เลี้ยงปลาในนา ที่อำนาจเจริญ ช่วยลดต้นทุน มีรายได้เพิ่ม

ข้อดีของการเลี้ยงปลาในนาทางอ้อมพบว่า ปลาจะช่วยกำจัดวัชพืชและแมลง ช่วยให้อินทรียสารต่างๆ สลายตัวได้ง่าย สร้างระบบนิเวศช่วยให้ดินมีความสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มปุ๋ยในดิน จึงส่งผลในทางตรงทำให้ข้าวมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย นับเป็นการช่วยทุ่นแรงและลดต้นทุนได้อย่างดี
ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่ทำนาจะสามารถเลี้ยงปลาได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องความสมบูรณ์ของน้ำ และพื้นที่ที่เหมาะสมควรมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบชลประทาน และควรมีน้ำตลอดปี ไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน

สำหรับในพื้นที่ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ไม่ได้มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ และการทำนาต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แต่เหตุใดชาวบ้านกลับประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงปลาในนาได้อย่างไม่ยาก? แล้วในบางคราวยังมีจำนวนปลามากพอสำหรับการแปรรูปสร้างรายได้เสริมอีกด้วย

คุณบวร สาริเพ็ง

คุณบวร สาริเพ็ง อยู่บ้านเลขที่ 61 หมู่ที่ 6 บ้านฟ้าห่วน ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นคนแรกในชุมชนที่ริเริ่มเลี้ยงปลาในนา เพราะเห็นว่าการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยเรื่องค่าครองชีพของครอบครัวได้พอ เลยหันมาหาการเลี้ยงปลาในนาข้าวเพื่อสร้างรายได้อีกทางมากว่า 20 ปีปลาที่คุณบวรเลี้ยงมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้บริโภคและจำหน่าย พร้อมไปกับการเลี้ยงเพื่องานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอำนาจเจริญ ซึ่งจะได้รับการแนะให้นำปลาที่น่าสนใจเชิงการค้ามาเลี้ยงในพื้นที่ทำนา เพื่อเป็นการหาข้อมูลเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับนาข้าว ครั้นเมื่อได้ข้อสรุปเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะนำไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป ฉะนั้น จึงทำเป็นศูนย์เรียนรู้ไปด้วย พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นประมงอาสา ตั้งแต่ ปี 2550

คุณบวร เผยว่า จากการทดลองเลี้ยงในระยะแรกประสบความสำเร็จ โดยพันธุ์ปลาที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงในนาข้าวเพื่อลดต้นทุนคือ ปลาตะเพียน ปลายี่สก และปลานวลจันทร์ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา   3 ปี ได้ทดลองเลี้ยงปลากดในนาข้าวแล้วพบว่าได้ผลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การเลี้ยงปลากดอาจมีขั้นตอนและวิธีที่เพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อเทียบกับราคาขายที่มีมูลค่าสูงกว่าปลาอื่นแล้วถือว่าเป็นความยุ่งยากที่คุ้มเลยเชียว

“สำหรับผมมองว่า ปลากดดีมาก เพราะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะขายแบบมีชีวิตหรือปลาตายก็ได้ราคาสูงเท่ากัน ที่ต่างจากปลาชนิดอื่นถ้าเป็นปลาตายจะราคาลดต่ำมากแบบครึ่งต่อครึ่ง    ดังนั้น ถ้าเลี้ยงปลากดจะมีรายได้ดี ทั้งนี้เมื่อก่อนไม่คิดว่าจะเลี้ยงปลากดในนาข้าวได้ กระทั่งเมื่อทางเจ้าหน้าที่ประมงมาแนะนำ จึงพบว่าเลี้ยงได้แบบไม่ยากเลย”

บ่อสำหรับงานทดลองวิจัยเลี้ยงปลาในนา

สำหรับแนวทางการเลี้ยงปลาเพื่องานวิจัยนั้น คุณบวรให้รายละเอียดว่าต้องแบ่งการเลี้ยงเป็น 2 ลักษณะประกอบด้วย

1. ในบ่อดิน โดยให้อาหารทั่วไปกับอาหารตามธรรมชาติ
2. เลี้ยงในนาข้าว โดยไม่ให้อาหาร แต่ใช้วิธีใส่ปุ๋ยคอกในนา

ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลจากทั้ง 2 ลักษณะ มาพิจารณา ข้อดี-ข้อเสีย ตลอดถึงความคุ้มค่ากับการลงทุน ผลปรากฏว่าการเลี้ยงในนาข้าวให้ผลดีและค่าใช้จ่ายน้อยมาก แต่ต้องอยู่บนความเหมาะสมของจำนวนปลาที่ปล่อยลงไปเลี้ยง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับต้นข้าวด้วย

คุณบวร แนะวิธีการเลี้ยงปลากดให้มีคุณภาพและลดต้นทุนว่า ก่อนการเลี้ยงต้องรอให้ต้นข้าวโต แล้วให้นำปลาซิว ปลาสร้อย หรือกุ้งฝอย มาปล่อยลงในแปลงนาก่อน แล้วรอให้ขยายพันธุ์มีจำนวนมากขึ้น จากนั้นจึงค่อยปล่อยปลากดลงไปเลี้ยง ซึ่งปลากดเป็นปลากินเนื้อแล้วจะกินปลาซิวกับกุ้งเป็นอาหาร ทำให้การเลี้ยงปลากดแทบไม่ต้องให้อาหารเลยจนถึงจับขาย

สำหรับเหตุผลที่ปลากดมีราคาสูงกว่าปลาชนิดอื่น เพราะปลาชนิดนี้หาได้ยาก มีต้นทุนและวิธีการเลี้ยงที่ยุ่งยากกว่าปลาชนิดอื่น แต่ที่สำคัญมีรสชาติอร่อย เนื้อละเอียดหอม เป็นที่ต้องการของลูกค้ามาก เรียกได้ว่าถ้าเมื่อใดที่แผงขายปลามีปลากดขายก็จะทำให้ปลาอื่นขายยาก มีเท่าไรขายหมด อย่างบ่อคุณบวรเลี้ยงปลากดขายครั้งที่แล้วได้เงินมากว่า 40,000 บาท แล้วคนซื้อมารอที่หน้าบ่อเพื่อมาจองปลา

ส่วนปลาชนิดอื่นที่ปล่อยเพื่อเลี้ยงในนา ควรมีอายุประมาณ 1-2 เดือน แต่ก่อนปล่อยต้องตระเตรียมพื้นที่นาให้พร้อมก่อน โดยในช่วงหน้าแล้งต้องตากปุ๋ยคอกให้แห้ง แล้วจัดการกรอกใส่กระสอบเตรียมไว้ก่อน พอใกล้ถึงเวลาปล่อยปลาลงนาคือ รอให้ข้าวที่ปลูกหลังปักดำสัก 20-30 วัน หรือรอให้ข้าวเริ่มแตกกอก่อน จึงเทปุ๋ยคอกบริเวณริมคันนา

สภาพน้ำที่สมบูรณ์เพราะเกิดจากการวางระบบท่อเพื่อถ่ายเท

โดยวิธีนี้จะเกิดประโยชน์อย่างน้อยสองประการ คืออย่างแรกเมื่อปลากินปุ๋ยเป็นอาหารก็จะไปถ่ายมูลไว้ทั่วแปลงนาทำให้เป็นอาหารของข้าว อีกประการคือ การที่ปลาไปคุ้ยเขี่ยปุ๋ยคอก ช่วยทำให้ปุ๋ยเกิดการกระจายไปทั่วแปลงนา ช่วยทำให้ต้นข้าวได้อาหารอย่างทั่วถึง ทั้งนี้การเลี้ยงปลาและปลูกข้าวจะเก็บผลผลิตพร้อมกันคือ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

คุณบวร บอกว่าพื้นที่ในบริเวณชุมชนนี้อาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล เพื่อทำเกษตรกรรม ไม่มีระบบชลประทานเข้ามาช่วย จึงทำนาได้เพียงปีละครั้ง ฉะนั้น ปลาที่เลี้ยงในนาข้าวจึงเลี้ยงแล้วมีผลผลิตได้เพียงปีละครั้งเช่นกัน ซึ่งภายหลังหมดช่วงทำนาแล้ว ชาวบ้านที่ยังไม่จับปลาขายก็จะนำปลาไปเลี้ยงต่อในบ่อที่ทางราชการขุดไว้ตามแต่ละชุมชน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังทดลองเลี้ยงปลาในนา คุณบวรพอสรุปได้ว่า พันธุ์ปลาเกล็ดอย่าง ปลาตะเพียน ปลาไน ปลายี่สก หรือปลากด สามารถเลี้ยงรวมในแปลงเดียวกันได้ แต่ต้องพิจารณาปล่อยจำนวนปลาแต่ละชนิดตามความเหมาะสมด้วย เพราะถ้าแน่นเกินไป อาจส่งผลต่อขนาดตัวปลาที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีคุณภาพเพียงพอกับการส่งขาย

ปลาตะเพียนใช้บริโภคและแปรรูปเป็นปลาส้ม

การเลี้ยงปลาในนาทำคู่ขนานไปกับข้าวที่ปลูกโดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอย่างอื่น นอกจากปุ๋ยคอกที่ใช้เพื่อเป็นอาหารปลาและข้าวไปด้วย จนกระทั่งเมื่อครบเวลาเกี่ยวข้าว (ประมาณ 4 เดือน) จึงจะจับปลาไปพร้อมกัน ทั้งนี้คุณบวรบอกถึงวิธีการจับปลาเพื่อให้เหมาะสมว่า ใช้วิธีขุดบ่อขนาดเล็กสัก      4 คูณ 4 เมตร ไว้มุมใดมุมหนึ่งของแปลงนาโดยไม่ต้องปลูกข้าว หรือที่ชาวอีสานเรียก “ปลาข่อน”   พอถึงเวลาเกี่ยวข้าวเมื่อน้ำลดลงปลาจะว่ายไปรวมกันในบ่อที่ขุดไว้ แล้วสามารถจับปลาได้ง่าย

คราวนี้ถ้าว่างเว้นจากฤดูทำนาแล้วจะเลี้ยงปลาอย่างไร คุณบวร บอกว่า ชาวบ้านจะย้ายปลาไปไว้ในบ่อที่ทางราชการขุดไว้ ซึ่งมีขนาด 15 คูณ 25 เมตร เป็นบ่อรวมของหมู่บ้าน ของแต่ละชุมชนที่ต้องช่วยกันรักษา แล้วเมื่อมาจับปลาจะต้องแบ่งกัน

“ส่วนราคาขายปลาในชุมชนกำหนดว่า ถ้าเป็นปลาตะเพียน นวลจันทร์ ยี่สก ราคากิโลกรัมละ 50 บาท แต่ถ้าเป็นปลากด ขายราคากิโลกรัมละ 100-140 บาท ขึ้นกับฤดูกาล แล้วหากปีใดน้ำมาก สามารถเลี้ยงปลาได้จำนวนมากก็จะเก็บปลาไว้เพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาส้มและปลาร้า สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มแม่บ้านที่มีเวลาหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต”

ปลากดแม้ยังตัวเล็กไม่พร้อมขาย แต่ถูกจองแล้ว

คุณสาคร โสภา ประมงอำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า แผนในการส่งเสริมเลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นไปเพื่อต้องการให้ชาวบ้านมีความรู้ ทักษะการเลี้ยงปลาเพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้บริโภคและขายได้ โดยจะเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องการเตรียมบ่อ ควรเลือกพันธุ์ปลาที่เหมาะสมและเป็นพันธุ์แท้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อรับประกันและมั่นใจว่าขายได้ราคาจริง ทั้งนี้ การเลี้ยงปลาควรเลี้ยงในช่วงต้นฝนหรือเป็นช่วงที่ปลูกข้าว แล้วจับขายในช่วงปลายปีไปพร้อมกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว

ทางด้านแหล่งพันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยง ได้มา 2 แบบ คือ

1. ในกรณีที่ต้องการนำปลามาเลี้ยงเพื่อบริโภค ชาวบ้านสามารถแจ้งความประสงค์ขอพันธุ์ปลาตามที่ต้องการ ส่วนจำนวนต้องให้ทางราชการกำหนดความเหมาะสม

2. เลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยจะต้องแจ้งชื่อและพันธุ์ปลาที่ต้องการไว้ล่วงหน้า พอถึงเวลาก็ไปรับ โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติทางภาคราชการไม่สามารถให้ปลาได้มาก เพราะมีงบประมาณจำกัด ดังนั้น จึงมักแนะนำให้ชาวบ้านไปหาซื้อพันธุ์ปลาตามฟาร์มที่เชื่อถือได้ เพราะจะได้จำนวนปลาตามที่ต้องการ

“สำหรับจำนวนปลาที่เหมาะสมกับการปล่อยในนาข้าว ควรมีประมาณ 3,000 ตัว ต่อ 1 แปลงนา โดยสามารถเลี้ยงปลาได้หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน และที่สำคัญคือ พยายามแนะนำให้เลี้ยงปลาที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด”

เกษตรกรอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างรู้จักกับผู้สื่อข่าวหรือทีมงาน หากสงสัยสอบถามมาได้ที่ผู้สื่อข่าวท่านนั้น หรือ ที่ กอง บ.ก. เทคโนโลยีชาวบ้าน โทรศัพท์ 02-589-0020 ต่อ 2335

สอบถามรายละเอียดการเลี้ยงปลาในนาข้าว ได้จาก ทางสำนักงานประมงอำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ โทรศัพท์ 088-569-0836

คุณบวรและคณะประมงอำเภอและจังหวัด

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354