อ.ส.ค. ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคนมด้วย TMR ลดต้นทุนเพิ่มน้ำนมดิบ

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เดินหน้าพันธกิจส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการใช้ TMRและขยายศูนย์ผลิตอาหาร Feed Centerเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบและลดต้นทุนการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรหวังสร้าง Smart Farmer ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยถึง แนวทางการดำเนินงานในภาคส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่า “เนื่องจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งยังมีความประสงค์ที่จะสร้างSmart Farmerเกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยองค์ความรู้อย่างชาญฉลาด เพื่อที่จะเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน อ.ส.ค. เองก็มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ เช่นกัน โดยการส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงโคนมด้วยTMR (Total Mixed Ration หรือ Complete Ration : CR) ซึ่งเป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่เกิดจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยคำนวณสัดส่วนของอาหารทั้งสองชนิดให้ได้ตามความต้องการของโคแล้วนำไปเลี้ยงทดแทนการให้อาหารแบบเดิม ซึ่งจะแยกเป็นการให้อาหารหยาบ (เช่น หญ้า ถั่ว อาหารสัตว์ ฟางข้าว ฯลฯ) และอาหารข้น (อาหารผสม) เช่น ในโคนมผู้เลี้ยงจะให้อาหารหยาบและให้กินตลอดทั้งวัน รวมทั้งให้อาหารข้นเสริมวันละ 1-2 ครั้ง ขณะรีดนมวัว เป็นต้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการทำฟาร์มโคนมว่าเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด คือ ประมาณ 70%ของต้นทุนทั้งหมด ฉะนั้น การให้อาหารแก่โคนมอย่างเหมาะสมนอกจากจะสามารถช่วยแม่โคนมสามารถให้น้ำนมได้สูงขึ้นแล้วยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย แต่การให้อาหารข้นแก่โคนมก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่มาก ซึ่งจากการสำรวจของ อ.ส.ค. พบว่าเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เข้าใจในการใช้อาหารข้นทั้งประเด็นของคุณภาพของอาหารข้นว่าควรเป็นอย่างไรและประกอบด้วยอะไรบ้าง หรือควรให้โคนมในระยะที่แตกต่างกันกินปริมาณเท่าไร ฯลฯ 

ดังนั้นการส่งเสริมให้เลี้ยงโคนมด้วย TMRนั้นจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจากคุณประโยชน์ดังกล่าวทำให้ฟาร์มของเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ TMRเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ในภาพรวมของชุมชน ซึ่งปกติเกษตรกรก็มีการรวมตัวและจัดตั้งเป็นสหกรณ์อยู่แล้ว ปัจจุบัน สหกรณ์ต่างๆ หลายแห่งได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหาร TMR หรือที่เรียกว่าFeed Centerเพื่อจำหน่าย TMR ให้กับสมาชิกเพิ่มเติม จากเดิมที่สหกรณ์ส่วนใหญ่จะขายอาหารข้น ขณะที่สมาชิกทำหน้าที่จัดหาอาหารหยาบเอง กับอีกรูปแบบคือ สหกรณ์นำอาหารที่ขายทั้งอาหารข้น อาหารหยาบมาผสมรวมกัน แต่เนื่องจากโคกินอาหารหยาบมากและการจัดหาอาหารหยาบเป็นจำนวนมากมีความยุ่งยาก   แต่ถ้าผ่านการผสมอาหาร TMR แล้วโคนมจะสามารถใช้ประโยชน์จากได้มากกว่า สหกรณ์จึงจัดตั้ง Feed Center ขึ้นมา”

ดร.ณรงค์ฤทธิ์เปิดเผยต่อไปว่าFeed Centerของสหกรณ์ที่กระจายตามภูมิภาคทั่วประเทศ แบ่งเป็น

1)ภาคกลาง ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์ค มิตรภาพ จำกัด,สหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์ค สวนมะเดื่อ จำกัด,สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ก.น.ช. หนองรี จำกัด

2) ภาคเหนือ ได้แก่ สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด,สหกรณ์โคนมการเกษตรชัยปราการ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่,สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรสวรรคโลก จำกัด

3) ภาคอีสาน ได้แก่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด

4) ภาคใต้ ได้แก่  สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ” 

สำหรับแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับTMR ในปี 2562 ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า “อ.ส.ค. มีแผนวิจัยและพัฒนา TMR และอาหารสัตว์ โดยเน้นการใช้พืชอาหารสัตว์คุณภาพ เช่น ข้าวโพดหมัก และวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคนม เช่น ฟางข้าว ยอดอ้อย ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เปลือกข้าวโพดหวาน เป็นต้น เนื่องจากบ้านเราเป็นเขตร้อน พืชอาหารสัตว์มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศทางยุโรป แต่บ้านเรามีข้อดีคือ เชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยย่อยและเพิ่มคุณค่าด้านการย่อยอาหารของโคได้ ซึ่งเรากำลังทำการวิจัยและพัฒนาต่อไป โดยอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับโคนมต่างๆ

นอกจากนี้ อ.ส.ค. ก็ยังคงทำภารกิจด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรให้ครบทุกด้าน ตั้งแต่การจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคนม โดยครอบคลุมด้านการรีดนม การผลิตน้ำนมที่สะอาด อาหารและการให้อาหารโคนม การดูแลโคนมระยะต่างๆ สุขภาพและการดูแลรักษาโคนม การสผสมเทียมโค ฯลฯ รวมถึงการให้บริการสัตวแพทย์และผสมเทียมแก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมด้วย และหากเกษตรกรมีปัญหาสามารถขอใช้บริการหรือขอคำแนะนำจาก อ.ส.ค. ได้  

ที่สำคัญ เพื่อสร้าง Smart Farmer ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0ปัจจุบันเรามีการพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการฟาร์ม e-Dairyเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถบันทึกข้อมูลพื้นฐานของฟาร์มโคนม ปริมาณน้ำนมดิบ องค์ประกอบของน้ำนม รายได้ ประวัติการฉีดวัคซีน มาตรฐานฟาร์ม โดยสามารถประเมินเกณฑ์มาตรฐานของฟาร์มได้ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองใช้ในกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ของ อ.ส.ค. แล้วและอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในระยะต่อไป ส่วนเกษตรกรที่สนใจก็สามารถเข้ามาลงทะเบียนเพื่อทดลองใช้ได้”