เคาะตัวเลข 4 สินค้าเศรษฐกิจ แจงข้อมูล ข้าว-สับปะรด-ยาง-ปาล์ม ปี 61 ภาคตะวันออก

นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออก ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บและสำรวจข้อมูลจากเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในข้อมูลของแต่ละกรมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่น กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 4 สินค้า ได้ ข้าวนาปี  ปีเพาะปลูก 2561/62 สับปะรดโรงงาน  ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ปี 2561

คณะทำงานฯ ได้ให้ความเห็นชอบรับรองข้อมูล (ณ 14 มิถุนายน 2562) ดังนี้ ข้าวนาปีภาคตะวันออก    ปีเพาะปลูก 2561/62 รวม 9 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ) มีเนื้อที่เพาะปลูก 2,227,121 ไร่ ลดลงจากปี 2560/61 ร้อยละ 0.66 เนื่องจากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่นาไม่เหมาะสม และเกษตรกรส่วนหนึ่งที่มีพื้นที่เป็นนาดอนปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ไม้ผล อ้อยโรงงาน ยูคาลิปตัส หมาก ส่วนที่นาลุ่มปรับเปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงปลา และบางส่วนนายทุนไม่ให้เช่าที่ อีกทั้งปรับเป็นที่อยู่อาศัย เนื้อที่เก็บเกี่ยว 2,143,888 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 ผลผลิตรวม 1,055,150 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 ผลผลิตต่อไร่ต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวได้จริง ณ ความชื้น 15% อยู่ที่ 492 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ร้อยละ 0.16 เนื่องจากสภาพที่ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอในช่วงเจริญเติบโต และประสบปัญหาโรคแมลงระบาดค่อนข้างน้อย

สับปะรด ภาคตะวันออกปี 2561 รวม 5 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา) มีเนื้อที่เพาะปลูก 76,715 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ  2.19 เนื้อที่เก็บเกี่ยว 75,213 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.50 เนื่องจากราคาสับปะรดที่สูงจากปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 ทำให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นและสามารถบังคับผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในปี 2561 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 5,871 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2560  ร้อยละ 0.60 ผลผลิตรวม 441,584 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเหมาะสม ปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติมีเพียงพอทำให้สับปะรดปีที่ออกตามธรรมชาติในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เก็บเกี่ยวได้จำนวนมาก

ยางพารา ภาคตะวันออก ปี 2561 รวม 8 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา) มีเนื้อที่ยืนต้น 2,070,491 ไร่ ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 1.37 เนื่องจากราคายางพาราตกต่ำเกษตรกรปรับเปลี่ยนปลูกไม้ผล และปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เนื้อที่กรีดได้ 1,824,403 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.00 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 212 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ผลผลิตรวม 386,198 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.38 เนื่องจากมียางพาราที่ปลูกในปี 2555 เริ่มเปิดกรีดได้ในปี 2561 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น  เนื้อที่กรีดได้ผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตรวมจึงเพิ่มขึ้น

ปาล์มน้ำมัน ภาคตะวันออก ปี 2561 รวม 9 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ) เนื้อที่ยืนต้น 320,745 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 ร้อยละ  0.77 เนื้อที่ให้ผล 303,556 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.95 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 2,536 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.71 ผลผลิตรวม 769,827 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.77 โดยเนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผล ผลผลิตต่อไร่ ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นทุกชนิดเนื่องจากมีการปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2560 มากกว่าการโค่นทิ้ง เพราะราคา ยังจูงใจให้ขยายพื้นที่เพิ่ม และปาล์มที่ปลูกในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปี 2561 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น อีกทั้งสภาพน้ำฝนในปี 2560 มีเพียงพอสม่ำเสมอทำให้ปาล์มสร้างทะลายได้สมบูรณ์ มีปาล์มน้ำมันขาดทะลายน้อย (ปาล์มขาดคอ)

ทั้งนี้ คณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออก จะนำข้อมูลเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรด้านพืชเพื่อเป็นข้อมูลระดับประเทศ สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลสถิติและสถานการณ์พืชเศรษฐกิจในภาคตะวันออกสามารถสอบถามได้ที่ สศท.6  โทร. (038) 351-398 หรืออี-เมล [email protected]

Advertisement