สวทช. – อว. จับมือ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ใช้เทคโนโลยีดูแลผู้สูงอายุ เล็งขยายผล 200 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายแพทย์ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์ระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นการยกระดับการดูแลและการให้บริการผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รองรับสังคมสูงอายุคุณภาพในอนาคต โดยมี ดร. นพัฐกานต์ เกิดแสง ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ และผู้บริหารบ้านทิพย์รดา   เอลเดอรี่แคร์ นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ดร. กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ A-MED สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เวทีกลาง ฮอลล์ 99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (บางนา)

บรรยากาศในสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะพักฟื้นบ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แคร์

ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือ การพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์ระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและการปฏิบัติงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลที่ดี ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนาทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการบริการและดูแลผู้สูงอายุของประเทศให้มีศักยภาพในการรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต

บรรยากาศในสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะพักฟื้นบ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แคร์

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 ซึ่งจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จากนั้นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) ในปี 2574 จะมีประชากรสูงอายุถึง ร้อยละ 28 ทำให้หลายฝ่ายตระหนักและให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและมีแผนงานบูรณาการซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ ผ่านโครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตสังคมสูงวัย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริการที่เหมาะสมและเอื้อต่อการดำรงชีวิต

ดร. กัลยา กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ร่วมมือกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทยของผู้ประกอบการกิจการผู้สูงอายุในประเทศ เพื่อนำระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุไปใช้งาน มุ่งหวังให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาโดยนักนวัตกร และนักวิจัยไทย สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาธุรกิจการให้บริการและดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุ (ผู้ใช้งาน) และ   ผู้สูงอายุ (ผู้รับบริการ) ได้อย่างแท้จริง

สวทช. โดย ทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ได้นำระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ ไปใช้ในระยะนำร่องปี 2562 ที่บ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แคร์ ซึ่งมีความพร้อมในการร่วมพัฒนาและขยายผลการใช้งานระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ ร่วมกับทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ เสริมสร้างการให้บริการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

“จากการที่ได้สำรวจพื้นที่และความต้องการในเบื้องต้น จึงมีแผนพัฒนาระบบ เช่น ระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ ข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุจะได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพในรายบุคคล และจะแจ้งเตือน หรือแนะนำผู้ดูแลให้ดำเนินการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ระบบบริหารการดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan Management) เป็นเครื่องมือในการช่วยการวางแผน ติดตาม ควบคุมคุณภาพ การดูแลผู้สูงอายุ สร้างความมั่นใจในบริการ สำหรับญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ระบบบริหารจัดการด้านโภชนาการของผู้สูงอายุ เพื่อคำนวณอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ที่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และครบถ้วน และ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้ดูแลสถานดูแลสามารถแจ้งไปที่สายด่วน 1669 ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลพิกัดสถานดูแลผู้สูงอายุ พร้อมกับข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพของผู้สูงอายุไปพร้อมกันด้วย ทำให้การตอบสนองให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดและร่วมแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังสามารถขยายผลให้ครอบคลุมไปยังผู้ประกอบการกิจการผู้สูงอายุรายอื่น ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย อีกกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ อันจะเป็นการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมการให้บริการและดูแลผู้สูงอายุไทยได้อย่างครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อคุณภาพของผู้สูงอายุที่ดีขึ้น สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจยุคเศรษฐกิจสูงวัยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายแพทย์ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกประมาณ 300 คน โดยสมาคมฯ ทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการของสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณภาพที่เป็นมาตรฐานในการบริการที่ดี ซึ่งจะส่งต่อการดูแลผู้สูงอายุที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้สูงอายุจำเป็นต้องรับทราบว่าสถานบริการไหนมีมาตรฐาน ทั้งในเรื่องคุณภาพบริการและการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนั้นแล้วสมาคมฯ เตรียมที่จะทำป้ายสัญลักษณ์ให้ทราบว่าสถานบริการดังกล่าวเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งในกรณีที่มีปัญหาสามารถประสานมาที่สมาคมฯ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงานเรื่องต่างๆ ได้ รวมทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จาก สวทช. เพื่อนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสมาคมฯ จะหารือร่วมกับสมาชิกเพื่อมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้าน ดร. นพัฐกานต์ เกิดแสง ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ ในฐานะผู้บริหารบ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แคร์ เปิดเผยว่า งานวิจัยต่างๆ เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะโดยปกติในสถานดูแลผู้สูงอายุมีสหสาขาวิชาชีพมาดูแลผู้สูงอายุร่วมกันอยู่ก็จริง แต่การเช็กเอกสารผู้ป่วยผู้สูงอายุแต่ละท่านระบบเอกสารเยอะและใช้เวลานาน หรือการจะพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ ต้องมีการเขียนบันทึกใบส่งตัวเพื่อจะบอกอาหารให้แพทย์ทราบ หากมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. ในการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและดึงข้อมูลออกมา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ผู้ดูแลและแพทย์ได้ นอกจากนั้นแล้วระบบฉุกเฉินในการดูแลผู้สูงอายุ ที่สวทช. จะเชื่อมกับ 1669 ที่สามารถรู้ตำแหน่งของสถานบริการผู้สูงอายุได้ทันที ก็คิดว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อยู่ประจำในสถานดูแลผู้สูอายุได้อย่างทันท่วงที