อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ บุรีรัมย์ เตรียมเปิดจุดรับซื้อข้าวหอมมะลิฤดูกาลปีนี้ 2,000 ตัน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพีรพนธ์ กิจโกศล ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 13,14 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายเผด็จ ลิ้มอุบัติตระกูล ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ และคณะให้การต้อนรับ

โรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 16,272,000 บาท และทางกลุ่มเกษตรกรสมทบเพิ่มอีก จำนวน 1,808,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด สำหรับรองรับข้าวเปลือกจากสมาชิก ได้แก่ โรงสีข้าว ขนาด 24 ตัน/วัน พร้อมอุปกรณ์และโรงเรือน จำนวน 1 แห่ง, เครื่องยิงสี ขนาด 130 ช่อง จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องซีลสุญญากาศ ขนาด 1 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องชั่งและบรรจุ กึ่งอัตโนมัติ ขนาด 15-50 กิโลกรัม จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้รับ มารวบรวมข้าวเปลือกหอมมะลิจากสมาชิกในฤดูกาล ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้ ประมาณ 2,000 ตัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่าย เบื้องต้น บริษัท การบินไทย จำกัด ได้สั่งซื้อข้าวสารจากกลุ่มเกษตรกรทำนา     ปะเคียบแล้วจำนวนกว่า 100 ตัน

ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ มีสมาชิก 405 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักทำนา และทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และทำประมง เป็นอาชีพเสริม โดยทางกลุ่มฯ ได้ดำเนินธุรกิจบริการสมาชิก ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อนำไปประกอบอาชีพ การจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายสมาชิก และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นพันธุ์ข้าวเพาะปลูก ธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก เพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ปีละประมาณ 1,960 ตัน มูลค่า 39.128 ล้านบาท โดยทางกลุ่มฯ ได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์การเกษตรที่รวบรวมข้าวเปลือกในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด สหกรณ์การเกษตรพุทไธสง จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาโพธิ์ จำกัด กลุ่มนาแปลงใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง และการเชื่อมโยงเครือข่ายในการจำหน่ายข้าวสารกับกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อวากิลบุรีรัมย์และสหกรณ์การเกษตรนาโพธิ์ จำกัด

ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้คำแนะนำกับคณะกรรมการของกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตและแปรรูปข้าวสารทั้งปี โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะสามารถสีข้าวขายได้ปีละกี่พันตัน และต้องประสานกับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือภาคเอกชนเพื่อหาตลาดรองรับให้ชัดเจนก่อนจึงจะไปส่งเสริมให้สมาชิกปลูก เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตตรงกับที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก ตั้งแต่ต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อทยอยสีเป็นข้าวสารและกระจายสู่ตลาด พร้อมทั้งให้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวสารให้มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ และสามารถเก็บรักษาคุณภาพของข้าวได้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสารของทางกลุ่มฯ ได้ในที่สุด