เผยแพร่ |
---|
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จำนวน 100 คน ภายใต้ความร่วมมือกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในโครงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจังหวัด มุ่งให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด วว. ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า การฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออกให้แก่พี่น้องเกษตรกร เป็นการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการแข่งขัน ซึ่งการดำเนินงานโดย วว. ร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้บันทึกข้อตกลงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจังหวัด มุ่งให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของประเทศ มีมูลค่าผลผลิตปีละหลายหมื่นล้านบาท ผลผลิตเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งมากเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ โดยผลผลิต 80% ส่งเข้าโรงงานแปรรูป อีก 20% บริโภคภายในประเทศ แต่การส่งออกสับปะรดไปต่างประเทศยังมีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ ได้แก่ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ ปัญหาการปนเปื้อน สิ่งสกปรก โรคแมลง ปัญหาอายุการเก็บรักษาเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยว และที่สำคัญผลสับปะรดมีลักษณะอาการไส้ดำ
“…วว. เป็นหน่วยงานที่มีผลงานวิจัยและองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) มีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยบูรณาการองค์ความรู้งานวิจัยภายใน วว. เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์กับการผลิตสับปะรดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างครบวงจร หนึ่งในนั้นคือการจัดสร้างโรงคัดบรรจุสับปะรดมาตรฐาน ที่มีความสามารถในการผลิตสับปะรดผลสดส่งจำหน่ายต่างประเทศ ขนาดกำลังการผลิต 3 ตัน ต่อชั่วโมง เป็นโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่และเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานของผู้ผลิตผู้ประกอบการสับปะรดจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้น โรงคัดบรรจุแห่งนี้สามารถประยุกต์ต่อยอดการใช้ประโยชน์กับการผลิตผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และใกล้เคียงได้อีกด้วย…” รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว
ทั้งนี้ การนำ วทน. เข้าไปแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์กับการผลิตสับปะรดฯ อย่างครบวงจร นอกจากการจัดสร้างโรงคัดบรรจุสับปะรดมาตรฐานแล้ว วว. ยังมีการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดและผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน วิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปสับปะรด โดยมีห้องแปรรูปที่เป็นไปตามมาตรฐาน GMP เครื่องจักรแปรรูป ประกอบด้วย เครื่องคั้นน้ำ เครื่องฆ่าเชื้อ เครื่องบดย่อย เครื่องกวน และเครื่องอบแห้ง เป็นต้น
นายสายันต์ กล่าวถึงภารกิจของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดว่า จะเป็นทั้งที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรในระดับต้นน้ำ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำเกี่ยวกับมาตรฐานของผลผลิตที่จะรับซื้อจากเกษตรกร การเป็นเสมือนตัวกลางในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการวิจัยพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกสับปะรด โดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว คือการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. และหัวหน้าโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรดว่า ปัจจุบัน วว. อยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด ให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออกสับปะรดผลสด ทั้งนี้ กำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ วว. ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการให้บริการภายในศูนย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่เครื่องคัดขนาด เครื่องตัดแต่ง เครื่องคัดผลดีผลเสีย อุโมงค์ลมทำความสะอาด เครื่องเคลือบแว็กซ์ สายพานลำเลียง การบรรจุภัณฑ์ เครื่องรัดกล่อง เครื่องลดอุณหภูมิแบบ Froced Air Cooling และห้องเย็น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาอาการไส้ดำในสับปะรด ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ลดการสูญเสียน้ำหนัก คงคุณภาพผลผลิต มีภาพลักษณ์ที่สวยงามและช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่ดีขึ้น
นอกจากความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าว ภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังมีพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ สำหรับอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า โดยปัจจุบันได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับผลผลิตจากเกษตรกรที่ขนส่งมายังโรงงานไว้ด้านหน้า ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับปรุงเป็นห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาผลผลิตก่อนนำมาคัดบรรจุ และเมื่อผลผลิตผ่านกระบวนการต่างๆ รวมทั้งเข้าสู่ห้องเย็นที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Froced Air Cooling แล้ว ก็จะลำเลียงไปยังพื้นที่ด้านข้างโรงงานเพื่อขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ ในขณะเดียวกัน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังให้บริการด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้หลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ดังนี้ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาคุณภาพของสับประรดผลสดเพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เทคโนโลยีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากสับปะรด
อนึ่ง การฝึกอบรมหลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก” มีเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพจำนวน 100 คน ประกอบด้วยกิจกรรมบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีจากนักวิจัย วว. ได้แก่ ความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด การใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออกในโรงงานต้นแบบ วว. และการเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบการผลิตและบรรจุสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด วว.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ที่ นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ โทร. (02) 577-9000 โทรสาร (02) 577-9009 E-mail : [email protected] / [email protected]