ไก่เชิงเมืองตราด สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ส่งตลาดต่างประเทศ เดือนละ 50-70 ล้านบาท จีนลูกค้ารายใหญ่

ไก่เชิงเมืองตราด สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

เตรียมเก็บน้ำเชื้อพัฒนาสายพันธุ์เชิงพาณิชย์และอนุรักษ์      

“งานวันระกำหวาน ผลไม้ และของดีเมืองตราด ประจำปี 2562” การจัดกิจกรรมประลอง ไทยไฟท์ไก่ชน บ๊อกซิ่ง (Boxing) เป็นกิจกรรมเสริมของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราดร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด และภาคเครือข่ายเกษตรกรร่วมกันจัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไก่ชนพื้นเมืองของจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดตราด โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมชมและเชียร์กันอย่างคึกคัก

 

ไก่ชนเมืองตราด ผลักดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

คุณวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์จังหวัดตราด เล่าว่า ไก่ชนพื้นเมืองจังหวัดตราดเป็นไก่ชนที่มีชื่อเสียงและสร้างชื่อให้ผู้เลี้ยงมายาวนาน รู้จักกันดีในชื่อ “ไก่เชิงท่าพริก” สายพันธุ์ตราดจะมีลีลาชั้นเชิงดี ตีเจ็บ เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเซียนไก่ ปัจจุบันไก่ชนจังหวัดตราดเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่สร้างรายได้ให้จำนวนมากจึงจัดกิจกรรมประลองไทยไฟท์ไก่ชน Boxing เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองตราดให้เป็นที่นิยมและรู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และเป็นการกระจายรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น

คุณวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์จังหวัดตราด

“การจัดกิจกรรมประลองไทยไฟท์ไก่ชน Boxing จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดตราด เป็นเวทีสนามประลองไก่ชนพื้นเมืองเล็กๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าและอนุรักษ์ไก่ชนสายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตราด ให้ผู้เลี้ยงไก่ชนที่เลี้ยงอยู่ทั่วไปได้ขายไก่ชนได้ราคาดีขึ้น ในวันงานได้มีการจัดแข่งขันประกบคู่ไก่ชนระหว่างอำเภอทุกอำเภอโดยใช้กติกาสากล มีการสวมเดือยนวมมาตรฐาน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เพื่อเป็นการสร้างสีสันและเป็นการจัดครั้งแรกของจังหวัดตราด วันแรกได้จัดคู่พิเศษ ระหว่างไก่ชนของ คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับไก่ชนของ คุณวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด บรรยากาศการเชียร์เป็นไปด้วยความสนุกสนาน เป็นการจุดประกายให้เกษตรกรให้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงไก่ชนเพื่ออนุรักษ์และในเชิงพาณิชย์” คุณวีระสันติ กล่าว

คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

 

ส่งตลาดต่างประเทศ

เดือนละ 50-70 ล้านบาท จีนลูกค้ารายใหญ่

คุณพูลไชย ลักษมีกุล เกษตรกรเลี้ยงไก่ชน บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ประธานชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี วัย 55 ปี เล่าว่า ไก่ชนพื้นเมืองจังหวัดตราดมีไอคิวสูง และไหวพริบดี ชั้นเชิงสูง สมญา “ไก่ดี ตีเจ็บ” มีชื่อเสียงระดับประเทศ และระดับโลกมากว่า 20 ปี ทุกวันนี้ได้พัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจทำรายได้ให้จังหวัดตราดปีละ 50-70 ล้านบาท ไก่ชนเป็นที่นิยมตลาดในประเทศแล้ว ตลาดต่างประเทศให้ความนิยมมาก โดยเฉพาะจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ญี่ปุ่นนิยมบริโภคเนื้อไก่ชนมากเนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ปลอดโรค ราคาขายกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

“คุณวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราดสนับสนุนให้มีการตั้งเป็นชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี โดยมีสมาชิกทุกอำเภอ จำนวนกว่า 10,000 คน จัดให้มีสนามประลอง 1 ตำบล 1 สนาม แต่ละเดือนจัดเวทีประลองหมุนเวียนไปแต่ละอำเภอ เวทีหนึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เดือนละ 20,000-30,000 บาท หากเป็นไก่เชิงดี ตีเจ็บ คัดส่งตลาดจีนได้ราคาตัวละ 15,000-30,000 บาท การสนับสนุนให้มีเวทีประลองเชิงไก่นี้จะให้เกษตรกรตื่นตัวและหันมาอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองพันธุ์ตราดแท้ๆ ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ หากสำนักงานปศุสัตว์พัฒนาสายพันธุ์โดยการคัดพ่อพันธุ์เก่งๆ จากหลายๆ แห่งรีดน้ำเชื้อแช่แข็งไว้ผสมพันธุ์ เพราะไก่เก่งบางตัวค่าตัว 5-6 แสนบาท เมื่ออายุ 6-7 ปีก็ตาย จะช่วยพัฒนาสายพันธุ์ได้เร็วและขยายตัวมากขึ้น เพราะเกษตรกรทั่วไปเลี้ยงได้ ปล่อยหากินในบ้าน ตัวผู้คัดขายเป็นไก่เก่ง เป็นพ่อพันธุ์ เพศเมียขายกินเนื้อทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” คุณพูลไชย กล่าว 

 

คุณพูลไชย ลักษมีกุล ประธานชมรม

เกษตรกรรายย่อยเผยตลาดออนไลน์

สร้างเม็ดเงิน

คุณพรชัย แนวพนา เกษตรกรวัย 43 ปี บ้านเลขที่ 90/6 หมู่ที่ 3 อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ประธานชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี อำเภอเมืองตราด เล่าว่า มีอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้และเลี้ยงไก่ชนพื้นเมือง ประมาณ 300 ตัว โดยนิสัยชอบเลี้ยงไก่มาก เลี้ยงตั้งแต่อายุ 12 ปี รวม 20 ปีเต็ม ไก่ชนที่คัดจะส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ต่อมาเมื่อ 3 ปีเริ่มทำตลาดออนไลน์ ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก เพชรพรชัยตราด เมื่อขายทางออนไลน์มีรายได้เพิ่มขึ้น 80-100% เช่น จากที่เคยขายให้พ่อค้าคนกลางตัวละ 1,000-1,500 บาท จะขายได้ราคาเพิ่มตัวละ 2,000-2,500 บาท ตอนนี้มีเวทีประลองเชิงจะทำให้การตลาดดีขึ้น เพราะปกติจะมีคลิปประลองเชิงสั้นๆ 2-3 คลิป โพสต์ไว้ให้ลูกค้าดูอยู่แล้ว เมื่อลูกค้าสนใจจะแชทมา สั่งซื้อและนัดหมายส่งไก่ให้ลูกค้าจะมีรถบริการขนส่งไก่โดยเฉพาะไปส่งถึงบ้าน  ส่วนใหญ่ไก่เชิงดีๆ อายุ 3-4 ปีจะเก็บไว้ทำพ่อพันธุ์จะไม่ขาย งานไทยไฟท์ไก่ชน บ๊อกซิ่ง นำไก่อายุ 3 ปีมาตีชนะ แต่จะไม่ขายเลี้ยงไว้ทำพ่อพันธุ์

ทางด้าน คุณลุงสมพงษ์ เหล็กเพชร วัย 68 ปี กับหลานชาย คุณภานุพงษ์ ทองดี อายุ 23 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด สมาชิกชมรมกลุ่มเกษตรกรคลองใหญ่ เลี้ยงไก่ชนเป็นอาชีพเสริม มีการพัฒนาสายพันธุ์เอง โดยเก็บไก่เก่ง เชิงดีไว้เป็นพ่อพันธุ์และมีการพัฒนาผสมไขว้สายพันธุ์ได้ประดู่หางขาว เลี้ยงไว้เป็นไก่สวยงาม ปี 2561 ส่งประกวดได้รับรางวัลที่ 1

ส่วนไก่ชน “ประดู่หางดำ” อายุ 4 ปี ชื่อ “เม็ดติ๊ด” ชนเดิมพัน 30,000 บาทชนะ มีคนให้ราคาแต่ไม่ขายเลี้ยงมาเป็นพ่อพันธุ์ถึงทุกวันนี้ เพราะต้องการเลี้ยงไว้ผสมข้ามสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ไก่ชนจะเลี้ยงทั้งเพศผู้ เพศเมีย เพศเมียขายเป็นไก่เนื้อราคากิโลกรัมละ 100 บาท เพศผู้ที่ลักษณะไม่ดีขายกิโลกรัมละ 80 บาท ถ้าลักษณะดีจะขายเป็นไก่ชนจะได้ราคาตัวละ 3,000 บาท ปกติเกษตรกรรายย่อยๆ เลี้ยงไก่ชนขายตลาดต่างจังหวัด ระยอง ชลบุรี ไม่ค่อยได้ราคาสู้บ่อนใหญ่ๆ ไม่ได้ และไม่มีโอกาสส่งตลาดต่างประเทศ แต่ถ้ามีสนามประลองจะช่วยให้ราคาสูงขึ้น 3,000-5,000 บาท ถ้าสวยๆ ถึง 10,000 บาท ทำให้ชาวบ้านที่ทำสวน ชาวประมง และเลี้ยงไก่ด้วยมีรายได้ดีขึ้น ไก่ชนจะเลี้ยงกันง่ายๆ แบบธรรมชาติในบ้าน ในสวนจะแข็งแรง เมื่อประลองใช้ยาพื้นบ้าน สมุนไพรบำรุงไม่สิ้นเปลืองแต่อย่างใด

คุณลุงสมพงษ์ เหล็กเพชร และคุณภานุพงษ์ ทองดี

 

การตลาด นำการผลิต

เก็บน้ำเชื้อพัฒนาเชิงอนุรักษ์และพาณิชย์

คุณวีระสันติ กล่าวว่า ไก่จังหวัดตราดมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการไก่ชนเก่งที่สุดในประเทศ แต่ชาวบ้านที่เลี้ยงไก่ชนกลับขายไม่ได้ราคา จึงคิด “การตลาดนำการผลิต” ส่งเสริมการชนไก่บูมไก่ตราด โดยการตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนทุกอำเภอ และจัดตั้งชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี  ซึ่งแนวทางการพัฒนาใช้ทฤษฎีของรัชกาลที่ 9 บันได 3 ขั้นสร้างความเข้มแข็ง คือ ขั้นที่ 1 ให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเอง ขั้นที่ 2 เกษตรกรช่วยเหลือกันเอง และขั้นที่ 3 เกษตรกรรวมพลังเป็นกลุ่มให้เข้มแข็ง จากนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการจัดสนามประลองเพื่อคัดไก่เก่ง อำเภอละ 1 แห่ง สำนักงานปศุสัตว์ออกใบรับรองให้ และจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ไปทั้งภายในและต่างประเทศ ต่อไปมีตลาดกลางเกษตรกรสามารถทำตลาดเองได้ราคาดีเพราะมีใบรับรอง ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรงและตลาดออนไลน์โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

เม็ดติ๊ด ไก่เชิงตราด ของคุณลุงสมพงษ์

“คำถามต่อไปคือทำอย่างไรให้ไก่ชนพื้นเมืองตราด รักษาพันธุกรรมได้ เพราะอายุไก่พ่อพันธุ์เพียง 3-4 ปี หรืออาจจะมีโรคระบาด จึงคิดเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งในอุณหภูมิ -197 องศาเซลเซียสเพื่อผสมพันธุ์ จะสามารถใช้ต่อๆ ไปได้เป็น 50 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในวงการไก่ชนพื้นเมืองของประเทศไทย และมีการทำประวัติและรับรองไก่ชนสายพันธุ์ตราดเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ เปรียบเสมือนได้สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากนั้นอาจจะไปถึงการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของค่ายไก่ชนหรือผู้เลี้ยงไก่ชนของจังหวัดตราด การทำงานเป็นช็อตๆ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรก้าวเดินไปพร้อมกันจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มทุกอำเภอ มีการวิเคราะห์ประเด็นเดือนต่อเดือน คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนจะประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว” ปศุสัตว์จังหวัดตราดกล่าวทิ้งท้าย

งานนี้เป็นงานท้าทายเป็นงานเสริมที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราดคิดพัฒนา ถ้าทำเร็วจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรได้เร็ว ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น วันนั้นไก่ชนพื้นเมืองจังหวัดตราดจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง