แค่คุมสายเลือด เลี้ยงวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์ ในพื้นที่ขาดแคลนหญ้าและน้ำ อยู่ได้สบายๆ

สวัสดีครับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย มาพบกันอีกครั้ง ทุกคนน่าจะเคยได้ยินได้ฟังประโยคที่ว่า “ปัญหามีเอาไว้ให้เราแก้” กันมาก่อน แต่จะมีใครเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้บ้าง ฉบับนี้พาท่านไปพบกับพี่น้องเกษตรกรรายย่อยที่คิด เกษตรกรรายย่อยที่ลงมือแก้ปัญหาการเลี้ยงวัวในพื้นที่ที่ค่อนข้างแร้นแค้น ขาดแคลนทั้งหญ้าและน้ำ แต่ก็ยังมีวัวขายทำรายได้กันตลอดทั้งปี เขาแก้ไขปัญหาสำคัญสำหรับการเลี้ยงวัวได้อย่างไร มีแนวคิดและเกร็ดความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาแบบนี้อย่างไรบ้าง ตามไปชมกันครับ

จากวัวลาน มาเป็นวัวเนื้อ

พาท่านไปพบกับ คุณทองสุข ประสบโชค ที่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ที่ 4 ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณทองสุข เล่าว่า เริ่มต้นจากเลี้ยงวัวลาน หรือวัวพันธุ์ไทยที่มีอยู่หลายตัวมาปรับให้เป็นวัวเนื้อลูกผสม “ตัวผมเลี้ยงวัวมา 10 กว่าปี เริ่มต้นจากเลี้ยงวัวลานเพราะใจชอบแล้วขยายฝูงมาเรื่อยๆ จนมาถึงวันหนึ่งที่วัวลานไปต่อได้ยาก เพราะทางราชการมองว่าการเล่นวัวลานเป็นการเล่นการพนัน การจัดแข่งวัวลานจึงทำได้ยากลำบากขึ้น คนเลี้ยงวัวลานอย่างเราก็ไม่มีทางเลือก ไม่มีทางได้เอาวัวของเราไปวิ่งแข่งกันเหมือนเมื่อก่อน ราคาของวัวลานจึงตกลง เพราะเป็นวัวพันธุ์ไทยตัวเล็กจะขายเป็นเนื้อก็ลำบาก ผมเลยมาคิดว่าต้องปรับตัวให้การเลี้ยงวัวของเราไปรอด ผมเลยตั้งใจปรับพันธุ์ให้มีสายเลือดวัวเนื้อมากขึ้น”

ปัญหาหญ้าน้อย น้ำเค็ม

เมื่อตั้งใจจะปรับสายพันธุ์วัวที่มีให้มีสายเลือดวัวเนื้อมากขึ้น คุณทองสุขก็ต้องมานั่งคิดแก้ปัญหาที่มีในพื้นที่เลี้ยงวัวของตัวเอง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตนี้เป็นพื้นที่ที่มีน้ำเค็ม เป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจืด ดังนั้น หญ้าตามธรรมชาติจึงมีน้อยโดยเฉพาะในฤดูแล้งที่หญ้าแทบจะหายไปทั้งหมด

คุณทองสุข เล่าว่า “ผมก็มานั่งคิดว่าจะเลี้ยงวัวเนื้อพันธุ์ไหนดี เพราะพื้นที่ที่ผมเลี้ยงวัวเป็นพื้นที่สวนมะพร้าวที่ล้อมรอบด้วยน้ำเค็ม ตอนแรกผมคิดจะเอาวัวพันธุ์ลูกผสมบราห์มันมาเลี้ยง แต่คิดดูแล้วก็คงจะมีปัญหาแม้ว่าวัวลูกผสมบราห์มันจะทนร้อน ทนแล้งได้ดี แต่วัวพันธุ์ลูกผสมบราห์มันจะมีนิสัยไม่ชอบกินหญ้าสั้นๆ หญ้าชิดดินแบบหญ้าที่มีในพื้นที่ของผม สุดท้ายผมก็เลือกเลี้ยงพ่อวัวชาร์โรเล่ส์เลือดสูง เพื่อเอามาใช้ปรับสายเลือดวัวที่มีในฝูงให้มีสายเลือดชาร์โรเล่ส์มากขึ้น เพราะวัวสายเลือดชาร์โรเล่ส์ที่มีเลือดไม่สูงนักจะหากินเก่ง ทนร้อน กินหญ้าที่สั้นเตี้ยได้ ไม่เลือก ที่สำคัญราคาขายยังดีกว่าวัวลูกผสมพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย”

แม่พันธุ์พื้นฐานมาจากวัวลูกผสมหลายพันธุ์

ด้วยความที่น้ำธรรมชาติที่มีในพื้นที่เลี้ยงวัวของคุณทองสุขเป็นน้ำเค็มทั้งหมด คุณทองสุขจึงต้องขนน้ำใส่รถมาให้วัวกินอย่างน้อยวันละครั้ง และต้องคอยดูให้มีน้ำในภาชนะให้วัวกินตลอดทั้งวันห้ามขาด

เปลี่ยนพันธุ์เป็นเล่ส์ แต่ต้องระวังไม่ให้เลือดสูง

แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ร้อนและค่อนข้างแห้งแล้งซึ่งมีผลต่อการเลี้ยงวัวชาร์โรเล่ส์เลือดสูง คุณทองสุขจึงต้องระวังเรื่องสายเลือดชาร์โรเล่ส์ไม่ให้สูงเกินไป

คุณทองสุข บอกว่า “ถ้าเอาวัวชาร์โรเล่ส์เลือดสูงมาเลี้ยงในพื้นที่แบบของผมปัญหาคือวัวมันจะร้อนมาก วัวจะหอบ ไม่ค่อยกินหญ้า ผมจึงต้องเลี้ยงพ่อวัวชาร์โรเล่ส์แบบแยกออกจากฝูง มาผูกไว้ตามร่มไม้ เมื่อแม่วัวในฝูงติดสัดจึงจะจูงพ่อวัวเข้าผสม และที่สำคัญผมต้องคอยดูสายเลือดของลูกวัว ต้องวางแผนไม่ให้ลูกวัวที่เกิดมามีสายเลือดชาร์โรเล่ส์สูงเกินไป เพราะจะอยู่ในสภาพแห้งแล้งและร้อนแบบนี้ได้ลำบาก”

พื้นที่เลี้ยงวัวของคุณทองสุข ล้อมรอบด้วยน้ำเค็ม
เจ้าตุ่ม พ่อพันธุ์วัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์เลือดสูงที่ใช้คุมฝูง

พ่อพันธุ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์ที่คุณทองสุขใช้คุมฝูง อย่าง เจ้าตุ่ม และ เจ้าใหม่ ที่เพิ่งซื้อเข้ามาในราคา 50,000 บาท จึงมีสายเลือดชาร์โรเล่ส์อยู่ประมาณไม่เกิน 75% ใช้ผสมกับแม่พันธุ์ที่ส่วนใหญ่เป็นวัวไทยแท้หรือวัวลูกผสมบราห์มัน จึงทำให้ได้ลูกวัวที่มีสายเลือดชาร์โรเล่ส์อยู่ประมาณไม่เกิน 37.5% ซึ่งสามารถปรับตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนได้อย่างสบาย

พ่อพันธุ์ทั้ง 2 ตัว
รับจ้างผสมจริงกับแม่วัวทั่วไป

นอกจากใช้ เจ้าตุ่ม และ เจ้าใหม่ ที่มีสายเลือดชาร์โรเล่ส์อยู่ประมาณไม่เกิน 75% คุมฝูงแล้ว คุณทองสุขยังใช้พ่อพันธุ์ทั้ง 2 ตัว รับจ้างผสมพันธุ์จริงหรือรับจ้างทับกับแม่วัวทั่วไปอีกด้วย คุณทองสุข เล่าว่า “ผมจะเลือกพ่อวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์เลือดสูงมาคุมฝูงโดยดูจากพ่อวัวที่มีโครงสร้างใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวหนาและช่วงลำตัวกว้าง ส่วนเรื่องสีผมไม่สนใจใช้สีไหนก็ได้ ตอนนี้ผมใช้พ่อพันธุ์คุมทั้ง 2 ตัว รับจ้างผสมจริงกับแม่วัวทั่วไป เพราะมีรูปร่างสวย สูงใหญ่ รับจ้างผสมในราคาครั้งละ 600 บาท ในพื้นที่ใกล้บ้าน แต่หากเป็นพื้นที่ที่ไกลจากบ้านเกิน 10 กิโลเมตร ก็คิดในราคาครั้งละ 1,000 บาท ที่ผ่านมาก็มีคนมาใช้บริการพ่อวัวของผมไปผสมจริงไม่ได้ขาด”

เจ้าใหม่ พ่อพันธุ์วัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์เลือดสูงที่เพิ่งซื้อเข้ามา ในราคา 50,000 บาท

เรื่องที่สำคัญของการเลี้ยงพ่อพันธุ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์เลือดสูงเพื่อใช้รับจ้างผสมพันธุ์ คุณทองสุข เล่าว่า “พ่อพันธุ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์ของผมจะกินหญ้าธรรมชาติเป็นหลัก อาจจะมีฟางให้เพิ่มบ้างบางช่วง แต่ผมจะไม่ให้อาหารข้นเลย เพราะหากให้อาหารข้นวัวพ่อพันธุ์จะอ้วนเกินไป ทำให้เกิดปัญหาเมื่อผสมจริงวัวพ่อพันธุ์จะร้อนมาก มีอาการหอบ ผมจึงเลี่ยงการให้อาหารข้นกับพ่อวัวของผม” วัวพ่อพันธุ์คุมฝูงของคุณทองสุขจะใช้คุมฝูง ประมาณ 5-6 ปี ก็จะเปลี่ยนออกแล้วซื้อพ่อพันธุ์ตัวใหม่เข้ามาแทน

ขายลูกวัวตัวผู้ออกหมด

การเลี้ยงวัวของคุณทองสุข อาศัยหญ้าตามธรรมชาติเป็นหลัก ไม่มีอาหารข้น ไม่ให้อาหารเสริมใดๆ มีฟางเสริมให้บ้างในช่วงหน้าแล้ง “ทุกวันผมจะปล่อยวัวทั้งหมดที่มีตอนนี้ 58 ตัว ออกไปกินหญ้าในพื้นที่สวนมะพร้าว เมื่อวัวกลับคอกจะไม่มีการให้อาหารเพิ่ม ในหน้าแล้งวัวก็อาจจะผอมไปบ้างเพราะหญ้ามีน้อยแต่ลูกวัวก็โตได้ดี ลูกวัวตัวผู้เมื่ออายุ 9 เดือน ถึง 1 ปี ผมจะคัดออกขายให้พ่อค้าทั่วไปที่มาซื้อทั้งหมด เก็บเอาไว้เฉพาะวัวตัวเมียใช้เป็นแม่พันธุ์ขยายฝูง” คุณทองสุข เล่า

ในเรื่องราคาขายวัวนั้น คุณทองสุข บอกว่า “วัวราคาตกลงมา 2 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าวิ่งมาหาที่คอกเหมือนช่วง 5-6 ปีก่อน แต่ผมก็อาศัยว่ามีแม่วัวอยู่หลายตัว หนึ่งปีขายวัวตัวผู้กับแม่วัวที่อายุมากออกไป 10-15 ตัว ได้เงินกว่า 200,000 บาท ทุกปีก็น่าพอใจ”

ลูกวัวที่มีสายเลือดชาร์โรเล่ส์อยู่ประมาณไม่เกิน 37.5%

ขายวัวส่งลูกเรียนได้สบายๆ

คุณทองสุข เล่าว่า “ตอนนี้แม้ว่าวัวจะราคาไม่ดีเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่ผมก็มีวัวขายออกตลอดทั้งปี วัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์ขายดี มีพ่อค้าแม่ค้าสนใจมากกว่าวัวลูกผสมพันธุ์อื่นๆ ราคาวัวจะขึ้นจะลงผมก็ยังมีวัวขาย 10-15 ตัว ต่อปี ส่งลูกเรียนปริญญาตรีได้สบาย”

ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงวัวมากแค่ไหน หญ้าน้อย น้ำเค็ม อากาศร้อน ลมแรงอย่างไร คุณทองสุขก็ยังสามารถเลี้ยงวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์เป็นอาชีพทำเงินได้อย่างสบายๆ เพียงแต่ต้องคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และลงมือทำตามที่วางแผนไว้ก็จะสามารถใช้อาชีพการเลี้ยงวัวเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ไม่แพ้อาชีพใด

ใครสนใจอยากสอบถาม พูดคุยกับ คุณทองสุข ประสบโชค กริ๊งกร๊างกันไปได้ที่โทร. (085) 318-5572 ครับ ฉบับนี้คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย หมดพื้นที่แล้ว ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2564