สศก. แจงข้อมูลเอกภาพพืชเศรษฐกิจสำคัญ ข้าวนาปี-หอมแดง-ยาง-สับปะรด ภาคอีสาน

 นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ได้ให้การรับรองข้อมูลพืชเศรษฐกิจที่สำคัญใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ) ประกอบด้วย

ข้าวนาปี (ปีเพาะปลูก 2561/62) มีเนื้อที่เพาะปลูก 20 จังหวัด รวม 36,892,659 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 32,883,508 ไร่ ผลผลิตรวม 11,731,482 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 357 กิโลกรัม/ไร่ (ณ ความชื้น 15%) เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูก 2560/61 พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1 ส่วนเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลงประมาณ ร้อยละ 2 ส่งผลให้ผลผลิตรวมลดลง ร้อยละ 4 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องมาจากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 จึงทำให้มีการนำที่นารกร้าง และที่ว่างเปล่า กลับมาทำนาอีกครั้ง ในขณะที่สถานการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงต้นฤดูกาล มีน้ำไม่เพียงพอ และเกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ช่วงเดือนกันยายน 2561 จึงทำให้ผลผลิตลดลง

หอมแดง (ปีเพาะปลูก 2561/62) มีเนื้อที่เพาะปลูก 6 จังหวัด (ยโสธร อุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ) รวม 26,304 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 24,731 ไร่ ผลผลิตรวม 46,513 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,768 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูก 2560/61 พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกลดลง ร้อยละ 3 เนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง ร้อยละ 8 ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง ร้อยละ 46 และผลผลิตรวมลดลง ร้อยละ 48 โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลงเนื่องมาจากเกษตรกรหันไปขายเป็นต้นหอม ประกอบกับมีการเกิดโรคและเชื้อรารบกวนโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญส่งผลให้เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิตต่อไร่ และ    ผลผลิตรวมลดลง

ยางพารา ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 20 จังหวัด รวม 5,570,276 ไร่ เนื้อที่กรีด 4,641,348 ไร่ ผลผลิตรวม 1,030,364 ตัน ผล ผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่กรีด 222 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับ ปี 2560 พบว่า เนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เนื้อที่กรีดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น  ร้อยละ 10 และผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่กรีดต่อไร่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 โดยเนื้อที่กรีดเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีต้นยางพาราที่ปลูกในปี 2554 สามารถเปิดกรีดได้แล้ว ประกอบกับปี 2561 ฝนไม่ตกชุกจึงไม่เป็นอุปสรรคในการกรีดยางพาราของเกษตรกร และส่วนใหญ่ต้นยางพาราอยู่ในช่วงอายุที่ให้อัตราน้ำยางเพิ่มขึ้น ผลผลิตต่อไร่และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น

สับปะรดโรงงาน ปี 2561 มีเนื้อที่เพาะปลูก 6 จังหวัด (เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ) รวม 46,001 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 44,886 ไร่ ผลผลิตรวม 198,054 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 4,412 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16 เนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11 ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวต่อไร่ลดลง ร้อยละ 3 โดยเนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปี 2559 – กลางปี 2560 ราคาสับปะรดค่อนข้างดี เกษตรกรจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปี 2561 เกิดปัญหาสับปะรดราคาตก เกษตรกรจึงไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลบำรุงรักษา

นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้เห็นชอบข้อมูลพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ กระเทียม ปี 2561/62 ปาล์มน้ำมัน ปี 2561 และมันฝรั่ง ปี 2562 ซึ่งหลังจากนี้ คณะทำงานจะนำเสนอข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรด้านพืชเพื่อพิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นข้อมูลเอกภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ ต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 292-557 หรือ อี-เมล [email protected]