ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วย่ำหมักทิ้งไว้ 10-15 วัน พร้อมทำเทือกก่อนการปักดำ การไม่เผาฟางจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และได้ธาตุอาหารจากการหมักฟางข้าวเป็นบางส่วน อีกทั้งเพื่อการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารจะปล่อยแหนแดงเมื่อข้าวอายุได้ 25-30 วัน ช่วยในการควบคุมวัชพืชเมื่อย่อยสลายจะเป็นวัตถุอินทรีย์และธาตุอาหารให้กับข้าว

ถังสกัดสมุนไพรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

คุณขวัญชัย ใช้ปุ๋ยพืชสดในการปลูกพืชหลังฤดูกาลทำนา แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด มีการลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มีการสำรวจแปลงนาทุกสัปดาห์ มีการใช้เครื่องจักรมาปักดำแทนการหว่าน ใช้จุลินทรีย์ PGPr2 (แบคทีเรียในดินที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth – Promoting Rhizobacteria : PGPR) ใช้ในการคลุกเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยจนทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง 1,500-2,000 บาท ต่อไร่ โดยผลผลิตไม่ลดลง บางฤดูกาลได้มากกว่าเกษตรกรทั่วๆ ไป 5-10%

แสดงความแตกต่างของรากข้าว เปรียบเทียบจากการใช้ปุ๋ย

ป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน

IPM (Integrated Pest Management)คือการทำนาแบบผสมผสาน สร้างระบบนิเวศให้สมดุล ใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช โดยใช้วิธีหลายๆ วิธีในการควบคุมศัตรูพืช ไม่ให้มีปริมาณที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดความเสียหาย ประหยัด ปลอดภัย ปลูกพืชให้แข็งแรง อนุรักษ์ธรรมชาติ การสำรวจแปลงทุกสัปดาห์ นอกจากสำรวจดูโรค-แมลงศัตรูพืช วัชพืช ศัตรูธรรมชาติ สภาพอากาศ ความชื้น และลม อีกทั้งได้ดูความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของต้นข้าวด้วยการตั้งท้องของข้าวก่อนใส่ปุ๋ยรับท้อง ด้วยการผ่าต้นข้าวดู ในช่วงอายุข้าว 50 วัน ว่ามีการสร้างรวงอ่อนหรือยัง ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ในการรับท้องไม่เกิน 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อฤดูกาล

ตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน

ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

ใช้ปุ๋ยใส่ตามค่าวิเคราะห์ โดยการวิเคราะห์ดินก่อนเพาะปลูก เพื่อหาธาตุอาหารที่มีแล้วเติมตัวที่ขาด ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นแม่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 หรือ 18-46-0 หรือ 0-0-60 ใส่ตามค่าวิเคราะห์ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลงได้ 360-400 บาท ต่อไร่ อีกทั้งใส่ปุ๋ยผสมกับจุลินทรีย์ PgPr2 โดยใช้จุลินทรีย์ PgPr2 ในการคลุกเคล้าเมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ย จะช่วยเรื่องการดูดซับปุ๋ยลดการใช้ปุ๋ย 25% ช่วยเพิ่มปริมาณรากข้าว ทำให้สามารถดูดซับธาตุอาหารได้มากขึ้น

แม่ปุ๋ยเคมีเพื่อการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
การเรียนรู้การผสมปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

รวมทั้งการใช้น้ำหมักชีวภาพสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ทดแทนสารเคมี ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี และการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและโรคพืช เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า สารสะเดา และน้ำหมักชีวภาพชนิดต่างๆ รวมต้นทุนการผลิตจากการลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดแมลงศัตรูพืชโรคพืช รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000-2,000 บาท ต่อไร่ ต่อฤดูกาล

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้ว หลังการพักการทำนาจะหว่านปอเทือง เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปลูกพืช ช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชบางชนิดลงได้ เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ยุวเกษตรกรศึกษาแหนแดงในนาข้าว

จุดเด่นด้านการตลาด

เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มศักยภาพการผลิตในชุมชน คุณขวัญชัย ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา และศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ในรูปของนาแปลงใหญ่ บ้านบึงม่วง จัดทำแปลงเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์ข้าวและเกษตรกรทั่วไป และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง บางส่วนใช้แปรรูปเป็นข้าวสารไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายกับผู้สนใจ ทำให้ได้ราคาสูงกว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วๆ ไป 1,500-2,500 บาท

คุณขวัญชัย กล่าวว่า การดำเนินงานฟาร์ม มีจุดมุ่งหวังเพื่อลดต้นทุนเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การจัดทำบัญชีฟาร์ม เพื่อรู้ต้นทุนในการทำนา และใช้ในการวางแผน วิเคราะห์การทำนาในปีต่อไป อีกทั้งการวางแผนผังพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไร่นาสวนผสม และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและเรียนรู้ของผู้สนใจ “ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอหันคา” (ศพก. หันคา) โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา เป็นที่ปรึกษา

คณะศึกษาดูงานเรียนรู้การลดต้นทุนการผลิตข้าว
คณะศึกษาดูงานจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหันคา

ใช้พื้นที่ทั้งหมด 25 ไร่ แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 24 ไร่ ดังนี้ ทำนา 19 ไร่ ที่อาศัย 1 ไร่ ปลูกผัก 2 ไร่ บ่อน้ำ 0.5 ไร่ ทำสวน 1 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 0.5 ไร่ และอื่นๆ 1 ไร่ รางวัลจากการประกวดเกษตรกรทำนาดีเด่น ในปี 2562 มิใช่เป็นรางวัลสูงที่สุดในชีวิตเท่านั้น แต่เป็นรางวัลที่เพิ่มพลังให้กับทีมงานคณะทำงาน ศพก. หันคา เพราะผลงานที่เกิดขึ้นได้ร่วมพลังเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างไม่หยุดนิ่ง และขอสัญญาว่าจะร่วมกับหน่วยงานราชการพัฒนาต่อไป เพราะยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่รอการพัฒนา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ หรือ โทรศัพท์ 081-727-9604