ใบหูเสือ ปั่นผสมสับปะรด น้ำผึ้ง ดื่มง่าย กินทีไรก็รู้สึกโล่ง หายใจสะดวก และอาการภูมิแพ้ค่อยๆ ดีขึ้น

ภก.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เขียนไว้ในคอลัมน์ คนงามเพราะแต่ง วารสารอภัยภูเบศร ปีที่ 16 ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับ “ใบหูเสือ” ว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตรงส่วนร้านอาหารในสปามีทำใบหูเสือเป็นอาหาร จำได้ว่าตอนนั้นกินทั้งแบบเมี่ยงเป็นผัก และเป็นเครื่องดื่ม (ปั่นผสมสับปะรด น้ำผึ้ง เล็กน้อย ทำให้ดื่มง่ายขึ้น) กินทีไรก็รู้สึกดี คือรู้สึกโล่ง หายใจสะดวก และอาการภูมิแพ้ก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนหายปกติ ภายใน 1 สัปดาห์ ที่กินเกือบทุกวัน วันละมื้อเดียว คือมื้อกลางวัน ดิฉันสนใจสมุนไพรต้นนี้ จึงอยากหาข้อมูลเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ เพราะต้นหูเสือ ปลูกง่าย หน้าตาน่ารัก ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากพืชชนิดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกะเพราและออริกาโน

ทางแผนไทยจัดว่า ใบหูเสือ มีรสเผ็ดร้อน นิยมใช้ใบเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร เพิ่มน้ำนม น้ำมันหอมระเหยในใบ หากนำมาขยี้ดมจะช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูกได้ หากนำมาทาภายนอกที่ท้องหรือกินจะช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อย ขับลม การเคี้ยวใบช่วยดับกลิ่นปาก ป้องกันฟันผุ ต้มน้ำดื่มแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ใบหูเสือ ยังออกฤทธิ์โดดเด่นที่ระบบทางเดินหายใจ ใช้เป็นยาแก้หวัด บรรเทาอาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอลซิลอักเสบ แก้หอบหืด ทำให้หายใจโล่ง ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ อาจจะใส่น้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย หรือจะนำไปทำเป็นเมนูอาหาร เช่น ต้มเป็นแกงจืด โดยสับใบหูเสือกับหมูสับเมี่ยงหูเสือ รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ แกล้มอาหาร

งานวิจัยปัจจุบันพบว่า ใบหูเสือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการอักเสบ ต้านมะเร็งปอดในหลอดทดลองด้านเนื้องอก ด้านการแพ้ ว่าแล้วก็หาไปปลูกกันสักต้นดีไหม ไว้เป็นยาและอาหารในครัวเรือน