“อินทผลัม” จากต้นเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อ ตามแบบฉบับ ของ “สวนภูผาลัม”

คุณจรินทร์ บุญปัญญารักษ์ เลขที่ 67 หมู่ที่ 8 บ้านเตาถ่าน ตำบลบึงกระจับ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ 67130 โทร. (086) 637-3333, (080) 651-9606 เจ้าของสวนอินทผลัม “สวนภูผาลัม” ประสบความสำเร็จในการปลูกอินทผลัมทั้งชนิดกินผลสดและกินผลแห้ง

อินทผลัมสวนภูผาลัมมีคุณภาพเทียบเท่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผลสดมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ผลแห้งมีรสชาติหวาน อร่อย โดยทางสวนภูผาลัม มีสายพันธุ์อินทผลัมที่เป็นสายพันธุ์แท้ของตะวันออกกลาง โดยได้สั่งอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาจาก บริษัท Al WathbaMarionnet LLC ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้แก่ราชวงศ์ และประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและทั่วโลก รวมทั้งมีสายพันธุ์อินทผลัมที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นเอง ซึ่งสามารถให้ผลผลิตตั้งแต่ต้นยังมีขนาดเล็ก อายุเพียง 2-3 ปี เท่านั้น

อินทผลัม เป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ปลูกกันมากในประเทศแถบตะวันออกกลางที่มีสภาพภูมิอากาศแบบทะเลทราย ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนและแทบไม่มีฝนตก อินทผลัมจึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่าอินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก โดยมีความต้องการน้ำถึงปีละ 2,000-2,500 มิลลิเมตร (ประเทศไทยมีฝนตกปีละ 1,000-1,600 มิลลิเมตร) ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการอินทผลัมที่มีคุณภาพ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี และต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงหน้าแล้งด้วย

อินทผลัม เป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้นกัน ดังนั้น ในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดี จึงจำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในสวน เฉพาะต้นตัวเมียเท่านั้นที่ให้ผลอินทผลัม แต่ต้องมีเกสรจากต้นตัวผู้มาผสมด้วย ดังนั้น เราจึงต้องปลูกอินทผลัมทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย โดยหากเรามีต้นอินทผลัมตัวผู้สายพันธุ์ที่ดีปลูก จะมีสัดส่วนในการปลูกต้นตัวผู้ 1 ต้น ต่อต้นตัวเมีย 40-50 ต้น

การขยายพันธุ์อินทผลัม สามารถทำได้ 3 วิธี คือ เพาะจากเมล็ด แยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การขยายพันธุ์จากเมล็ด จะมีข้อดีคือ ขยายพันธุ์ปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว โดยมีต้นทุนในระยะแรกต่ำกว่าวิธีอื่น แต่เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ การขยายพันธุ์โดยเมล็ด โอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละครึ่ง และเราจะไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผลัมจากการเพาะเมล็ด ต้องปลูกไว้และรอจนกว่าอินทผลัมจะออกดอกก่อนจึงจะทราบเพศ และถึงแม้ว่าเราจะได้ต้นตัวเมียไปปลูก แต่คุณภาพผลอินทผลัมก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากผลอินทผลัมเป็นผลที่ได้จากการผสมเกสรข้ามต้น จึงถือว่าเมล็ดที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสมไม่ใช่พันธุ์แท้ ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเดียวกับต้นแม่ได้ เราจึงสามารถตั้งชื่อพันธุ์อินทผลัมที่เพาะจากเมล็ดได้เอง ทั้งนี้คุณภาพของผลอินทผลัม ทั้งในเรื่องของขนาดหรือรสชาติอาจจะแย่ลง หรือใกล้เคียงต้นแม่พันธุ์เดิม หรือดีขึ้นก็ได้ แต่มีเพียงส่วนน้อยมากที่คุณภาพจะดีขึ้น

ดังนั้น การปลูกอินทผลัมที่เพาะจากเมล็ด วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทดลองปลูกที่มีเงินลงทุนไม่มากนัก ก็สามารถที่จะซื้อผลอินทผลัมมาจากตลาดทั่วไป ทั้งแบบกินผลสดและผลแห้ง เมล็ดที่ได้หลังจากการบริโภคแล้ว สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อเพาะปลูกได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการแปลงปลูกที่ดี และอาจจะต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อหาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีนำไปขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดควรจะเพาะเลี้ยงไว้ในถุงดำจนกว่าจะออกใบขนนก ประมาณ 3-4 ใบ ขึ้นไป หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 ปี เพื่อให้มีโอกาสรอดเกือบ 100% เมื่อปลูกลงแปลงปลูก และวิธีที่ 2 คือ

การขยายพันธุ์โดยแยกหน่ออินทผลัมจากต้นแม่ วิธีนี้เป็นการขยายพันธุ์ที่เราจะได้พันธุ์แท้ ต้นกล้าที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่เนื่องจากต้นแม่พันธุ์จะมีความสามารถให้หน่อได้เฉลี่ยเพียงประมาณ 20 หน่อ ต่อต้น ตลอดอายุ (จำนวนหน่ออินทผลัมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) เราจึงไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ในปริมาณมากๆ อย่างรวดเร็วได้ ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการจำหน่ายหน่อพันธุ์อินทผลัมในเชิงพาณิชย์ และหากจะสั่งหน่อพันธุ์มาจากต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก โดยราคาหน่อพันธุ์จะมีราคาสูงกว่าต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้หากสั่งซื้อหน่อต้นพันธุ์มาปลูกแล้ว การลงทุนด้วยวิธีนี้ในระยะแรกจะสูงที่สุด วิธีนี้จึงเหมาะกับสวนที่มีต้นเมล็ดพันธุ์อินทผลัมที่ดีอยู่แล้ว และต้องการขยายการเพาะปลูกอินทผลัมออกไป

 

จากปัญหาของการขยายพันธุ์ 2 วิธี ข้างต้น ในต่างประเทศจึงขยายพันธุ์โดย

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นมา การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้คือ การโคลนนิ่ง ต้นกล้าที่ได้จึงเป็นพันธุ์แท้ โดยจะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์ แต่ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด ปัจจุบันการปลูกในเชิงพาณิชย์ของต่างประเทศจะนิยมวิธีนี้ เนื่องจากสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้ดีกว่า ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีและสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตได้เร็ว สามารถปลูกได้ปริมาณมากตามต้องการและทุกฤดูกาล ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ในระยะเวลาสั้น

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่สามารถผลิตต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและราคายังค่อนข้างสูงอยู่ โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยอาจจะสามารถที่จะผลิตอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เอง ซึ่งจะทำให้ราคาต้นกล้าลดลงจากปัจจุบัน และลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้

ผู้ที่สนใจปลูกอินทผลัมสามารถเลือกรูปแบบการปลูกตามกำลังความสามารถและทุนทรัพย์ของตัวเอง ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป เราต้องเลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง ทั้งนี้อาจจะเลือกปลูกแบบผสมผสานทั้ง 3 วิธี ดังกล่าวข้างต้นก็ได้

ระยะห่างในการปลูก สำหรับการปลูกอินทผลัมที่แนะนำคือ 8×8 เมตร หรือ 8×10 เมตร หรือ 10×10 เมตร เนื่องจากอินทผลัมเมื่อโตเต็มที่จะมีทางใบกว้างมาก รวมทั้งมีระบบรากที่ลึก และขยายออกกว้างมาก รวมทั้งเพื่อให้อินทผลัมได้รับแสงแดดและลมเต็มที่ โดยหากเลือกปลูกระยะห่าง 8×8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกได้ 25 ต้น แต่สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อยอาจจะปลูกระยะชิดกว่านี้ แต่ไม่ควรน้อยกว่า 7 เมตร หากระยะปลูกน้อยกว่านี้เมื่ออินทผลัมเติบโตเต็มที่จะเข้าไปบริหารจัดการจะลำบาก เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่อายุยืนยาวมากกว่า 100 ปี โดยจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 8 ปี และสามารถจะให้ผลผลิตได้เต็มที่ถึงต้นละมากกว่า 200 กิโลกรัม ต่อปี โดยให้ผลผลิตต่อเนื่องไปจนอายุประมาณ 50-60 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิตลดลง ดังนั้น การวางแผนระยะห่างสำหรับการปลูกจึงต้องพิจารณาให้ดี

ขนาดหลุมที่ขุดสำหรับปลูก ที่แนะนำคือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ลึกประมาณ 80 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมา 3 ส่วน ผสมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน ถมกลับลงไปในหลุมจนเต็ม แล้วจึงขุดหลุมที่ถมกลับออกไปให้มีขนาดเท่าถุงดำหรือกระถางที่เพาะเลี้ยงต้นกล้า จากนั้นจึงนำต้นกล้าออกจากถุงดำไปปลูกในหลุม กลบดินคืนให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม การขุดหลุมขนาดใหญ่และการเตรียมหลุมปลูกที่ดี จะทำให้อินทผลัมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องการขุดหลุมขนาดใหญ่ดังกล่าวทำได้ยาก และใช้แรงงานมาก ดังนั้น หากจะขุดหลุมเพื่อปลูกอินทผลัมจำนวนมาก อาจจะประยุกต์ทำเครื่องเจาะดินต่อจากท้ายรถไถก็จะสามารถขุดเจาะหลุมขนาดใหญ่ดังกล่าวได้สะดวกและรวดเร็วกว่ามาก สำหรับฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผลัมคือ ช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดูกาล ทั้งนี้ ต้นกล้าที่จะนำมาปลูก ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด หรือต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นมา ควรจะอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำจนโตขนาดออกใบขนนก 3-4 ใบก่อน จะทำให้อัตราการรอดสูงเกือบ 100% สำหรับต้นกล้าที่เป็นหน่อที่แยกมาจากต้นแม่ ต้องเป็นหน่อที่มีอายุไม่น้อยกว่า 2-3 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-35 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 10-25 กิโลกรัม หากใช้หน่อที่เล็กกว่านี้จะมีอัตราการรอดตายต่ำ และเมื่อขุดแยกหน่อออกมาจากต้นแม่แล้วให้ใส่ยากันเชื้อราเดือนละ 2 ครั้ง และเพาะเลี้ยงอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 1-2 ปี ให้แข็งแรงก่อนจึงจะนำมาลงแปลงปลูกได้

การให้น้ำต้นอินทผลัม ควรให้น้ำทุกๆ วันในฤดูร้อน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในฤดูหนาว หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จะทำให้อินทผลัมเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตที่ดี หากเราปลูกต้นกล้าที่ออกใบขนนกแล้ว 3-4 ใบ ลงในแปลงช่วงต้นฤดูฝน เมื่อได้รับน้ำฝนมา 1 ฤดูแล้ว ไม่ได้รดน้ำในช่วงหน้าแล้ง อินทผลัมส่วนใหญ่จะสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ตลอดช่วงหน้าแล้ง แต่จะเจริญเติบโตช้ามาก

การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนตุลาคมและพฤษภาคม โดยการพรวนดินให้ปุ๋ยคอกผสมเข้ากันดี

การตัดแต่งใบ ใบอินทผลัมที่แก่แล้วให้ตัดทิ้ง โดยในต้นเล็กอาจจะใช้กรรไกรตัดแต่งใบ ต้นที่โตขึ้นมาอาจจะใช้เคียวในการตัดแต่งใบ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ใบแก่เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลง และยังทำให้ทรงพุ่มดูสะอาด สวยงาม สำหรับใบที่ยังไม่แก่ ให้ตัดหนามบริเวณโคนใบทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายในขณะทำงาน และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณโคนใบอินทผลัมจะมีหนามที่แข็งและยาวมาก

การผสมเกสร เนื่องจากอินทผลัมมีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกจากกัน การอาศัยธรรมชาติจากลมและแมลงเพียงอย่างเดียว ให้มาช่วยผสมเกสรจะทำให้อินทผลัมติดลูกไม่ดก ดังนั้น จึงต้องอาศัยตัวเกษตรกรเองช่วยผสมเกสรให้จึงจะติดลูกดก อินทผลัมจะออกดอกเป็นจั่นโดยลักษณะดอกเกสรตัวผู้จะมีสีขาว กลีบดอกเป็นแฉกๆ คล้ายหางกระรอก สำหรับอินทผลัมต้นตัวเมียจะออกดอกเป็นจั่น เหมือนกับอินทผลัมต้นตัวผู้ แต่ดอกของต้นตัวเมียจะมีลักษณะเป็นเมล็ดกลมๆ เป็นช่อสีเขียวอ่อน

โดยปกติแล้วอินทผลัมต้นตัวผู้จะออกดอกก่อนต้นตัวเมีย จึงต้องมีการเก็บเกสรต้นตัวผู้ไว้รอผสมให้เกสรต้นตัวเมีย เพื่อให้ติดลูกดก โดยเมื่อจั่นตัวผู้แตกออกมา เห็นกลีบดอกสีขาวเป็นแฉกๆ ให้นำถุงพลาสติกมาคลุมแล้วผูกปากถุงไว้ จากนั้นตัดช่อดอกออกมา แล้วนำมาเขย่าจะได้ละอองเกสรตกออกมา ให้นำละอองเกสรมาใส่ถุงไว้ ไล่อากาศออก ปิดปากถุงให้สนิทแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นช่องปกติ ซึ่งเราสามารถเก็บรักษาเกสรไว้ได้นานเป็นปี เพื่อรอผสมเกสรให้กับต้นตัวเมีย เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมเกสรคือ ช่วงเช้า โดยนำเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้บางส่วนมาใส่ถุงพลาสติก เขย่าถุงให้ละอองเกสรฟุ้งกระจายในถุง จากนั้นนำไปครอบดอกตัวเมีย แล้วเขย่าให้ละอองเกสรผสมกัน โดยควรผสมซ้ำอีก 1 ครั้ง ในวันต่อมา และถ้าหากเกิดฝนตกหลังจากผสมเกสรไปแล้ว 4-6 ชั่วโมง ต้องผสมเกสรใหม่ เพราะน้ำฝนจะชะละอองเกสรตัวผู้ออกไป ซึ่งอาจจะทำให้ติดผลไม่ดีเท่าที่ควร

การตัดแต่งช่อผลอินทผลัม จะต้องปลิดผลอินทผลัมบางส่วนในขณะที่ผลยังเล็กอยู่ออกบ้าง เพื่อให้ผลอินทผลัมที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพดี สุกเร็ว มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยให้มีผลอินทผลัมเหลืออยู่ในแต่ละก้าน ประมาณ 20-25 ผล และมีอยู่ 45-50 ก้าน ใน 1 ช่อ การปล่อยให้แต่ละช่อมีจำนวนก้านและติดผลดกมากจนเกินไป จะทำให้ผลที่ได้มีขนาดเล็ก และมีผลบางส่วนไม่สมบูรณ์

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก เฟซบุ๊ก “สวนภูผาลัม”
***********************
ขอเชิญชวนผู้สนใจปลูกอินทผลัม ร่วมกิจกรรมเสวนาเชิงปฏิบัติการ กับ เทคโนโลยีชาวบ้าน “เรียนให้รู้ ดูให้ทำเป็น เด่นทางด้านการตลาด” พาไปชม…การปลูกอินทผลัมคุณภาพ และแปรรูปครบวงจร เมืองกาญจนบุรี ในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยเสียค่าใช้จ่าย ท่านละ 930 บาท ผู้สนใจ สมัครจองที่นั่งก่อน แล้วโอนเงิน (ตามจำนวนที่ระบุ) เข้า ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประชาชื่น เลขที่บัญชี 193-079484-5 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) Fax (02) 580-2300 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.technologychaoban.com หรือ www.facebook.com/Technologychaoban