“ต้นแค” ผักพื้นบ้านปลูกง่าย ต้านหนาว เป็นไข้หัวลม ต้องกินแกงส้มดอกแค

แกงส้มดอกแค อาหารพื้นบ้านที่นิยมกินกันทุกภาคพื้นประเทศไทย มีความเชื่อกันว่า เข้าหนาว อากาศเปลี่ยน ต้องได้กินแกงส้มดอกแคสักมื้อ เพื่อตัดไข้หัวลม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เจ็บป่วยไข้จากอากาศเปลี่ยน จะไม่มาเยือน และมีความเชื่อเก่าๆ แฝงไว้ ว่าไม่ควรปลูกต้นแค ไว้ตามบ้านเรือน วันนี้อาจจะขอแนะนำสิ่งที่ค้านกับคำชี้แนะเมื่อเก่าก่อน ต้องขออภัยที่ไปค้านกับความเชื่อของคนรุ่นเก่า เหตุผลเป็นเพราะข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของสังคมคนไทยเปลี่ยนไปมาก แต่ความเชื่อ ศรัทธาในข้อห้ามของคนเก่า ที่มีเหตุผลในสิ่งที่ท่านได้ชี้แนะไว้ ยังคงมีอยู่มิเสื่อมคลาย

แค เป็นไม้ในตระกูลถั่ว เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูง 2-10 เมตร ปลูกโตเร็ว มีกิ่งก้านมาก หักโค่นง่าย เปลือกต้นสีเทา ผิวเปลือกมีร่องรอยขรุขระ เปลือกหนา มักเป็นที่สะสมของเชื้อรา และเป็นที่อาศัยของแมลงและหนอนต่างๆ ทั้งกิ่งเปราะหักโค่นง่าย เปลือกเป็นที่อาศัยของศัตรูพืช ทำให้เกิดผลกระทบกับพืชอื่นใกล้บริเวณนั้น ถูกศัตรูพืชระบาดทำความเสียหายง่ายมากขึ้น  คงเป็นเหตุผลประกอบคำชี้แนะของคนรุ่นก่อน และที่ว่าไม่ควรปลูกต้นแคไว้บริเวณบ้าน ก็คงกลัวเด็กเล่นซุกซนปีนป่ายต้น กิ่งหักตกลงมาบาดเจ็บด้วย ซนจริงๆ เด็กสมัยนั้น

ชื่อว่า “แค” มีเรียกชื่ออื่น “แคบ้าน”, “แคขาว”, “แคแดง” หรือ “แคดอกแดง”, “แคดอกขาว” เป็นพืชพื้นเมืองของไทย และแถบอาเซียน พบเห็นในหลายประเทศแถบนี้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นพืชอาหารของทั้งคนและสัตว์ ปลูกขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ค่อยมีปัญหา หรือเป็นเงื่อนไขกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะที่ชุ่มชื้น หรือแห้งแล้งก็เจริญเติบโตได้ดี

แต่ถ้าที่ดินน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็จะสมบูรณ์ดีมากกว่าที่แร้นแค้น เป็นปกติธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มักพบต้นแคขึ้นตามป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนา ริมถนนหนทาง มีหลายชุมชนที่นำต้นแคมาเป็นไม้ประดับ ตกแต่งภูมิทัศน์ชุมชน ได้ทั้งสีเขียวริมทาง ได้ทั้งพืชอาหารให้กับคนในชุมชนด้วย

ยอดแค มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าดอก แต่คนนิยมนำดอกมาเป็นอาหารมากกว่ายอด ทั้งยอดอ่อน และดอกแค มีเสน่ห์น่าลองลิ้มมาก มีความสวยงาม มีสีสันที่อ่อนหวาน ยอดอ่อนอวบอ้วนน่ากิน ใบเป็นประเภทใบประกอบ มีใบย่อยเล็กๆ 20-30 ใบ เรียงคู่ขนานกัน ดอกออกเป็นช่อ ออกตามซอกใบ ช่อหนึ่งมี 2-8 ดอก มีพันธุ์ดอกมีสีขาวและสีม่วงแดง ดอกยาว 6-10 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงสีเขียวรูประฆังคว่ำ รองรับฐานดอก ฝักแคยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนคล้ายถั่วฝักยาว แต่รูปร่างออกแบนบาง น่าทะนุถนอม

Advertisement
ดอกแคขนาดพอดี เอาเกสรสีเหลืองออกก่อนค่อยนำไปกิน ไม่มีพิษ แต่จะขม

ยอดแค 100 กรัม ให้คุณค่าสารอาหารมากมาย ให้พลังงาน 87 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใยอาหาร 7.8 กรัม แคลเซียม 395 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม เหล็ก 4.1 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1,442 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.28 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.33 มิลลิกรัม วิตามินซี 19 มิลลิกรัม สารเบต้าแคโรทีน 8,654 ไมโครกรัม ซึ่งสารอาหารต่างที่มีอยู่มีสรรพคุณที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสหวานมัน สรรพคุณเป็นยาช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ดอก มีรสหวาน อมขมเล็กน้อย เวลานำมาทำอาหารมักดึงเกสรตัวผู้ออกก่อน สรรพคุณแก้ไข้หัวลมได้ดี

คนบ้านเรามักจะนำยอดอ่อน ใบอ่อน มาลวกหรือนึ่ง กินร่วมกับน้ำพริกต่างๆ ดอกแคนำมาผัดใส่ไข่ ผัดปลา ผัดกุ้ง

Advertisement
เป็นไข้หัวลม โบราณท่านว่าต้องกินแกงส้มดอกแค

ดอก ฝักอ่อน แกงส้มใส่ปลาช่อน ปลาหมอ กุ้งฝอย ปูนา อร่อยเป็นอาหารมากคุณประโยชน์ มากคุณค่าทางอาหาร บางท้องถิ่น เอาดอกแค ยอดอ่อนแค ห่อใบตองกล้วย ย่างไฟ กินกับน้ำพริก แจ่ว ป่น ฝักอ่อนใช้เป็นผักสด กินกับส้มตำ ลาบ ก้อย ใบแค ผสมเป็นอาหารสัตว์ชั้นยอด ใบที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน นำมาผสมดินปลูกต้นไม้ เป็นปุ๋ยพืชที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง กิ่งต้นแคนอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ใช้เพาะเห็ดหูหนูก็เด็ดนัก ต้นแคถ้ามีการดูแลตัดแต่งกิ่ง เด็ดยอด ตัดต้นให้เป็นพุ่มเตี้ย หมั่นดูแลเปลือกต้น ใบ ใช้วิธีขยันเด็ดยอดใบ หรือให้วัวกัดเล็มกิน จะช่วยให้มีศัตรูพืชน้อยลงมาก

แค เป็นพืชในวงศ์ LEGLMINOSAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania grandfloa (L) Pers. นิยมนำมาปลูกกัน ริมทางเดิน ริมบ่อปลา ข้างห้างนา เถียงนา ออกดอกฤดูหนาว แตกยอดอ่อนตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนจะสะพรั่ง มองเห็นยอดอ่อนที่มีนวลขาว ยิ่งตอนที่เริ่มติดดอกตูม มองดูสะคราญตา

ช่อดอกเมื่อออกมาอย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่มักจะเด็ดดอกตูมมาทำกิน โดยแกะคลี่ ดึงเอาก้านเกสรที่อยู่ภายในออก ถ้าปล่อยให้ดอกบาน เนื่องจากกลีบดอกบางมาก อ่อน มักจะฉีกขาด ยุบเหี่ยวแห้งอย่างเร็ว หลังจากได้ผสมเกสรแล้ว และจะติดฝักอ่อน เป็นฝักเส้นเล็ก ค่อยๆ โตขึ้น ประมาณ 2 เดือน ฝักจะแก่ และมักจะแตก ต้องเก็บฝักมาใส่ถุงตากแดด หรือผึ่งไว้ ค่อยแกะเอาเมล็ดไปเพาะ ใส่ถุงดิน นำไปปลูกต่อไป

ที่จริงเคยพบเห็นต้นแคอยู่หลายชนิด ดอกสีชมพู ต้นสูงใหญ่ เรียกกันง่ายๆ ว่า แคฝรั่ง ที่พบขึ้นในป่าเปลือกต้นสีคล้ำ เรียกแคป่า นำมาปลูกข้างรั้วบ้าน ตัดพุ่มเตี้ย เรียก แคบ้าน หรือแคเตี้ย ที่ออกดอกเป็นก้านเรียวย่อยๆ เรียกแคฝอย หรืออาจจะเรียกตามสีของดอก ไม่ว่าจะเป็น แคขาว แคแดง แคลาย

เมื่อคิดจะนำมาทำกิน ควรศึกษาหาความรู้ของแคแต่ละอย่าง บางอย่างก็กินได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัย ปลอดภัยไม่อันตราย แคบางอย่างก็ไม่น่านำมาทำกิน หรือกินไม่ได้ สำหรับใครบางคนที่มีความรู้สึกเหมือนว่า อย่างไงก็ได้ ช่างมันฉันไม่แคร์ ก็ไม่ว่ากัน

เมนูดอกแคผัดน้ำมันหอย
ดอกแคนา
แค ดอกสีแดง กินได้เช่นกัน หากนำไปแกงให้ลวกน้ำทิ้งก่อนค่อยนำมาปรุง

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2562