ชม “สวนละมุด 100 ปี บางกล่ำ” เลี้ยงผึ้งชันโรง เป็นรายได้เสริม

ผู้คนส่วนใหญ่ รู้จัก “จังหวัดสงขลา” ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว และศูนย์กลางการค้าสำคัญของภาคใต้ ความจริง จังหวัดสงขลา เป็นแผ่นดินทองทางการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิด ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว พืชผักผลไม้และสินค้าประมง สร้างอาชีพและทำรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรจำนวนมากมาอย่างยาวนาน

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและอนุรักษ์พืชประจำถิ่น หรือพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลามากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชในประเทศ ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์และพืชทางเลือกใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น

ละมุดบางกล่ำ ที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์

พืชอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา

สำหรับพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าขายดี เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป ได้แก่
1. จำปาดะสะบ้าย้อย
2. ละมุดเกาะยอ, ละมุดบางกล่ำ
3. กาแฟสะบ้าย้อย
4. ทุเรียนพื้นบ้านนาหม่อม
5. ส้มโอหอมหาดใหญ่
6. ส้มจุกจะนะ
7. มะม่วงเบาสิงหนคร

ส่วนพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ ได้แก่
1. มะละกอฮอลแลนด์
2. กล้วยหอมทอง
3. พุทรานมสด
4. ชมพู่ทับทิมจันทร์
5. เมล่อน
6. มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
7. มันเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

สวา (ละมุด) สงขลา อร่อยมาก

ชาวสงขลา เรียกละมุดในภาษาถิ่นว่า “สวา” ที่นี่ปลูกต้นละมุดหรือสวา ในลักษณะสวนผสมผสานร่วมกับไม้ผลและไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ ต้นละมุดที่พบเห็นมีลักษณะลำต้นสูง 5-15 เมตร ลำต้นมีกิ่งและใบมาก จนแลดูเป็นทรงหนาทึบ การออกดอกแต่ละช่วงจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-35 วัน หลังจากดอกบานจนกระทั่งผลแก่เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน ขณะผลอ่อน มีสีเหลืองอมขาว และมียางสีขาว ผลสุกมีสีน้ำตาลปนแดง หากยังไม่สุกมากจะมีความกรอบ หวาน เมื่อผลสุกมากเนื้อจะนุ่ม และให้รสหวานจัดและมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกมะลิ

ปัจจุบัน จังหวัดสงขลา มีแหล่งผลิตละมุดที่มีชื่อเสียงอยู่ 2 แห่ง คือ ละมุดเกาะยอ และ ละมุดบางกล่ำ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ชาวเกาะยอปลูกละมุดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ละมุดบางต้นมีอายุเป็นร้อยปี ทุกวันนี้ เกาะยอมีเนื้อที่ปลูกละมุดราว 375 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นละมุดสายพันธุ์ไข่ห่าน ผลใหญ่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม ละมุดเกาะยอมีจุดเด่นเรื่องรสชาติหวาน อร่อย เพราะได้ไอน้ำเค็มจากทะเล ทำให้ละมุดเกาะยอขายได้ราคาดี ประมาณ 50 บาท/กิโลกรัม น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 9 ลูก/กิโลกรัม ละมุดเกาะยอ จะมีผลผลิตออกมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

ละมุดบางกล่ำ มีรสชาติอร่อย เพราะปลูกในดินสามน้ำ

ส่วน ละมุดบางกล่ำ สันนิษฐานว่า สมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนบางส่วนมาเป็นคนงานสร้างทางรถไฟ และยึดอาชีพปลูกพลู และละมุด (สวา) ชาวจีนได้นำต้นละมุดพันธุ์ไข่ห่าน ซึ่งเป็นละมุดลูกใหญ่ หอม หวาน เนื้อละเอียด จากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เข้ามาปลูกในพื้นที่บางกล่ำนับถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาประมาณ 100 กว่าปีแล้ว ละมุดพันธุ์ไข่ห่านที่นำมาปลูกในพื้นที่บางกล่ำที่มีลักษณะดินสามน้ำ ทำให้ละมุดบางกล่ำมีรสชาติอร่อย เป็นที่รู้จักกันทั่วไป จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำอำเภอบางกล่ำ ว่า “สวาลือนาม” มาจนถึงทุกวันนี้

ละมุดบางกล่ำ จะให้ผลผลิตออกมากที่สุดประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ละมุดบางกล่ำ จะให้ผลผลิตต่อต้น ประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม เนื่องจากละมุดบางกล่ำเป็นผลไม้รสชาติอร่อย ที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่น ทำให้ทุกวันนี้ เกษตรกรไม่ต้องลำบากในการหาตลาด เพราะมีแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตถึงที่บ้าน

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาให้ข้อมูลว่า ละมุดบางกล่ำ มีลักษณะเด่นกว่าที่อื่น เพราะปลูกดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก เป็นหลัก เพราะหากใช้ปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินแข็ง เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายเมื่อผลสุกแล้ว ก่อนจะนำผลที่เก็บได้มาบ่มแก๊สเพื่อให้ละมุดสุกทั่วกันทั้งลูก

กศน. อำเภอบางกล่ำ
อาสาพาไปชมสวน

“บ้านบางกล่ำ” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาบสงขลา มีคลองบางกล่ำพาดผ่านและเชื่อมออกไปยังทะเลสาบสงขลา เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหาดใหญ่ ต่อมาได้ถูกแยกออกมาเป็นอำเภอบางกล่ำ เมื่อ ปี 2538 ในพื้นที่อำเภอบางกล่ำประชาชนมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก แต่ในช่วงหน้าแล้งจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และน้ำที่มีอยู่ก็ประสบปัญหาน้ำเปรี้ยว ไม่สามารถใช้ในการเกษตรได้ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ และหมู่บ้านผักเหนาะ

ผอ. อังสิญาภรณ์ อุ่นจิตต์ (คนกลาง) และ ครู กศน. ตำบลบางกล่ำ

นางสาวอังสิญาภรณ์ อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา นางลำพึง สุวรรณชาตรี ครู กศน. ตำบล และ นายวิโรจน์ แก้วชูเชิด ครูอาสาสมัครฯ พาผู้เขียนไปเยี่ยมชมสวนละมุดบางกล่ำ ที่เลี้ยงผึ้งชันโรงเป็นรายได้เสริมในสวนละมุด พร้อมชมกิจกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ หลักสูตร การตลาดและบรรจุภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรง ณ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบางกล่ำกลาง หมู่ที่ 2 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

เนื่องจากตำบลบางกล่ำเป็นชุมชนเกษตรกรรม ครู กศน. ตำบลบางกล่ำ จึงจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการอบรมอาชีพให้สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน เช่น กิจกรรมอบรมถอดบทเรียนความรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ การผลิตปุ๋ยหมัก การเพิ่มมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตร กระตุ้นให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มผลิตสินค้าและจำหน่ายสินค้าในตลาดสด และจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ เช่น Line Facebook Instagram ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบาย “ไทยนิยมยั่งยืน” ของรัฐบาล

เกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจเลี้ยงผึ้งชันโรง

เลี้ยงชันโรง เป็นรายได้เสริม
ในสวนละมุดบางกล่ำ

ครู กศน. ตำบลบางกล่ำ ได้จัดเวทีประชาคม ประชุมกับชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งทำสวนยางพารา และอยากมีรายได้เสริมในช่วงยางพาราราคาตกต่ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรอินทรีย์ จึงสนใจเลี้ยงผึ้งเป็นรายได้เสริม กศน. ตำบลบางกล่ำ จึงพาชาวบ้านไปศึกษาดูงานในแหล่งผลิตที่เลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ต่างๆ จนชาวบ้านมีความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งชันโรง หรือ “อุง” บนโรงเรือน เพื่อเป็นรายได้เสริม โดยชาวบ้านรวมกลุ่มดำเนินธุรกิจร่วมกัน ในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ” นอกจากนี้ ทาง กศน. ได้ส่งเสริมชาวบ้านแปรรูปน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์โลชั่น และสบู่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

คุณเดชา ศิริโชติ (คุณโอ) เกษตรกรเจ้าของสวนละมุด
ผึ้งชันโรง ชอบอาศัยอยู่ในต้นละมุดที่ตายแล้ว

คุณเดชา ศิริโชติ (คุณโอ) เกษตรกรเจ้าของสวนละมุด และเป็นแกนนำวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เล่าให้ฟังว่า ข้อดีของการเลี้ยงอุง (ผึ้งชันโรง) ช่วยผสมเกสรไม้ผลในสวนให้มีผลผลิตคุณภาพดีจำนวนมาก ถือเป็นการพึ่งพิงกันเองของธรรมชาติ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าของสวนผลไม้ที่เลี้ยงผึ้งชันโรงได้อีกแนวทางหนึ่ง

ดอกไม้ ที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้งชันโรง
กล้วย ที่ปลูกในสวนผสมผสานแห่งนี้

ทุกวันนี้ ช่วงเช้าชาวบ้านจะออกไปกรีดยาง และใช้เวลาว่างไปเลี้ยงผึ้งชันโรง การเลี้ยงผึ้งชันโรง (อุง) โดยทั่วไป ชาวบ้านจะใช้เวลาเลี้ยงชันโรง ประมาณ 1 ปี จะได้น้ำผึ้งคุณภาพดี ออกขายได้ ขวดขนาด 150 ซีซี ขวดละ 300 บาท ข้อดีของการเลี้ยงชันโรง ใช้เงินลงทุนครั้งเดียว หลังจากรีดน้ำผึ้งจากรังแล้ว เกษตรกรสามารถแยกชันโรงได้เพิ่มขึ้นอีก 1 รัง เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แค่เลี้ยงผึ้งชันโรงในสวนผลไม้ และปลูกดอกไม้หลายชนิด ชันโรงจะออกหากินเอง

ละมุดบางกล่ำ ที่รอการเก็บเกี่ยว
รังผึ้งชันโรง ที่วางไว้ใต้ต้นละมุด

หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมกิจการสวนละมุดบางกล่ำ หรือชมการเลี้ยงผึ้งชันโรงของชุมชนแห่งนี้ ติดต่อได้โดยตรงกับ คุณเดชา ศิริโชติ (คุณโอ) เจ้าของสวนแห่งนี้ โทร. 089-197-8192 คุณพัสณากรณ์ สุระกำแหง โทร. 087-418-9327 คุณธนพล พรหมวิสุทธิคุณ โทร. 083-190-9729 (จำหน่ายรังเลี้ยงผึ้งพร้อมแม่พันธุ์) คุณเอกวิวิชย์ ถนอมศรีมงคล โทร. 089-466-4919 หรือติดตามข่าวสารของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ได้ทางเฟซบุ๊ก “กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงตำบลบางกล่ำ” ได้ตลอดเวลา

ครู กศน. และเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องผึ้งชันโรง
สินค้าน้ำผึ้งชันโรง ขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด
สินค้าแปรรูปจากน้ำผึ้งชันโรง จากหลักสูตรสร้างอาชีพของ กศน.
ครู กศน. สนับสนุนชุมชนเปิดขายสินค้าบนหน้าเฟซบุ๊ก

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2562

 Update 12 /07/2021