วช. ชู “นวัตกรรมทางสังคม” สร้างธุรกิจ “ท่องเที่ยวชุมชน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้

การใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการสื่อสาร ฯลฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ดังนั้น ทักษะการเรียนรู้นวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี ทักษะชีวิตและอาชีพ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญของการใช้ชีวิตและทำงานในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีติดตัวเพื่อความอยู่รอด 

UCC Network

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสร้าง “UCC Network” ศูนย์กลางกระจายเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยร่วมมือกับเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา 9 แห่ง ดำเนินโครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ตอบโจทย์ Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยมุ่งสร้างงานวิจัยให้เป็นระบบที่เข้มแข็ง ทั้งโครงสร้างการจัดการ และกำลังคน เกิดการบูรณาการนวัตกรรมงานวิจัย ต่อยอดต้นทุนเดิม (ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติ) สู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เกิดเป็นนวัตกรรมสินค้าหรือบริการ ที่สร้างรายได้ต่อชุมชนท้องถิ่น สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม ตอบโจทย์รายได้ทางธุรกิจ ควบคู่กับการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง หลาดน้ำคลองงา
บรรยากาศการซื้อขายในหลาดน้ำคลองงา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.)

นับตั้งแต่ ปี 2560 เป็นต้นมา เครือข่ายวิจัยภาคใต้ตอนบน จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน” โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายหลักในการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา และจังหวัดภูเก็ต

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มธุรกิจที่พัก โฮมสเตย์ โรงแรม รวมไปถึงกลุ่มวิสาหกิจ ได้เกิดการรวมกลุ่มในการยกระดับการท่องเที่ยวตามมาตรฐานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยคาดหวังให้กลุ่มเป้าหมาย คือนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เป็นทายาทเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการด้านร้านอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้เข้าใจตลาดของธุรกิจเชิงเกษตร รวมทั้งทิศทางตลาดการท่องเที่ยว แนวทางการพัฒนาพื้นที่เกษตรให้เป็นเกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน พร้อมกับสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน

ผศ.ดร. อริศร์ เทียมประเสริฐ ประธานคณะกรรมการอินโนเวชั่นฮับ

ลานสกาโมเดล 

การดำเนินงานในปีแรก ศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบนมุ่งวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนใน 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอเมือง จังหวัดพังงา ปัจจุบัน โครงการ ลานสกาโมเดล กลายเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จอย่างงดงามในด้านรายได้จากการท่องเที่ยว หลังจาก ดร. รุ่งรวี จิตภักดี และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำนวัตกรรมเชิงบริการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นอัตลักษณ์จุดขายด้านการท่องเที่ยวของลานสกา ยกระดับที่พักและร้านอาหาร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การเตรียมความพร้อมของชาวบ้านในชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ฯลฯ

อาหารทะเลตากแห้ง คุณภาพดีของจังหวัดพังงา
ร้านขายอาหารในหลาดน้ำคลองงา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาพื้นที่ลานสกาเป็นตลาดนัดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว  เรียกว่า “สวนสร้างบุญลานสกา” รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่ให้ชุมชนลานสกา ได้แก่ น้ำตกวังไทร สวนมังคุดโบราณลานสกา เป็นต้น ทำให้ลานสกาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนจากการท่องเที่ยวหลายสิบล้านบาท ส่งผลให้นครศรีธรรมราชติดอันดับหนึ่งของการท่องเที่ยวเมืองรอง ในปี 2561

“หลาดน้ำคลองงา” หรือตลาดน้ำคลองพังงา

ท่องเที่ยวชุมชน @ หลาดน้ำคลองงา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ขยายผลความสำเร็จของโครงการลานสกาโมเดล มาขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดพังงา โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนจังหวัดพังงา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา เทศบาลเมืองพังงา หอการค้าจังหวัดพังงา ฯลฯ ร่วมกันพัฒนา “หลาดน้ำคลองงา” ตลาดริมน้ำท่ามกลางหุบเขา จังหวัดพังงา จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพังงา ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เมื่อมีการเปิดตลาดในทุกวันเสาร์ ทำให้ห้องพักในจังหวัดพังงาเต็มทุกครั้งที่มีการเปิดตลาด สร้างรายได้ผ่านธุรกิจการท่องเที่ยวหลากหลายมิติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบนอย่างเป็นรูปธรรม

ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช. เยี่ยมชมกิจการหลาดน้ำคลองงา
หลาดน้ำคลองงามีภูเขาพิงงาเป็นวิวพื้นหลัง สมกับ คำว่า “พังงา เมืองสวยในหุบเขา”

“หลาดน้ำคลองงา” หรือตลาดน้ำคลองพังงา มีเสน่ห์โดดเด่น ไม่เหมือนใคร เพราะตั้งอยู่ในทำเลเด่น มองเห็นทิวทัศน์สวยงามทุกทิศทาง เมื่อมองจากทิศเหนือจะเห็นวิวสายน้ำ ลำคลองพังงาไปจนถึงสะพานบ้านฝ่ายท่า ที่มีภูเขาพิงงาเป็นวิวพื้นหลัง สมกับ คำว่า “พังงา เมืองสวยในหุบเขา” การเปิด หลาดน้ำคลองงา ในแต่ละครั้ง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการช็อป ชม และชิม สินค้าได้มากกว่า 20,000 คน ต่อสัปดาห์ สร้างยอดขายสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท กระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นได้มากกว่า 50 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 เดือน ที่มีการเปิดตลาด เนื่องจากจุดที่ตั้งหลาดน้ำคลองงานั้นเสี่ยงเจอปัญหาน้ำท่วมสูงในช่วงฤดูฝน จึงจำเป็นต้องปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหลาดน้ำคลองงาลง เมื่อวันที่ 27เมษายน 2562 และวางแผนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหลาดน้ำคลองงาอีกครั้งในช่วงปลายปี ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้

ชาวประมงล่องเรือหาปลาบริเวณเกาะเคี่ยมใต้

ท่องเที่ยวชุมชน @ บ้านเคี่ยมใต้

เดิมที ชาวประมงเกาะเคี่ยมใต้ ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เคยรวมตัวกันทำธุรกิจท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ให้แก่นักท่องเที่ยว แต่ประสบปัญหาด้านกฎหมายและปัญหาการก่อสร้างบ้านพักโฮมสเตย์ รุกล้ำพื้นที่ชายฝั่ง จนต้องเลิกกิจการธุรกิจท่องเที่ยวไปเมื่อ 3 ปีก่อน ต่อมา คุณดาหนี่ หาผล ผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ และคุณสุริยน หมิแหม รองประธานท่องเที่ยวชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอบรมชาวบ้านได้เรียนรู้และเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยว การพัฒนาบ้านพักโฮมสเตย์ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าอาหารทะเลสด และอาหารทะเลแปรรูปจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว

คุณสุริยน หมิแหม รองประธานท่องเที่ยวชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ โชว์หอยนางรมที่เลี้ยงในกระชัง

เนื่องจาก เกาะเคี่ยมใต้ มีทรัพยากรทางทะเลที่งดงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ยังไม่ค่อยเปิดตัว ทำให้มีความสดใหม่ มีปูมดแดงที่หาชมได้ยาก น่าจะสร้างความสนใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้ ที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิมที่มีอาชีพประมง ทั้งการทำประมงชายฝั่ง เลี้ยงปลา หอยนางรมในกระชัง และเป็นแหล่งผลิตกุ้งเสียบ อาหารพื้นบ้านรสอร่อยที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพังงาด้วย

คาดว่าชุมชนบ้านเคี่ยมใต้พร้อมเริ่มต้นทำธุรกิจการท่องเที่ยวได้ช่วงปลายปี 2562 และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยเปิดประตูด้านการท่องเที่ยว ทำให้เกาะเคี่ยมใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ของจังหวัดพังงาได้ไม่ยาก และเชื่อว่าเสน่ห์การท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้จะสร้างความประทับใจที่ดีให้ผู้มาเยือนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทะเล และรักการบริโภคอาหารซีฟู้ดสดใหม่ รสอร่อยจากทะเลได้อย่างแน่นอน

กุ้งเสียบของดี ผลิตภัณฑ์ชุมชนน่าซื้อของจังหวัดพังงา
โฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวในชุมชนเกาะเคี่ยมใต้

ท่องเที่ยวชุมชน @ บ้านบางหมัก

ชุมชนบ้านบางหมัก ตำบลกะโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง มีสินค้าชุมชนที่โดดเด่นหลายชนิด เช่น ข้าวไร่ดอกข่า ทุเรียนสาลิกา จุดชมวิวภูตาถัน อาหารพื้นเมืองจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ข้าวหลามใบอ้อย ที่ผู้บริโภคไม่ต้องผ่า ไม่ต้องทุบ สามารถดึงข้าวหลามจากกระบอกออกมารับประทานได้อย่างสะดวกสบาย ชุมชนแห่งนี้ยังไม่เคยทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมาก่อน ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงเป็นพี่เลี้ยงอบรมคนถึงหลักการให้บริการท่องเที่ยว กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าชุมชนให้มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะดุดตานักท่องเที่ยว รวมทั้งการให้บริการที่พักโฮมสเตย์แก่นักท่องเที่ยว

ข้าวหลามใบอ้อย

ท่องเที่ยวชุมชน @ บ้านคลองแสน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิจัยคือ วิทยาลัยชุมชนพังงา เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองแสน โดยพัฒนาคนได้เรียนรู้ด้านบริการท่องเที่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่ม “ลูกชก” พืชท้องถิ่น การแปรรูปน้ำตาลชก วางเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้รถสามล้อเป็นพาหนะพานักท่องเที่ยวไปใช้บริการในแต่ละจุด เช่น น้ำตกเต่าทอง  ลองแพในคลองบ้านแสน และนักท่องเที่ยวมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าของขวัญของฝากได้ที่ตลาดบ้านคลองแสน

ใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างให้บริการนักท่องเที่ยว
บริการล่องแพคลองบ่อแสน

ฝันให้ไกลไปให้ถึง โกยรายได้

จาก “ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน”

คุณปัณฑริดา ไชยจิตร ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า กว่าจะผลักดันท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดได้แต่ละที่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มี คำว่า ฟลุกหรอก การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนมีหลายปัจจัยที่ต้องทำ บางชุมชนอาจมองไม่เห็นปลายทาง บางชุมชนมองแค่ผลประโยชน์เล็กน้อยรายทางจากกิจกรรมในโครงการ ขณะที่บางชุมชนมองไม่เห็นอะไรเลยว่าจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร เพราะชาวบ้านยังไม่คุ้นเคยวิธีการทำงาน ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้

คุณปัณฑริดา ไชยจิตร ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ

ทางศูนย์นวัตกรรมฯ ดำเนินโครงการท่องเที่ยวชุมชนโดยไม่ได้เอาเงินลงไปหว่านเป็นยาหอมให้ชุมชนมาเดินตาม  พวกเราทำงานจากล่างขึ้นบน ไม่ได้ทำจากบนลงล่าง พยายามให้ชุมชนดึงทรัพยากร วิถีชุมชน วิถีอาหาร ออกมานำเสนออย่างสร้างสรรค์ อยากบอกหลายชุมชนว่า โครงการนี้ไม่ใช่การทำตามนโยบาย โครงการถูกคิดขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนในพื้นที่ ทุกๆ ขั้นตอนถูกคิด ถูกทดลอง จนได้ผลดีมาแล้วในหลายพื้นที่ ทีมนักวิจัยคำนึงถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สร้างคน ออกแบบระบบการจัดการภายในให้ทั้งหมด แก้ปัญหาให้ทั้งหมด บูรณาการกับทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คิดแผนสำหรับก้าวเดินอย่างเป็นระบบ สำคัญสุดคือ สร้างความยั่งยืน เมื่อทีมนักวิจัยออกมาแล้วชุมชนต้องเดินต่อได้

“ทีมนักวิจัยอาจจะดุ พูดจาแบบตรงไปตรงมา เพราะไม่อยากโปรยยาหอมตลอดทาง อยากให้ชาวบ้านกินยาขมไปก่อน ขอให้เข้าใจและเชื่อมั่นทีมนักวิจัย หากชาวบ้านไม่ปล่อยมือ พวกเราจะพาชาวบ้านไปให้ถึงฝั่งฝัน ดันไปให้สุดทาง จะปล่อยมือก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าพวกคุณเดินไปได้แล้ว สุดท้าย ถ้าวันนั้นมาถึงมีเซอร์ไพรส์แน่นอน!!! ขอให้ก้าวต่อไป อดทนสักนิด ขึ้นชื่อว่าการเริ่มต้นไม่มีอะไรง่ายดายหรอกค่ะ” คุณปัณฑริดา กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ ผู้สนใจโครงการท่องเที่ยวชุมชนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณปัณฑริดา ไชยจิตร ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน โทร. 075-672-914