ฟักทอง ผักมากคุณค่า ราคาพื้นบ้าน

เมื่อไม่นานมานี้ พบเห็นข่าวพืชยักษ์ เป็นพืชจำพวกพืชผัก ที่บ้านเรานิยมรับประทาน ทั้งนำมาทำขนมหวาน อาหารคาว และเป็นยาป้องกันรักษาอาการเจ็บป่วย ผิดปกติ ได้มากมายหลายอย่าง ที่สำคัญเป็นของที่คนไทยทั่วทุกภูมิภาครู้จัก และรักที่จะนำมาเป็นประโยชน์ มีขนาดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ลูกเล็กๆ จนถึงผลยักษ์ ประมาณว่า ใช้คนตัวโต 2 คนอุ้ม หรือใส่คานหามกันเลยก็มี ผิวเรียบเกลี้ยงเกลาก็มี ผิวผลหยาบขรุขระ เป็นตะปุ่มปมน่าเกลียด ชนิดที่เคยเรียกขานเปรียบเปรยว่า นอกขรุขระในตะติงโหน่งก็มี เราๆ ท่านๆ คงรู้จัก “ฟักทอง” กันเป็นส่วนมากแล้ว

“ฟักทอง” เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในประเภทพืชผัก นิยมนำมาประกอบอาหาร

ฟักทอง ชื่อสามัญว่า PUMPKIN

พืชในวงศ์เดียวกับมะระ แตง CUCURBITACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucurbita moschata Duchesne

มีปลูกกันอยู่ 2 ตระกูล คือ ฟักทองตระกูลสคว็อซ (Squash) คือ ฟักทองไทย และฟักทองญี่ปุ่น ปลูกกันมาก เพื่อส่งตลาดผักในและต่างประเทศ ขนาดผลพอเหมาะ เนื้อแน่น เหมาะนำมาทำอาหารที่ต้องการเป็นชิ้น เป็นคำของผัก สะดวกในการขนส่งและการตลาด อีกตระกูลคือ ฟักทองอเมริกัน (Pumpkin) เป็นฟักทองที่มีผลขนาดใหญ่ เนื้อยุ่ย เหมาะสำหรับนำมาทำขนม และปั่นเป็นอาหารเหลว แต่ฟักทองทั้ง 2 ตระกูล ดูเหมือนว่าจะมีการผสมปนพันธุ์กัน เป็นพันธุ์ที่แพร่หลายกันในชนบทขณะนี้

สายพันธุ์ที่มีการปลูกแพร่หลาย เป็นพันธุ์ลูกผสม มีการแสดงความเป็นเจ้าของ ตั้งชื่อเป็นกลุ่มพันธุ์ สายพันธุ์ฟักทอง ตามลักษณะผลฟักทอง เช่น สายพันธุ์คางคก ที่มีผิวขรุขระ ได้แก่ คางคกดำ คางคกลาย หรือตั้งชื่อให้เป็นมงคล เช่น พันธุ์ศรีเมือง พันธุ์ข้องปลา เป็นต้น ฟักทองส่วนใหญ่จะมีสีผิวเปลือกเมื่ออ่อนสีเขียว แก่จะสีเหลืองสลับเขียว ผิวขรุขระเล็กน้อย หรือมากก็มี เปลือกนอกแข็ง เนื้อในสีเหลือง มีเมล็ดมากพอสมควร ลักษณะเป็นเมล็ดแบนๆ สีขาว ติดเป็นตลับ หรือเป็นก้อนอยู่ช่องโพรงกลางในผล เรียกว่าไส้ฟักทอง เมล็ดนำมาคั่ว หรืออบเกลือ เป็นของขบเคี้ยว คล้ายเมล็ดแตงโม หรือเมล็ดทานตะวัน และเก็บคัดแยกเมล็ดที่สมบูรณ์ไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อไป

การปลูกฟักทอง ขุดหลุม หยอดเมล็ดตามที่ว่างทั่วไป หรือปลูกแซมในแปลงพืชไร่อื่นๆ ได้ เท่าที่สังเกตเห็น ฟักทองที่ขึ้นได้ดีในบริเวณที่เป็นเนินดิน มีความชื้นพอประมาณ หรือจะปลูกเป็นแปลงใหญ่ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น หรือหลุม 1.5 เมตร หรือห่าง 2.5 ถึง 5 เมตร ระหว่างแถว 1.8 ถึง 2 เมตร ขุดหลุมกว้าง หรือวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปรับพรวนดินใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หยอดเมล็ดฟักทองหลุมละ 3-5 เมล็ด กลบดินให้เมล็ดจม ลึก 2-4 เซนติเมตร กลบด้วยขี้เถ้าแกลบดำ หรือเศษหญ้าแห้ง เพื่อให้มีความชื้นพอที่จะทำให้เกิดการงอกงามเจริญเติบโต และที่ให้ทำหลุมปลูกห่างกัน ก็เพื่อให้ต้นฟักทองซึ่งเป็นพืชประเภทเถาเลื้อย จะยืดปล้องให้เถายาวๆ ซึ่งจะหมายถึง มีมากข้อปล้อง ก็จะให้ผลมาก แต่ว่าบนเถาหรือต้นหนึ่งควรไว้ผลเพื่อจะเอาผลโตและแก่เต็มที่ ไม่เกิน 4 ผล นอกนั้นสามารถตัด ผลอ่อน ดอกที่มีรังไข่คล้ายผลติดอยู่ นำไปใช้เป็นผัก ต้มผัดแกงทอดอร่อยมาก เช่นเดียวกับยอดปลายเถาฟักทอง มักจะตัดเอาไปเป็นผักทำอาหารได้หลายอย่าง หั่นฝอยผัดไข่ ใส่แกงเลียง แกงหน่อไม้ แกงเห็ด ต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก ผลอ่อนฟักทองเป็นผักการค้า ตลาดผักสดต้องการมาก แต่แหล่งปลูกฟักทองเพื่อการค้า มักจะปลูกเลี้ยงจนฟักทองโต ดอกผลอ่อนที่เป็นส่วนเกินจะเด็ดทิ้ง อาจจะเป็นเพราะว่ากรรมวิธีการปลูก การดูแลรักษา ความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ระหว่างการปลูกไว้กิน กับปลูกเพื่อการค้า มีกรรมวิธีต่างกัน ความเสี่ยงจากพิษภัยของสารเคมี ทำให้ต้องทิ้งในส่วนที่เป็นของชาวบ้านกินกันบ้าง คิดและทำถูกต้องแล้ว

อายุ 70-80 วัน หรือประมาณ 3 เดือน ต้นฟักทองหรือเถาฟักทองที่เลื้อยยาว จะแตกแขนง ขั้วที่ 5-6 จะออกดอกให้ผล ดอกตัวเมียจะมีรังไข่ติดอยู่ส่วนโคนเห็นได้ชัด ลักษณะเหมือนผลอ่อน และนั่นก็คือ ผลฟักทอง เมื่อได้รับการผสมเกสรแล้ว จะโตขึ้นเป็นผลอ่อน ผลแก่ ตามลำดับ ดอกฟักทองจะบานช่วงเช้ามืด ประมาณ 03.30 น. ถึง 06.00 น. ถ้าจะช่วยผสมเกสรช่วงเวลาที่เหมาะ ตอนที่ดอกฟักทองบานเต็มที่ 06.00-09.00 น.ช่วงเวลาออกล่าหาเกสรและน้ำหวานของแมลง แต่จะอาศัยแมลงพวกแมลงภู่ผึ้งคงไม่เพียงพอ ต้องช่วยผสมเกสรให้ด้วย ฟักทองจะได้ให้ลูกให้ผลเป็นรุ่นๆ เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน แต่ถ้าจะทยอยเก็บ ปล่อยตามธรรมชาติก็พอที่จะทำได้ สภาพภูมิศาสตร์และบรรยากาศแบบบ้านเรานั้นเหมาะกับการเจริญพันธุ์ได้มากอยู่แล้ว

ฟักทอง มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ให้พลังงานมากถึง 26 กิโลแคลอรี โดยเฉพาะวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามินเอ มีมากถึง 476 ไมโครกรัม หรือ 0.476 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 0.6 มิลลิกรัม วิตามินบีห้า 0.298 มิลลิกรัม วิตามินบีหก 0.061 มิลลิกรัม วิตามินบีเก้า 16 มิลลิกรัม วิตามินซี 9 มิลลิกรัม วิตามินอี 0.44 มิลลิกรัม แคลเซียม 21 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม แมงกานีส 0.125 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 44 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 340 มิลลิกรัม โซเดียม 1.0 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม น้ำตาล 2.76 กรัม เส้นใยหรือไฟเบอร์ 0.5 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม โปรตีน 1.0 กรัม และยังประกอบด้วยเบตาแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทีน สารทั้ง 3 ชนิดหลังมีพบมากในฟักทอง เป็นสารที่สำคัญในการรักษา บำรุง ปรับปรุง ฟื้นฟูร่างกาย ได้อย่างยอดเยี่ยม

มีคุณสมบัติเป็นยา ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ฟื้นบำรุงผิว บำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงประสาท อารมณ์ดี ลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โรคผิวหนัง กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน บำรุงกล้ามเนื้อ รากต้มกินแก้ไอ ช่วยระบบย่อยอาหาร การขับถ่าย ป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นิ่ว ลูกหมากโต ปรับฮอร์โมนเพศชายในลูกอัณฑะ บำรุงตับ และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ก็พึงระวังและระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็มีโทษอย่างมหันต์ได้เช่นกัน ฟักทอง ถ้ากินมากๆ เป็นพืชมีฤทธิ์ร้อน ก่อให้เกิดโรคกระเพาะร้อน กรดไหลย้อน กระหายน้ำ ท้องผูก แผลช่องปาก เหงือกบวม ควรกินแต่พอดี เกิดประโยชน์มากมาย ฟักทองแก่ ต้ม บด จัดเป็นอาหารเหลวให้ผู้ป่วยทางสายยาง ทดแทนอาหารหนักได้ เพราะในตัวฟักทองมีคุณค่าทางอาหารมากมาย และสูงค่ามาก ควรค่าแก่การนำมาบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วกัน