กินเนื้อวัวไทย เพื่อสุขภาพกันเถอะ

เกษตรกรจำนวนมากสนใจซื้อวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์มาเข้าคอกขุน เพราะโตเร็ว เนื้อดี ไขมันแทรกในเนื้อสูง ถือเป็นเนื้อเกรดบน ตลาดบน แต่ก็ใช่ว่าจะหาวัวลูกผสมเล่ส์ได้ง่ายๆ ในช่วงที่วัวราคาดี ขอแนะนำให้เกษตรกรลองเลี้ยงวัวไทยพื้นเมืองมาเข้าขุนด้วยอีกทาง เป็นอย่างไรนั้น ตามไปชมกัน

โดยทั่วไป เกษตรกรมักมองหาวัวโครง หรือที่เรียกภาษาท้องถิ่นว่า “วัวซาก” มาเข้าคอกขุน ซึ่งส่วนใหญ่มักมองหาวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์เป็นหลัก โดยนำนมาขุนวัวด้วยเปลือกสับปะรดเป็นอาหารหยาบ ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ส่วนอาหารข้นก็ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 7-8 กิโลกรัม ต่อตัว ต้องใช้เวลาขุนวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์ประมาณ 5 เดือนเพื่อให้ได้น้ำหนักมากกว่า 500 กิโลกรัม จึงจับวัวขายให้กับพ่อค้าที่ให้ราคาสูงที่สุด

 

ขุนวัวไทยพื้นเมือง

เกษตรกรบางรายสนใจจับตลาดวัวพื้นเมืองอีกด้วย โดยขุนวัวไทยติดคอกขุนเป็นประจำ สำหรับ  วัวไทยพื้นเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัวลาน จะเน้นคัดวัวลานที่หาซื้อได้ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นวัวลานที่ใช้ไม่ได้หรือมีปัญหามาเข้าคอกขุน  ทั้งนี้ การขุนวัวไทยพื้นเมือง มักนิยมขุนด้วยเปลือกสับปะรด วันละ 7-8 กิโลกรัม ต่อตัว ใส่ติดรางให้กินได้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งให้อาหารข้น วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ตกตัวละประมาณ 8 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน  นอกจากนี้ ก็ให้ฟางเสริมเข้าไปด้วยทุกวัน ขุนไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 เดือน ก็จับขายได้ที่น้ำหนักตัวละประมาณ 300 กิโลกรัม

ถึงแม้ว่าวัวไทยจะโตช้าแต่ก็กินไม่มากเท่าวัวลูกผสม สุดท้ายแล้วเกษตรกรยังสามารถขายวัวได้ในระดับราคาที่น่าพอใจ ดังนั้นเกษตรกรหลายรายจึงนิยมเลี้ยงวัวลานติดคอกขุนไว้ตลอด ซึ่งวัวไทยกลุ่มนี้ เป็นที่นิยมส่งขายตลาดมาเลเซีย เพราะเนื้อวัวไทย จะมีลักษณะแน่นกว่า ถูกใจคนมาเลย์มากกว่า พ่อค้าจึงนิยมส่งไปขายพื้นที่ภาคใต้ที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย

เนื้อวัวไทยพื้นเมือง

ตลาดของเนื้อวัวพื้นเมืองเป็นตลาดระดับล่างที่ตลาดสดหรือเขียงเนื้อในตลาดทั่วไป ลักษณะเด่นของเนื้อวัวพื้นเมืองเหล่านี้อยู่ที่มีโปรตีนสูงและไขมันน้อย เส้นใยกล้ามเนื้อละเอียดและมีลักษณะเนื้อสัมผัสแน่นและค่อนข้างแห้ง มีผลทำให้การสูญเสียน้ำจากชิ้นเนื้อน้อย ไขมันแทรกในเนื้อและไขมันระหว่างก้อนกล้ามเนื้อมีน้อยมาก

ซึ่งลักษณะดังกล่าวส่งผลดีคือ พลังงานที่ได้จากการบริโภคเนื้อต่ำ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนเพื่อสุขภาพ สีของเนื้อแดงเข้มเป็นมันวาว เหมาะสำหรับการนำไปปรุงอาหารไทย ได้แก่ แกงมัสมั่น แกงเนื้อ พะแนงเนื้อ ลาบเนื้อ อีกทั้งเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อ ได้แก่ ลูกชิ้นเนื้อและผลิตภัณฑ์ตะวันตก เช่น salami แฮมดิบรมควัน

ผลจากการวิจัยพบว่า เนื้อวัวพื้นเมืองมีระดับไขมันแทรกเพียงประมาณ 1% (ในเนื้อสันนอก 100 กรัม) ในขณะที่เนื้อวัวขุนโพนยางคำหรือเนื้อวัวขุนเลือดชาร์โรเล่ส์ระดับสูง มีปริมาณไขมันแทรกถึง 10% (ที่ระดับคะแนนไขมันแทรก 4) และสูงถึง 15% (ที่ระดับไขมันแทรก 5) ส่วนเนื้อวัวขุนบราห์มันเลือดสูง มีปริมาณไขมันแทรก ประมาณ 3% ด้านปริมาณโปรตีนในเนื้อวัวแต่ละพันธุ์ไม่แตกต่างกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 20% ซึ่งทั้งคุณค่าทางอาหารและคุณค่าทางโภชนาการเหล่านี้ ทำให้เนื้อวัวพื้นเมืองไทยเป็นชิ้นเนื้อที่มีคุณภาพ

 

เนื้อวัวไทยพื้นเมืองมากด้วยคุณค่า

รู้กันไหมครับว่า เนื้อวัวพื้นเมืองของเรามีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เรามาดูข้อมูลนี้กันครับ

ทัศนีย์ และ รัชกฤช รายงานว่า เนื้อวัวพื้นเมืองของไทยมี CLA สูงกว่าเนื้อวัวลูกผสมอื่นๆ CLA คือชื่อย่อของกรดคอนจูเกเตด ไลโนเลอิก (Conjugated Linoleic Acids) เป็นสารผสมของกรดไขมันไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) ที่เกิดในไส้ พุงของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย CLA เป็นสารที่ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ในร่างกายมนุษย์

ความสำคัญของ CLA จากผลงานวิจัยของ ดร. ไมเคิล พาริซา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (แมดิสัน) สหรัฐอเมริกา พบว่า CLA มีคุณสมบัติการต่อต้านมะเร็ง CLA อาจเป็นหนึ่งในสารที่มีฤทธิ์ต่อสู้กับมะเร็งได้แรงที่สุด ปริมาณ CLA เพียง 0.5% ในอาหารจะช่วยลดภาวะของโรคลงได้กว่า 50% งานวิจัยโดย แมรี่ โชมอน ในวารสาร Journal of Nutrition เมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2000 แสดงให้เห็นว่า CLA สามารถลดไขมันและช่วยบำบัดรักษากล้ามเนื้อของคน กลุ่มผู้ถูกทดลองที่ได้รับ CLA เข้าไป ไขมันในร่างกายจะลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับ CLA นอกจากนั้น CLA ลดปฏิกิริยาแพ้ที่เกิดจากอาหาร CLA มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยไทรอยด์ ในการช่วยลดการแพ้อาหาร

นอกจากนั้น เนื้อวัวไทยพื้นเมืองยังมีธาตุสังกะสีและธาตุซีลีเนียม (Selenium) สูง ถ้าร่างกายได้รับปริมาณธาตุสังกะสีที่เหมาะสมแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอย่างมาก เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ป้องกันมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีปริมาณธาตุสังกะสีต่ำกว่าคนปกติ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ธาตุสังกะสี สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ ที่สำคัญต้องกระซิบดังๆ คือ ธาตุสังกะสีช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศในผู้ชาย การผลิตสเปิร์มของผู้ชายต้องการธาตุสังกะสีมาก การสร้างฮอร์โมนเพศชายก็ต้องการธาตุสังกะสีเช่นกัน

ซีลีเนียม (Selenium) เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันและชะลอความชรา โดยซีลีเนียมและวิตามินอีจะทำงานเสริมกัน ซึ่งต่างก็ช่วยให้อีกฝ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยซีลีเนียมมีส่วนสำคัญมากต่อการสร้างกลูตาไธโอนเพอรอกซิเดส ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลักของร่างกายที่พบได้ในทุกเซลล์ ประโยชน์ของซีลีเนียม ช่วยคงความยืดหยุ่นอ่อนเยาว์ของเนื้อเยื่อต่างๆ ช่วยป้องกันมะเร็งได้หลายชนิด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองตีบ บรรเทาอาการร้อนวูบวาบและอาการวัยทองอื่นๆ ช่วยเพิ่มจำนวนสเปิร์มและประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ในผู้ชาย  ประโยชน์ของเนื้อวัวไทยพื้นเมือง แค่ 3-4 ข้อ ที่ว่ามา น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านชายทั้งหลายอยากออกไปตลาดซื้อเนื้อวัวไทยมาแกงสักหม้อ…ใช่ไหมครับ ฮา…

เอกสารอ้างอิง

โคพื้นเมือง : โอกาสตลาด บนวิถีความพอเพียง ค้นจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=51309

ทัศนีย์ ตรัยรัตน์อภิวัน และ รัชกฤช เลิศภัทรโกมล. เนื้อโคพื้นเมืองไทย จากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค. เอกสารประกอบการบรรยาย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร.