วว./บริษัท อาร์อี ไบโอเมทานอล จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการวิจัยกระบวนการผลิตไบโอเมทานอลจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายผจญ ศรีบุญเรือง และ นายรัชชาร์ ปัทมพงศา กรรมการ บริษัท อาร์อี ไบโอเมทานอล จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการวิจัยกระบวนการผลิตไบโอเมทานอลจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่แยกออกจากก๊าซชีวภาพ โดยกระบวนการก๊าซมีเทนอัดแบบ CBG ระดับอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 10,000 ลิตร ต่อวัน คาดช่วยรองรับความต้องการไบโอเมทานอลในอนาคต ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทั้งด้านพลังงานและด้านเศรษฐกิจ

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ชี้แจงว่า ปัจจุบันความต้องการเมทานอล มีปริมาณมากกว่า 780 ล้านลิตร ต่อปี (ข้อมูลการนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2561) หากพิจารณาเพียงอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลเพียงอย่างเดียวที่มีความต้องการวันละ 6 ล้านลิตร จะต้องใช้เมทานอลมากถึง 0.9 ล้านลิตร ต่อวัน หรือ 330 ล้านลิตร ต่อปี คิดเป็น 42% ของความต้องการเมทานอลในไทย ในการนี้ วว. จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท อาร์อี ไบโอเมทานอล จำกัด ภายใต้โครงการวิจัยกระบวนการผลิตไบโอเมทานอลจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่แยกออกจากก๊าซชีวภาพ โดยกระบวนการก๊าซมีเทนอัดแบบ CBG ระดับอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 10,000 ลิตร ต่อวัน

สำหรับวัตถุประสงค์ความร่วมมือในครั้งนี้ วว.จะให้คำปรึกษาด้านข้อมูลการออกแบบและคำนวณทางวิศวกรรมในระดับแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) และการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เพื่อนำมาประเมินศักยภาพการลงทุนในระดับอุตสาหกรรมการผลิตไบโอเมทานอลจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกจากก๊าซชีวภาพโดยกระบวนการก๊าซมีเทนอัดแบบ CBG ระดับอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 10,000 ลิตร ต่อวัน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการลงทุน

“…คาดการณ์ ในปี พ.ศ. 2579 ความต้องการเมทานอลไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านลิตร ต่อปี จะใช้วัตถุดิบก๊าซผสม 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยภาพรวมความต้องการด้านการตลาดที่จะรองรับไบโอเมทานอล ปริมาณวัตถุดิบก๊าซชีวภาพ และเทคโนโลยีการผลิตเมทานอลปัจจุบันมีความเหมาะสม อาจกล่าวได้ว่าความเป็นไปได้เบื้องต้นของการส่งเสริมการผลิตไบโอเมทานอลจากก๊าซชีวภาพ และหากนำมาตรการด้านการเงินการธนาคารมาสนับสนุนการลงทุน จะสามารถส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไอโอเมทานอล ก่อให้เกิดความมั่นคงทั้งด้านพลังงานและด้านเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต…” ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้าย