การเตรียมกิ่งพันธุ์มันหวานด้วยตนเอง

มีเกษตรกรหลายรายต้องการทราบถึงวิธีการเตรียมกิ่งพันธุ์มันหวาน (มันเทศหวานจากต่างประเทศ) ด้วยตัวเอง เนื่องจากติดใจในรสชาติของมันหวานที่ซื้อไปจากห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่เมื่อนำไปต้มรับประทานแล้วไม่ต้องจิ้มน้ำตาลทรายก็มีรสหวานอร่อย อีกทั้งสีสันก็เหลืองหรือมีสีเหลืองเข้ม (สีส้ม) สวยงาม แถมราคายังน่าจูงใจให้ปลูกอีกด้วย (ราคาที่ห้างขาย คือ กิโลกรัมละ 89 บาท)

 

ผู้เขียนเองไม่เคยปลูกมันเทศเป็นแปลงขนาดใหญ่ หากแต่มีน้องสาวและน้องเขยปลูกมันเทศอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอาชีพ ราคามันเทศที่ขายได้ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะมันเทศมีปลูกกันอยู่หลายแหล่ง เช่น แถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี ราคาที่ขายได้ก็มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 6 บาท ไปจนถึง 13 บาท  เนื่องจากการเพาะปลูกมันเทศต้องใช้จ่ายเป็นค่าปุ๋ยและสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงค่อนข้างสูง ว่ากันว่า ในพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ต้องใช้ต้นทุนสูงเป็นเลขถึง 6 หลัก เลยทีเดียว

สำหรับเรื่องการเตรียมกิ่งพันธุ์มันหวานนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า เกษตรกรน่าจะพอพึ่งตนเองได้ หากเราหาหัวพันธุ์มันหวานได้ ก็สามารถนำมาฝังดินเพื่อสร้างกิ่งพันธุ์เพื่อนำไปปลูกลงแปลงได้ โดยใช้ระยะเวลาไม่นานนัก (ประมาณ 3-4 สัปดาห์)

จากการทดลองของผู้เขียนเองที่ซื้อหัวมันหวานไปจากห้าง เมื่อนำไปฝังดินในกระถาง ก็จะเห็นหน่อมันเทศหวานโผล่ขึ้นมาเป็นหน่อแรกในวันที่ 12-13 (นับแต่วันที่ฝังหัวในดิน) พอหน่อมัน (หรือเถามัน) มีอายุได้ 10 วัน ก็จะมีความยาวพอที่จะตัดกิ่งเอาไปปักชำได้ การปักชำเพื่อให้มีรากงอกก็น่าจะใช้เวลาเพียง 3-4 วัน จากนั้นก็นำเอากิ่งมันที่มีรากงอกไปปลูกในแปลงที่มีการยกร่องไว้

ส่วนการดูแลรักษานั้น ก็คงไม่หนีไปจากวิธีการดูแลมันเทศของบ้านเรามากนัก นั่นคือ การให้น้ำ การให้ปุ๋ย (ราวๆ 3 ครั้ง คือ เมื่อปลูกได้ 30 วัน 60 วัน และ 90 วัน ด้วยปุ๋ยสูตร 16-16-16 สูตร 8-24-24 และสุดท้ายสูตร 0-0-60) และการฉีดยาป้องกันโรคและแมลง จนเมื่อมีอายุได้ 110-120 วัน ก็สุ่มตัวอย่างของหัวมันดู หากขนาดใช้ได้และปาดผิวดู เห็นมีน้ำยางน้อยก็ถือได้ว่า สามารถเก็บเกี่ยวขายได้แล้ว คนที่เคยปลูกมันเทศมาแล้วน่าจะสร้างประสบการณ์ใหม่ได้ไม่ยากนัก

เมื่อคำนวณจากราคาขายหัวมันสดของห้าง ที่กิโลกรัมละ 80-90 บาท เกษตรกรผู้ปลูกก็น่าจะขายหัวมันสดได้ในราคา กิโลกรัมละ 30-50 บาท ซึ่งนับว่าสูงกว่าผลิตมันเทศพันธุ์ไทยถึง 3-5 เท่าตัว ก็นับว่าน่าสนใจดีไม่หยอก…เป็นเรื่องที่เกษตรกรน่าลองเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนอยากเห็นเกษตรกรไทยของเรา “เงยหน้า อ้าปาก” ได้ จึงได้บอกกล่าวมาพอให้เห็น “ช่องทาง” หรือพอได้แง่คิด…ความสำเร็จย่อมขึ้นอยู่กับพี่น้องเกษตรกรเองเป็นสำคัญ